ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะอนุกรรมการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพ ชำแหละปัญหากำลังคนในระบบสาธารณสุข พบบุคลากรไม่เพียงพอ-ผู้ปฏิบัติงานจริงต่ำกว่ากรอบขั้นต่ำ ขณะที่รัฐพยายามลดข้าราชการแต่ภาระงานกลับเพิ่มมากขึ้น หนำซ้ำยังจัดสรรงบประมาณให้ สปสช.ต่ำกว่าต้นทุนจริง เป็นเหตุให้โรงพยาบาลต้องใช้เงินบำรุงจ้างพนักงาน แต่ต้องแบกรับภาระเอง

นพ.ฑิณกร โนรี เลขานุการคณะอนุกรรมการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพ เปิดเผยในเวทีอภิปรายหัวข้อ “ก้าวต่อไปด้านกำลังคน ในมิติการเงินการคลัง : การจัดการเงินเดือนบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขและประเด็นการเตรียมความพร้อมบุคลากร เพื่อรองรับการพัฒนาคุณภาพในอนาคต”ซึ่งอยู่ภายใต้การประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2559 ตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมามีการพูดถึงประเด็นการผูกเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุขไว้กับงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มาอย่างต่อเนื่อง และมีข้อเสนอให้แยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว

อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องพิจารณาความเป็นมา โดย พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 46 ระบุว่า หน่วยบริการมีสิทธิรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุน และในวงเล็บ 2 ระบุไว้ว่า ค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขนั้นให้ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากร ฉะนั้นข้อเสนอให้ตัดเงินเดือนจึงหมายถึงกรณีที่ระบุไว้ในวงเล็บ 2

นพ.ฑิณกร กล่าวว่า ที่ผ่านมาระบบสาธารณสุขไทยมีการผลิตบุคลากรเพิ่มมากขึ้น สัดส่วนประชากรต่อกำลังคนด้านสุขภาพดีขึ้น การกระจายตัวดีขึ้น แต่ก็ยังมีความกระจุกตัวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) มากกว่าภาคต่างๆ โดยพบว่าช่องว่างการกระจายกำลังคนที่กว้างที่สุดคือระหว่าง กทม.กับภาคอีสาน

สำหรับประเด็นการรวมค่าแรงในระบบบัตรทองนั้น คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบสาธารณสุขด้านการคลังสุขภาพและระบบหลักประกันสุขภาพผลการศึกษาพบว่า การรวมเงินเดือนในระบบบัตรทองไม่น่าจะเป็นมาตรการที่มีประสิทธิผลในการกระจายข้าราชการ

นอกจากนี้ ยังพบอีกว่าการรวมค่าจ้างในระบบบัตรทองมีผลต่อการจ้างลูกจ้างชั่วคราวที่ใช้เงินบำรุงชดเชยในกรณีที่ข้าราชการไม่เพียงพอ ขณะที่การรวมค่าตอบแทนในระบบบัตรทองน่าจะมีผลดีต่อการปฏิบัติงานและการคงอยู่ของกำลังคนในระบบ

นพ.ฑิณกร กล่าวอีกว่า สถานการณ์กำลังคนด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ชัดเจนว่าผู้ปฏิบัติงานจริงไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับกรอบขั้นต่ำ และตั้งแต่ปี 2545 รัฐบาลมีนโยบายลดกำลังคนภาครัฐ แต่ในขณะเดียวกันภารกิจด้านสุขภาพกลับเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเกิดขึ้นของระบบบัตรทอง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ภาระโรคจากการเจ็บป่วยเรื้อรังเพิ่มขึ้น ดังนั้นภาคสาธารณสุขจึงจำเป็นต้องหากำลังคนให้เพียงพอ ซึ่งวิธีการหนึ่งก็คือการจ้างลูกจ้างชั่วคราวด้วยเงินบำรุง และเงินที่หน่วยบริการได้รับจาก สปสช.ก็เป็นเงินบำรุงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคืองบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่ สปสช.ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลต่ำกว่าคำของบประมาณ และในการปฏิบัติงานจริงของหน่วยบริการพบว่าความรุนแรงของโรคที่ต้องนอนในโรงพยาบาลมักสูงกว่าประมาณการ ค่าใช้จ่ายจึงเป็นภาระทางการเงินของโรงพยาบาล

“งบประมาณเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากรที่ สปสช.ได้รับอนุมัติ จึงไม่พอกับรายจ่ายจริงของสถานพยาบาล โดยเฉพาะเรื่องของค่าตอบแทน หรือเรียกได้ว่า สปสช.ได้รับงบประมาณต่ำว่าต้นทุนที่แท้จริงที่จัดทำคำของบประมาณ” นพ.ฑิณกร กล่าว