ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เผยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยลดอัตราการป่วยของทารกได้เกือบร้อยละ 50  เร่งพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ทักษะส่งเสริมให้เด็กป่วยได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่อย่างถูกต้องเหมือนเด็กปกติระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล ด้วยกลยุทธ์บันได 10 ขั้น อาทิ ทารกที่คลอดก่อนกำหนด ทารกที่ได้รับการผ่าตัดและเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ที่ถูกแยกแม่–ลูก หรือถูกสั่งงดให้นมด้วยเหตุผลต่างๆ 

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องเด็กปฐมวัย เนื่องจากเป็นวัยรากฐานแห่งชีวิต มีการพัฒนาสมองและการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว ซึ่งการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดี นำไปสู่การมีสุขภาพดี เป็นพื้นฐานของการพัฒนามนุษย์ กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นอีกแนวทางที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่เจ็บป่วยบ่อย มีการดำเนินการต่อเนื่องทำให้มีแนวโน้มดีขึ้น

ข้อมูลจากกรมอนามัย พบว่าอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือนในปี 2550 ร้อยละ 14.6 เพิ่มเป็นร้อยละ 47.50 ในปี 2555 ส่วนข้อมูลของสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ พบว่า ทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวนานติดต่อกัน 0-3 เดือนมีอัตราป่วยร้อยละ 26.32 ส่วนทารกที่ไม่ได้กินนมแม่มีอัตราป่วยร้อยละ 45.45 และทารกที่กินนมแม่อย่างเดียวนาน 3-6 เดือนมีอัตราป่วยร้อยละ 32.5 ส่วนทารกที่ไม่ได้กินนมแม่มีอัตราป่วยสูงถึงร้อยละ 61.84 

อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกที่เจ็บป่วย มีความแตกต่างจากเด็กปกติ บุคลากรต้องได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะในการช่วยเหลือให้แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยเฉพาะในทารกที่ป่วยเป็นประจำ เพื่อให้ได้รับการเลี้ยงดูด้วยนมแม่อย่างถูกต้องทัดเทียมกับเด็กปกติ รวมทั้งให้แม่มีส่วนร่วมในการวางแผนการเลี้ยงดูร่วมกับทีมแพทย์ ได้มอบหมายให้สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี จัดการอบรมวิชาการระดับนานาชาติ พร้อมนำร่องดำเนินการหลังการอบรมในโรงพยาบาล 25 แห่ง ซึ่งการประเมินผลพบว่าทารกและเด็กที่ป่วยได้รับนมแม่ขณะที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและผลการรักษาดีขึ้น โดยจะได้ขยายการดำเนินงานทั่วประเทศต่อไป

ด้าน นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี กรมการแพทย์ แต่ละปีรับทารกป่วยเข้ารับการรักษาประมาณ 1,200 คน ส่วนใหญ่เป็นทารกที่คลอดก่อนกำหนด ทารกที่ได้รับการผ่าตัดและทารกที่เจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ ทำให้มีโอกาสถูกแยกแม่–ลูก หรือถูกสั่งงดให้นมด้วยเหตุผลต่างๆ ในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในเด็กป่วย มีกลยุทธ์ดำเนินการด้วยบันได 10 ขั้นดังนี้

1.ให้ข้อมูลประโยชน์และความจำเป็นของนมแม่กับพ่อแม่

2.ให้ความรู้และวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งน้ำนมแม่สำหรับเด็กป่วย

3.สอนวิธีการเก็บและใช้น้ำนมแม่ในการเลี้ยงดูเด็กป่วยที่ถูกต้องและเหมาะสม

4.ขั้นตอนและวิธีการให้นมแม่กับเด็กที่ป่วย

5.การกระตุ้นให้แม่พร้อมที่จะมีน้ำนมและทำให้ลูกพร้อมที่จะรับนมแม่ ด้วยการสัมผัสแบบเนื้อแนบเนื้อ ตั้งแต่อยู่ในห้องคลอด

6.การกระตุ้นให้เด็กทารกมีความคุ้นเคยกับเต้านมแม่ ช่วยให้ทารกดูดนมจากเต้าได้

7.เทคนิคและวิธีการให้เด็กทารกดูดนมจากเต้าได้

8.วิธีประเมินว่าเด็กป่วยได้รับน้ำนมแม่เพียงพอหรือไม่

9.การเตรียมพร้อมสำหรับแม่และเด็กป่วยก่อนกลับบ้าน

และ 10.การให้คำแนะนำช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหา เมื่อแม่และลูกกลับไปที่บ้าน เพื่อให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ประสบความสำเร็จ