ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในยุคก่อนๆ ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยรอบๆ ตัวเรามีไม่กี่ประเภท วิธีการขายก็ไม่ซับซ้อน แต่ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีการสื่อสารมันไปไกล นอกจากมันจะช่วยในการติดต่อสื่อสารแล้ว มันยังช่วยส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้าถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์ที่ทำร้ายผู้คน

ด้วยบทบาทของเภสัชกรที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในชนบท ทำให้มีโอกาสได้เข้าร่วมในเวทีผู้บริโภคหลายครั้ง พบว่าพัฒนาการของผลิตภัณฑ์เหล่านี้มันไปไกล จากเดิมที่มีแค่ยาชุด ยาซอง ยาลูกกลอนผสมสเตียรอยด์ ปัจจุบันนี้มันกลายร่างเป็น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลากหลายชนิด ที่ผสมยาอันตรายต่างๆ อาทิเช่น ยาลดความอ้วน สเตียรอยด์ ยาแก้ปวดข้อ ลามไปจนถึงการผสมสารสเตียรอยด์ในสมุนไพร เครื่องดื่ม หรือเครื่องสำอางอีกด้วย

นอกจากนี้เทคนิคการขายก็ปรับจากการตระเวนขาย มาเป็นการขายตรงเป็นทอดๆ มีการเปิดขายในโลกอินเตอร์เน็ต ส่งสินค้าให้ทางพัสดุไปรษณีย์ รวมทั้งชักชวนผู้ขายหน้าใหม่ๆ ตั้งแต่ระดับนักเรียน นักศึกษา ให้มาเป็นเจ้าสัวน้อย ช่วยกระจายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้อง

เมื่อถามผู้บริโภคถึงเหตุผลในการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ นอกจากเหตุผลที่อยากจะหายจากโรคภัยไข้เจ็บหรือโรคเรื้อรังต่างๆ แล้ว ยังพบว่าหลายรายไม่ได้ซื้อเพราะเจ็บป่วย แต่ซื้อเพราะความเกรงใจคนใกล้ตัว หรือบางครั้งลูกหลานที่ต้องจากบ้านช่องไปทำงานไกลถิ่นก็ซื้อส่งมาให้เสมือนเป็นความกตัญญูจากแดนไกล และสุดท้ายผู้บริโภคทั้งหลายก็ตกเป็นเหยื่อการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย ไม่เว้นแม้กระทั่งคนที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโคเองก็เคยพลาดกันหลายราย

คนทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในยุคนี้คงไม่สามารถใช้วิธีการเดิมๆ ในการจัดการปัญหาได้แล้ว คงถึงคราวที่ต้องปรับตัว หาหรือพัฒนาแนวทางใหม่ๆ เพื่อมาจัดการกับปัญหาเหล่านี้  ขอเสนอ 5 แนวทางจัดการปัญหาเพื่อผู้บริโภคในยามศุกร์เข้าพระเสาร์แทรกดังนี้ “จับมือ-เท่าทัน-เรียงลำดับกัน-เฝ้าระวัง-กฎระเบียบล้าหลังต้องปรับปรุง”

1. จับมือ : เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคเดิมๆ ที่เคยทำงานร่วมกันมาอาจไม่เพียงพอแล้ว เพราะการตลาดมันขยายตัวไปไกล ทั้งโลกอินเตอร์เน็ต หรือโลกโซเชียลต่างๆ เราควรขยายเครือข่ายไปให้ถึงหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ เช่น กระทรวง ICT กระทรวงพาณิชย์ หรือกระทั่งเครือข่าย NGOs กลุ่มใหม่ๆ ที่ดูแลเรื่องเหล่านี้ นอกจากนี้อาจต้องใช้เครื่องมือหรือมาตรการใหม่ๆ ในการจัดการกับผู้ขาย เช่น มาตรการตรวจสอบภาษี หรือการส่งต่อเป็นคดีสอบสวนพิเศษเลยด้วยซ้ำ หากมีความรุนแรง

2. เท่าทัน : ผลิตภัณฑ์ไม่ปลอดภัยเกิดขึ้นได้แทบทุกวัน การสร้างภูมิต้านทานให้ผู้บริโภค เพื่อให้เท่าทันการโฆษณา เป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องทำ โดยเฉพาะคนที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคเองยิ่งต้องมีภูมิต้านทานที่แข็งแรง

3. เรียงลำดับกัน : มีปัญหาคุ้มครองผู้บริโภครอบตัวเรามากมาย เราไม่สามารถทำได้ทุกเรื่องในเวลาที่จำกัด เพื่อให้มีเรี่ยวแรงในการจัดการปัญหาที่รุนแรงหรือเร่งด่วน การจัดลำดับความสำคัญของปัญหา เป็นสิ่งที่เราจำเป็นต้องทำอย่างยิ่ง

4. เฝ้าระวัง : การสร้างระบบและกลไกในการเฝ้าระวังที่มีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะทำให้เราสามารถรับรู้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์ ก่อนที่ปัญหาดังกล่าวจะลุกลามต่อไป

5. กฎระเบียบล้าหลังต้องปรับปรุง : กฎระเบียบ หรือขั้นตอนการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด บางทีมันมีหลายขั้นตอน หรือมีความซับซ้อนไปมาทั้งในหน่วยงานหรือนอกหน่วยงาน การผลักดันหรือชี้แนะให้มีการปรับปรุงกฎระเบียบหรือขั้นตอนต่างๆ ให้มันไหลลื่นได้สะดวกยิ่งขึ้น จะยิ่งส่งผลดีต่อการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค