ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางพัฒนาโรงพยาบาล ให้เป็นต้นแบบการบริหารโรงพยาบาลของชุมชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ตามแนวทางประชารัฐ เพื่อพัฒนาเข้าสู่ประเทศไทยยุค 4.0 

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 ที่จังหวัดกาญจนบุรี นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดแพรคลุมป้ายอาคาร “100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก” โรงพยาบาลห้วยกระเจาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดกาญจนบุรี มอบประกาศเกียรติคุณแก่ผู้บริจาคทรัพย์สมทบทุนในการก่อสร้าง และปลูกต้นไม้ 3 อย่างที่ให้ประโยชน์ 4 อย่างตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

นพ.โสภณ ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เพื่อพัฒนาเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 ด้วยการมีส่วนร่วมของภาครัฐและประชาชน ร่วมกันบริหารจัดการปัญหาสุขภาพในแต่ละพื้นที่ มีกลไกเชื่อมโยงกัน ร่วมกันสร้างสุขภาวะที่ดีให้ประชาชน ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ ประชาชนมีสุขภาพดี ลดการเจ็บป่วย พึ่งพาตนเองได้ สุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพดีขึ้นอย่างยั่งยืน 

โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทั้ง 10 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ชนบทห่างไกล ได้เร่งรัดพัฒนาให้เป็นโรงพยาบาลคุณธรรม ยึดมั่น และน้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้ในการบริหารโรงพยาบาล ดังนี้  1.เป็นโรงพยาบาลของชุมชนอย่างแท้จริง ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ บริหารจัดการ ดูแลรับผิดชอบ และสนับสนุนกิจการต่างๆ ของโรงพยาบาล ยึดหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ ความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ 2.โรงพยาบาลเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ประสานทำงานกับองค์กรอื่นในชุมชน ร่วมกันพัฒนาสุขภาพแบบองค์รวมตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3.ระบบบริการ เน้นงานเวชศาสตร์ครอบครัว การส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันควบคุมโรค การรักษาฟื้นฟูแบบองค์รวม 4.ส่งเสริมกิจกรรมจิตอาสาที่หลากหลายรูปแบบทั้งในและนอกโรงพยาบาล และ5.มีการบริหารจัดการที่ดี สิ่งแวดล้อมดี อาคารสถานที่สะอาด สวยงาม

สำหรับโรงพยาบาลห้วยกระเจาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดกาญจนบุรี เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง เปิดให้บริการประชาชนเมื่อปี 2549 ดูแลประชาชนประมาณ 34,000 คน มีผู้ป่วยนอกเฉลี่ย 180 คนต่อวัน ผู้ป่วยในเฉลี่ย 20 คนต่อวัน ในจำนวนนี้มีพระภิกษุสงฆ์รวมอยู่ด้วย ด้วยข้อจำกัดที่โรงพยาบาล มีห้องพิเศษเพียง 5 ห้อง พระภิกษุต้องนอนรวมกับผู้ป่วยอื่นๆ จึงเป็นการไม่เหมาะสมและไม่สะดวกต่อพระภิกษุที่มาดูแล คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลและคณะสงฆ์ จึงได้จัดหางบประมาณสำหรับก่อสร้างอาคารสำหรับพระภิกษุสงฆ์อาพาธ เป็นอาคาร 2 ชั้น มีห้องพิเศษเดี่ยว 9 ห้อง ห้องกายภาพบำบัด 1 ห้อง ห้องประชุม ห้องพระ อุปกรณ์ ครุภัณฑ์การแพทย์ และสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านการบริหารงาน ใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 5 ล้านบาท จากกการบริจาค ทอดผ้าป่าสามัคคี กิจกรรมการกุศล เงินสนับสนุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลและจากประชาชนในพื้นที่ โดยได้รับความเมตตาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ประทานนามอาคารว่า “อาคาร 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก”