ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมการแพทย์ เผยโรคไอกรนเป็นสาเหตุทำให้มีอาการไออย่างรุนแรง และอาจเรื้อรังนาน 2 - 3 เดือน พบได้ในทุกเพศทุกวัย พบได้บ่อยในเด็กอายุ 2 - 6 ปี แต่ถ้าเกิดขึ้นกับเด็กทารกและเด็กเล็กจะทำให้มีความรุนแรงมากจนอาจเสียชีวิตได้ หากมีภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคไอกรนเป็นโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและพบมากในเด็ก โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะพบผู้ป่วยมากขึ้น สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สามารถติดต่อกันได้ง่ายจากการไอ จาม และสัมผัสเชื้อโดยตรงจากผู้ที่ป่วย สำหรับผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันหากได้รับเชื้อมีโอกาสเกิดโรคสูงถึงร้อยละ 90

ซึ่งจากการศึกษาของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี พบว่า ในผู้ป่วยเด็กที่มีอาการไอติดต่อกันอย่างน้อย 7 วันแต่ ไม่ได้เป็นวัณโรคและโรคหืด ตรวจพบเชื้อไอกรนถึงร้อยละ 19 ซึ่งระยะฟักตัวของโรคไอกรนจะใช้เวลาประมาณ 6 - 20 วัน หากสัมผัสเชื้อเกิน 3 สัปดาห์แล้วไม่มีอาการก็แสดงว่าไม่ติดโรค โดยอาการของโรคไอกรนมี 3 ระยะ คือ

ระยะแรก ผู้ป่วยจะมีอาการน้ำมูกไหล ไอเล็กน้อย ลักษณะอาการคล้ายกับเป็นหวัดธรรมดา อาจมีไข้ต่ำๆ ร่วมด้วย และเป็นอยู่ประมาณ 1 - 2 สัปดาห์

ระยะที่สอง จะเริ่มมีอาการไอถี่ๆ รุนแรงติดต่อกันตั้งแต่ 5 ครั้งขึ้นไป หลังจากนั้นผู้ป่วยจะหายใจเข้าอย่างแรงจนเกิดเสียงวู๊ป ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า โรคไอกรน หากเกิดกับเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน อาจทำให้มีอาการหยุดหายใจ หน้าเขียว และอาเจียนร่วมด้วย ระยะนี้จะมีอาการนานประมาณ 2 - 4 สัปดาห์ หรืออาจนานกว่านั้นก็ได้

และระยะฟื้นตัว อาการไอจะค่อยๆ ลดลง หากไม่มีโรคแทรกซ้อนจะหายไปในเวลา 6 - 10 สัปดาห์

สำหรับภาวะแทรกซ้อนของโรคไอกรนอาจมีความรุนแรงจนจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิต ได้แก่ โรคแทรกซ้อนทางระบบหายใจที่พบบ่อย คือ ปอดอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในเด็กเล็ก นอกจากนี้ ยังมีภาวะแทรกซ้อนทางสมอง ผู้ป่วยอาจมีอาการชัก เกร็ง หรือซึมลงด้วย

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเสริมว่า การป้องกันโรคไอกรนที่ดีที่สุดสามารถทำได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ซึ่งวัคซีนไอกรนเป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กทุกคนต้องได้รับ ปัจจุบันจึงได้มีการแนะนำให้วัคซีนป้องกันไอกรนในเด็กวัยรุ่น ผู้ใหญ่ที่อยู่ร่วมกันกับเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ เพื่อลดโรคไอกรนในเด็กทารกที่มีภาวะแทรกซ้อนและอัตราการตายสูง การรักษาผู้ป่วยโรคไอกรนในระยะแรกสามารถใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อลดความรุนแรงของโรค และถ้าให้ยาปฏิชีวนะหลังจากที่ผู้ป่วยมีอาการไอแล้วอาจไม่ค่อยมีผลดีต่อการดำเนินโรคแต่จะช่วยลดการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นได้ ดังนั้น ผู้ป่วยโรคไอกรนควรพักผ่อนมากๆ ดื่มน้ำอุ่น อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี หลีกเลี่ยงสาเหตุที่กระตุ้นทำให้มีอาการไอมากขึ้น เช่น  ฝุ่นละออง ควัน อากาศร้อนหรือเย็นเกินไป จะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคไอกรนได้