ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รัฐบาลตั้งเป้าภายในปี 2564 ลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาลง 50% ลดปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพในคนลง 20% ลดปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับสัตว์ลง 30% ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจี้ถอดส่วนผสมยาต้านแบคทีเรียในยาอม-เครื่องสำอาง-แชมพู-สบู่ เหตุมีความเสี่ยงให้เกิดเชื้อดื้อยา

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จัดแถลงข่าวสัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย ประจำปี 2559

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาที่ส่งผลกระทบทางสุขภาพของประชาชน และยังทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมถึงปีละ 46,000 ล้านบาท จึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ.2560-2564 โดยคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเป็นกรอบการทำงานร่วมกันในการลดป่วย ลดตาย และลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากเชื้อดื้อยา 

โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 2564 ที่จะลดการป่วยจากเชื้อดื้อยาลง 50% ลดปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพในคนลง 20% ลดปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพสำหรับสัตว์ลง 30% ประชาชนมีความรู้เรื่องเชื้อดื้อยาและตระหนักในการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสมเพิ่มขึ้น 20% และระบบการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพมีสมรรถนะตามเกณฑ์สากล ไม่ต่ำกว่าระดับ 4

รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการประชุมระดับสูงเรื่องการดื้อยาต้านจุลชีพ ที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวถ้อยแถลงถึงการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพว่า ต้องไม่กระทบการซื้อและเข้าถึงยาต้านจุลชีพทั้งชนิดเดิมและที่ค้นพบใหม่ รวมทั้งวัคซีน และเครื่องมือตรวจวินิจฉัย และในขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้เปิดรับฟังความเห็นในการยกเลิกรายการยาต้านจุลชีพจากการเป็นยาสามัญประจำบ้าน นอกจากนี้ตามแผนยุทธศาสตร์ภายในระยะเวลา 12 เดือน จะต้องมีประกาศปรับประเภทยาต้านจุลชีพ 1 ฉบับ และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ควบคุมการผลิต ขาย ใช้ ยาผสมลงในอาหารสัตว์ 1 ฉบับ  

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHOSNET) กล่าวว่า ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาโรงพยาบาลในเครือข่ายกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ได้รณรงค์การใช้ยาอย่างสมเหตุผลอย่างจริงจังจึงมีมาตรการสนับสนุนให้แพทย์สั่งจ่ายยาเหล่านี้เมื่อมีข้อบ่งชี้และเท่าที่ความจำเป็นเท่านั้น ดังนั้นหากโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ไม่ใช่โรคติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์ก็ไม่ควรสั่งยาต้านแบคทีเรียให้แก่ผู้ป่วย

นางสาวพัชรา อุบลสวัสดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า จากแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย พ.ศ. 2559 – 2561 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม โดย สช.ซึ่งเป็นฝ่ายประสาน สนับสนุนการขับเคลื่อนจะทำการติดตามการดำเนินงานตามมตินี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเผยแพร่ให้สาธารณะได้ทราบต่อไป

พ.อ.นพ.สุรจิต สุนทรธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หากมีการรักษาและใช้ยาเท่าที่จำเป็นจะทำให้ปัญหางบประมาณไม่เพียงพอลดน้อยลง ซึ่งกลวิธีที่ทำให้เกิดการรักษาเท่าที่จำเป็นมากที่สุดคือการเหมาจ่ายรายหัว