ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ จ่อยื่น 1.5 หมื่นรายชื่อ เรียกร้องประธาน สนช.แก้กฎหมายปฏิรูป ‘แพทยสภา’ ปรับโครงสร้าง-สัดส่วนกรรมการ-กรรมการดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 29 ก.ย.2559 เวลา 12.00 น. ตัวแทนเครือข่ายผู้เสียหายฯ จะเดินทางไปยังรัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือถึง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พร้อมรายชื่อประชาชนกว่า 1.5 หมื่นรายชื่อที่ร่วมสนับสนุนในแคมเปญของ www.change.org เรียกร้องให้ปฏิรูปแพทยสภาผ่านการแก้ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525

สำหรับข้อเรียกร้องประกอบด้วย 1.ให้มีคนนอกเข้าไปเป็นกรรมการแพทยสภาในสัดส่วน 50% 2.ลดจำนวนคณะกรรมการลงเพื่อความคล่องตัว 3.กำหนดให้กรรมการดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ 4. กำหนดให้ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงเช่น นายกแพทยสภา, เลขาธิการแพทยสภา, อุปนายกแพทยสภา ฯลฯ ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับธุรกิจสถายพยาบาลเอกชน

นางปรียนันท์ กล่าวว่า ได้เริ่มแคมเปญรณรงค์ตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ผ่านไปประมาณ 26 วัน ได้รายชื่อประชาชนกว่า 1.5 หมื่นรายชื่อ โดยการรณรงค์ในครั้งนี้เป็นการเคลื่อนไหวต่อเนื่องจากการรณรงค์ครั้งที่แล้วที่ต้องการให้คนสนับสนุนเรื่องการตั้งคณะกรรมการควบคุมราคายาโรงพยาบาลเอกชน และมีผู้สนับสนุนกว่า 3 หมื่นรายชื่อ

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ผลักดันไม่สำเร็จเนื่องจากกรรมการแพทยสภาเองกลับเป็นเจ้าของโรงพยาบาลเอกชน จึงปกป้องผลประโยชน์ให้โรงพยาบาลเอกชนทั้งสิ้น ที่สำคัญคือคนที่ถูกส่งเข้าไปเป็นกรรมาธิการ (กมธ.) ชุดสำคัญๆ ในรัฐสภา เช่น กมธ.สาธารณสุข ก็ล้วนแต่เป็นคนของแพทยสภา ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าในทุกๆ การประชุม ทิศทางต่างๆ จะไม่หันเข้ามาทางประชาชนเลย

“ย้อนกลับไปถึงการตั้งแคมเปญรณรงค์ครั้งแรก คือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข เรื่อยมาจนถึงการรณรงค์ควบคุมราคายาในโรงพยาบาลเอกชน สาเหตุที่ล้มเหลวเป็นเพราะผลประโยชน์ทับซ้อนของกรรมการแพทยสภาที่มาจากโรงพยาบาลเอกชนแทบทั้งนั้น” นางปรียนันท์ กล่าว

นางปรียนันท์ กล่าวอีกว่า ทั้งหมดจึงนำมาสู่การรณรงค์ครั้งที่ 3 คือการปฏิรูปแพทยสภา ส่วนตัวเชื่อว่าหากแพทยสภาปรับเปลี่ยนโครงสร้างและสัดส่วนกรรมการให้เป็นธรรมก็จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น ไม่เช่นนั้นหากปล่อยให้มีผู้มีอิทธิพลอยู่ในแพทยสภาต่อไป เขาเหล่านั้นก็จะคอยขัดขวางผลประโยชน์ของประชาชน

“หลังจากเข้ายื่นหนังสือในวันที่ 29 ก.ย.นี้แล้ว ก็ต้องรอให้เป็นขั้นตอนการดำเนินการของ สนช.ต่อไป แต่ก็คงต้องตามความคืบหน้าเรื่อยๆ เช่นกัน” นางปรียนันท์ กล่าว

อนึ่ง แพทยสภาคือสภาวิชาชีพที่ก่อตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบว่าการประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้มาตรฐานหรือไม่ มีกรรมการทั้งหมด 56 คน แบ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง 28 คน และกรรมการจากการเลือกตั้งอีก 28 คน ซึ่งทั้ง 56 คนเป็นแพทย์ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ ใน พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ไม่ได้กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการแพทยสภา เป็นเหตุให้มีกรรมการบางรายอยู่ในตำแหน่ง 10-20 ปี และนำมาซึ่งข้อเคลือบแคลงเรื่องการสร้างอิทธิพล แสวงหาอำนาจและผลประโยชน์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ล่ารายชื่อปฏิรูป ‘แพทยสภา’ ดันแก้ กม. ‘เพิ่มคนนอก-กก.เป็นได้ไม่เกิน 2 วาระ’

อดีตอธิการ มข.หนุนปฏิรูปแพทยสภาเป็นที่พึ่งประชาชน ไม่ใช่แค่สหภาพแรงงานหมอ

แพทยสภาไม่จำกัดวาระ กก. เพื่อทำงานต่อเนื่อง ทั้งไม่มีอำนาจล้นแบบ ปธน.

‘หมอธีระ’ ค้านข้อเสนอคนนอกนั่งกรรมการแพทยสภา ชี้เป็นข้อเสนอสุดโต่ง

หมอล่ารายชื่อ ค้านข้อเสนอแก้กฎหมาย เพิ่มคนนอกเป็น กก.แพทยสภา

แนะควรจำกัดวาระดำรงตำแหน่ง กก.แพทยสภา แก้ปัญหาผูกขาด

ยืนยันแพทยสภาเกือบทั่วทั้งโลกไม่มีคนนอกเป็นกรรมการ