ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ฯ ชำแหละต้นตอห้องฉุกเฉินแน่น แออัด พบระบบคัดกรองไม่ดี มี 1 ใน 3 ของคนไข้ที่ยังไม่โคม่า ชี้อีกปัญหาหลักมาจากทรัพยากรบุคคลขาดแคลน

นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล

นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ “ถกแถลง: ระบบอุบัติเหตุฉุกเฉินที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ” ซึ่งอยู่ภายใต้การประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2559 ตอนหนึ่งว่า ทุกวันนี้โรงพยาบาลของรัฐมีข้อจำกัดด้านทรัพยากรอย่างรุนแรงจนนำไปสู่ปัญหาขาดสภาพคล่อง โดยพบว่าตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา มีโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปกว่า 20 โรงพยาบาล จาก 116 โรงพยาบาล ที่เงินบำรุงติดตัวแดงคือติดลบขาดสภาพคล่อง

นอกจากนี้ โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรบุคคลที่รุนแรงด้วยเช่นกัน โดยค่าเฉลี่ยของแพทย์ในโรงพยาบาลขนาด 300 เตียงลงมาอยู่ที่ 25-30 คนเท่านั้น ขณะที่ต้องดูแลคนไข้ไม่ต่ำกว่า 700-800 คนต่อวัน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินนั้นคงไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยของโรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว โดยปัจจัยหนึ่งก็คือผู้ป่วยที่เข้ามาในโรงพยาบาล ซึ่งเข้ามาในห้องฉุกเฉินได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นระบบการรับเข้า (รถพยาบาล, กู้ชีพ) เดินเข้ามาเอง หรือแม้แต่การส่งต่อมาจากโรงพยาบาลข้างเคียงหรือโรงพยาบาลเอกชนเข้ามา

ทั้งนี้ ตัวเลขจากโรงพยาบาลที่ตนสังกัดอยู่นั้น พบว่าปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยเข้ามาในห้องฉุกเฉินประมาณ 6.5 หมื่นราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยฉุกเฉินจากอุบัติเหตุ 1 ใน 3 เท่านั้น หรือประมาณ 1.5 หมื่นราย ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มคนที่ยังไม่ได้ฉุกเฉิน เช่น ปวดท้องไส้ติ่งในระดับที่ยังไม่มีความเสี่ยงยังรอได้ นั่นสะท้อนปัญหาความแออัดของโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี

“เราพยายามขยายเวลาให้บริการในแผนกผู้ป่วยนอก (โอพีดี) ออกไปถึง 3 ทุ่มแล้ว แต่พบว่ายิ่งขยายยิ่งทำให้ผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ฉะนั้นปัญหาคือคนที่เข้ามานั้นฉุกเฉินจริงหรือไม่ การตีความคำว่าฉุกเฉินเป็นอย่างไร ตรงนี้คือปัญหา เพราะเอาเข้าจริงๆ แม้ว่าจะเอารถฉุกเฉินออกไปรับก็ยังมีหลายกรณีที่ไม่ฉุกเฉินจริงๆ แต่เราก็ต้องไปรับมาก่อน” นพ.ธานินทร์ กล่าว

นพ.ธานินทร์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการมีบุคลากรที่มีคุณภาพ มีการจัดระบบภายในของโรงพยาบาลที่เอื้อต่อการจัดการให้เร็ว หากสามารถจัดการได้เร็วโรงพยาบาลก็จะไม่แออัด หลักการก็คือต้องเอาคนไข้เข้าไปอยู่ในที่ที่เขาควรอยู่ แต่ปัญหาทุกวันนี้คือเรื่องบุคลากร

“เราต้องใช้แพทย์ฝึกหัด (Intern) ดูแลห้องฉุกเฉิน ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ ไม่ถูกต้อง จริงๆ แล้วเราต้องการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างรวดเร็ว เร่งด่วน และมีคุณภาพ ผู้ป่วยปลอดภัย และลดความแออัดของห้องฉุกเฉิน และโรงพยาบาล” นพ.ธานินทร์ กล่าว