ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“พญ.ประสบศรี”แนะบอร์ด สปสช.เอาใจเขามาใส่ใจเรา ลดตัวตนและพยายามเข้าใจฝ่ายอื่นมากขึ้น ชี้ไม่ใช่แค่ในบอร์ด สปสช. แต่เป็นทั้งระบบสุขภาพ หวั่นไม่ปรับตัวอาจสายเกินการณ์

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้ความเห็นถึงแนวทางการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพว่า จุดแข็งของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข คือการมีผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนนั่งอยู่ในคณะกรรมการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีเนื่องจากทำให้การมองประเด็นต่างๆ ชัดเจน อย่างไรก็ตามก็มีข้อเสียคือทุกคนที่เข้ามานั่งในคณะกรรมการต่างมีศักยภาพและมีมุมมองในเรื่องต่างๆ จากประสบการณ์ของตัวเอง

รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวต่อไปว่า ในความเห็นของตน อยากเห็นทุกคนเข้าไปแล้วร่วมกัน Contribute ให้ระบบหลักประกันสุขภาพก้าวไปข้างหน้าได้ ดังนั้นการเอาใจเขามาใส่ใจเราจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าไม่เอาใจเขามาใส่ใจเรา จะทำให้การตัดสินใจต่างๆ ผิดพลาดได้ เพราะแต่ละคนก็จะมองแต่ใจเรา มองว่าเราต้องการอะไร กลายเป็น Defensive ปกป้องตัวเองว่าตัวเองต้องไม่เสียประโยชน์แทน

“การมานั่งพูดว่ากรรมการต้องมีฝ่ายโน้นฝ่ายนี้เท่าไหร่เพื่อต้องการจะไปโหวตให้ชนะเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังมาก นั่งเป็น Concept ที่ผิดแน่ๆ เพราะมันขาด Concept การเอาใจเขามาใส่ใจเรา จริงๆ แล้วมันควรมองว่าคณะกรรมการมีองค์ประกอบครบถ้วนแล้วและควรมองไปข้างหน้าด้วยกัน” รศ.พญ.ประสบศรี กล่าว

รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวอีกว่า การเอาใจเขามาใส่ใจเรา คือการมองเรื่องใดๆ แล้วลดตัวตนลงว่าเราเป็นใคร ในเวลาเดียวกันก็ต้องมองคนอื่นว่าเขามาในสถานะอะไร แล้วพยายามเข้าใจความคิดคนอื่นๆ ซึ่งถ้าทุกคนมองว่ามีจุดยืนร่วมกัน และคิดว่าจะร่วมมือกันอย่างไร งานก็จะไปได้เร็วขึ้น

รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวด้วยว่า การขาดการเอาใจเขามาใส่ใจเราไม่ได้เป็นแค่กับกรรมการหลักประกันสุขภาพซึ่งมีที่มาจากฝ่ายต่างๆ แต่ยังขยายออกไปถึงระบบสาธารณสุข โดยระบบสาธารณสุขในปัจจุบันของไทยมีฝ่ายที่เกี่ยวข้องหลักๆ คือตัวผู้ให้บริการ คนไข้/ญาติคนไข้ และภาคประชาชน ทุกวันนี้ 3 ส่วนนี้ยังคิดไม่ตรงกัน คนหนึ่งบอกว่างานหนักทำไม่ไหว คนหนึ่งบอกว่าบุคลากรไม่พอ ต้องเพิ่มอีก หรืออีกคนบอกว่าทำไมไม่จัดระบบบริการให้ดีมากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นว่าทุกคนฉีกเค้กก้อนนี้ออกเป็นเสี่ยงๆ แล้วบอกว่าตัวเองมีความสำคัญ ต้องเอามาให้ฉัน สุดท้ายคนที่เป็น Policy Maker ก็ไม่กล้าทุบโต๊ะ ทำให้ทุกฝ่าย Suffer กันหมดทั้งภาคประชาชน คนไข้ ผู้ให้บริการ แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์อื่นๆ

รศ.พญ.ประสบศรี ยกตัวอย่างในระดับประชาชน การมีระบบ 30 บาท ทำให้โรงพยาบาลต่างๆ มีคนไข้หนาแน่นขึ้น ขณะที่บุคลากรมีเท่าเดิม ความเหนื่อยล้าก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ และใจของผู้ให้บริบาลก็อ่อนลงไปเรื่อยๆ

“ในอดีตมันทำด้วยอุดมการณ์ มีการให้อภัยกันเร็วมากและเข้าใจว่าผู้ให้บริการก็ทำเต็มที่แล้ว แต่ปัจจุบันเรื่องเหล่านี้หายไป อุดมการณ์ถูกกระทบด้วยปัญหาต่างๆ ประชาชนก็รู้สึกว่าโรงพยาบาลหรือแพทย์ไม่สามารถทำให้ตัวเองหายได้ ความเชื่อถือก็เริ่มหาย ความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ก็เริ่มหาย ที่ว่าเอาใจเขามาใส่ใจเรา คืออยากให้คนไข้เอาใจหมอ พยาบาลมาเป็นใจเรา ขณะเดียวกันหมอก็ต้องเอาใจคนไข้มาดูด้วยว่าคนไข้อยากเห็นอะไร อยากให้ทั้ง 2 ฝ่ายเข้าใจกันและทำตัวให้เหมาะสม” รศ.พญ.ประสบศรี กล่าว

หรือยกตัวอย่างขึ้นมาในระดับของ Policy Maker ซึ่งมีอยู่หลายระดับ ตัวสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็เป็น Policy Maker ระดับหนึ่ง ก็ต้องมองว่าเมื่อคนไข้มีมากขึ้นเรื่อยๆ จะทำอย่างไรให้ประชาชนได้รับการดูแลเมื่อมีความจำเป็นขึ้นมา ขณะเดียวกัน ในส่วนของบุคลากรทางการแพทย์ก็มีจำนวนจำกัด ทุกวันนี้ทำงานเกินเวลาไปหลายเท่าตัว จะออกแบบระบบอย่างไรให้เวลาการทำงานลดลงจนถึงจุดที่บุคลากรทางการแพทย์ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ในบางประเทศ คนไม่คอยไปรับบริการในช่วงกลางดึกถ้าไม่ฉุกเฉินจริงๆ เพราะต้องเรียกรถ Ambulance และต้องจ่ายค่ารถเองหากไม่ได้ป่วยฉุกเฉินจริง บางประเทศมีคนคอยคัดกรองก่อนว่าเจ็บป่วยฉุกเฉินจริงถึงจะให้พบแพทย์ ต่างจากไทยที่สามารถไปรับบริการได้ทุกเวลา บางครั้งปวดท้องกลางดึกก็ไปโรงพยาบาลแล้วนั่งคอยเป็นชั่วโมงเพราะแพทย์มีจำกัดและต้องไปรักษากรณีเจ็บป่วยอื่นๆ ที่ร้ายแรงก่อน เป็นต้น

“ดูแล้วเรายังทะเลาะกันอยู่ทุกจุด ทุกคนยังอยู่ในที่มั่นของตัวเองโดยไม่มองภาพใหญ่ ตรงนี้คิดว่าทุกฝ่ายต้องปรับตัวใหม่ เพราะวันใดที่สายใยของทั้ง 3 ฝ่ายในระบบสุขภาพขาดออกจากกัน วันนั้นก็อาจจะสายเกินไปที่จะกลับมา” รศ.พญ.ประสบศรี กล่าว