ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พญ.ประสบศรี แนะ สปสช.ทบทวนระบบจ่ายเงินรายหัว เน้นยิงให้ตรงจุด หนุนเสริม Service Plan ของ สธ.คงไว้ซึ่งคุณภาพบริการแบบที่เราทำในปัจจุบันให้ได้

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แสดงความคิดเห็นถึงแนวทางการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ โดยระบุว่า ระบบหลักประกันฯ รวมไปถึงระบบประกันสังคม กำลังถูก Bombard ด้วยจำนวนคนไข้ที่มากขึ้น ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์มีจำนวนเท่าเดิม เนื่องจากถูกสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จำกัดจำนวนไว้ ขณะที่งบเหมาจ่ายรายหัวก็เพิ่มขึ้นไม่ทันกับการขึ้นเงินเดือนของบุคลากรสาธารณสุข ดังนั้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จำเป็นต้องปรับระบบการจ่ายเงินให้ตรงจุดมากขึ้น

“ไปนั่งมองดูงบประมาณ ดูแล้วยังไงๆ ก็ไม่มีทาง แล้วคุณภาพการบริการของไทยในวันนี้ก้าวมาไกลมาก ถามว่าจะยอมกลับไปเป็นเหมือนประเทศที่อยู่รอบๆ เราไหม เราคงไม่อยากกลับไปอยู่ในจุดนั้น เมื่อเป็นแบบนี้ก็ต้องใช้เงินมากขึ้น แล้วเงินจะมาจากไหน มันถึงเวลาต้องทบทวนแล้ว อย่างน้อยก็ต้องคิดรูปแบบไว้ก่อนเผื่อไว้ว่าในอนาคตเมื่อวันนั้นมาถึง เราจะยังสามารถคงไว้ซึ่งคุณภาพบริการแบบที่เราทำในปัจจุบันได้” รศ.พญ.ประสบศรี กล่าว

รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวอีกว่า concept ของ สปสช.คือต้องทำให้ประชาชนไม่ล้มละลายจากการรักษาพยาบาล ซึ่งก็ต้องเอาเงินไปใส่ให้ถูกจุด เรื่องการส่งเสริมป้องกันสุขภาพ เป็นเรื่องของตัวบุคคล ครอบครัว และชุมชน แต่เมื่อไหร่ที่เป็นโรค รัฐต้องเข้าไปคุ้มครองตามระดับความรุนแรง เจ็บป่วยน้อยคุ้มครองน้อย เจ็บป่วยหนักคุ้มครองมาก แต่ต้องคุ้มครองทุกคน ไม่ใช่คุ้มครองแค่คนจน ในส่วนของคนจนที่ลงทะเบียนกับรัฐบาลไว้อาจคุ้มครองตลอดทางตั้งแต่เจ็บป่วยน้อยไปจนถึงเจ็บป่วยหนัก แต่ในกลุ่มคนที่มีรายได้อีกระดับขึ้นมา อาจให้ช่วยจ่ายในช่วงที่เจ็บน้อย แต่เมื่อใดที่เจ็บรุนแรงเรื้อรัง ทุกคนต้องเข้าถึงระบบทั้งหมด ซึ่งเพียงแค่ทำจุดนี้ เงินก็แทบไม่พอแล้ว

“การเจ็บป่วยแบ่งเป็นรุนแรงกับไม่รุนแรง เราต้องคุ้มครองตรงที่รุนแรงให้หมดเท่านั้นเอง คือถ้าเรามีเงินเยอะเราสามารถ cover ให้ได้หมด แต่ถ้ามีเงินน้อย ก็ต้อง specific ความช่วยเหลือว่าจะช่วยระดับใดบ้าง” รศ.พญ.ประสบศรี กล่าว

นอกจากนี้ สปสช.ก็ต้องเป็นหน่วยงานสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในการผลักดันแผนการจัดระบบสุขภาพ (Service Plan) โดยใช้เงินในการจัดระเบียบให้ทุกคนเข้าไปอยู่ในกรอบกติกาที่ถูกต้อง เช่น ให้คนไข้ไปที่โรงพยาบาล ก. แต่คนไข้ไปโรงพยาบาล ข. แบบนี้ควรต้องจ่ายเอง ไม่ใช่ สปสช.ไปตามจ่ายให้ ซึ่งก็จะสอดคล้องกับService Plan ของ สธ.

“ถ้า Service Plan ไม่พร้อมมันก็ทำไม่ได้ คนก็จะวิ่งไปโรงพยาบาลที่คิดว่าดีที่สุด สปสช.ก็ต้องเข้ามาเสริมให้ Service Plan มันเข้มแข็ง ถ้าเขาไปเอง ต้องเอาระบบจ่ายเงินเข้าไปจับว่าถ้าคุณไปผิดที่ ไม่ใช่คุณได้นะ แต่ต้อง Co-Payment แต่อีกขาก็ต้องพัฒนาคุณภาพบริการให้ดี ให้ประชาชนรู้สึกว่าไปโรงพยาบาลใกล้ๆ บ้านก็ได้” รศ.พญ.ประสบศรี กล่าว

รศ.พญ.ประสบศรี ย้ำว่า Service Plan มี 3 แกน คือ Academic, Research และ Service ตัว สธ.ก็ต้องไปพัฒนา Service ส่วนกลุ่ม Academic ก็ผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของ สธ. ช่วยกันคนละไม้ละมือ โดยมี สปสช.สนับสนุน ใช้เงินให้ถูกที่ถูกทาง

ขณะเดียวกัน นอกจากการสนับสนุนเรื่อง Service Plan แล้ว รศ.พญ.ประสบศรี ทิ้งท้ายว่า ในส่วนของ Primary Care Cluster ซึ่งต้องการการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนอย่างมาก ดังนั้นโดยอุดมคติส่วนตัวแล้ว อยากเห็นชุมชนที่เข้มแข็งและมองปัญหาของตัวเองทะลุ ดังนั้นเงินจาก สปสช.ที่ลงไปทำโครงการต่างๆ ควรเน้นให้เกิดความยั่งยืนให้ได้ ไม่ใช่ลงไปแล้วละลายไปหมด