ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การศึกษาเกี่ยวกับการใช้ยาสมัยใหม่รักษาตนเองของคนไทยนั้น กล่าวได้ว่ามีมานานกว่า 3 ทศวรรษ ปรากฎครั้งแรกในงานของนักวิชาการฝรั่งที่มาศึกษาเรื่องราวของหมอฉีดยาในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2513 งานชิ้นนี้ได้ช่วยขยายภาพของการแพทย์สมัยใหม่ โดยเฉพาะยาที่กระจายสู่ชนบทให้เห็นชัดเจนขึ้น

ในขณะที่งานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการใช้ยารักษาตนเองและการใช้ยาในชุมชนย้อนกลับไปราว 20 กว่าปีที่ผ่านมาก็นับเป็นความพยายามครั้งแรกๆ ในการทำความเข้าใจปัญหาการใช้ยาของชาวชนบทได้ไม่น้อย อาทิ เช่น งานศึกษาของนิสิตคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เป็นต้น

เมื่อพิจารณาจากรายงานการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการใช้ยารักษาตนเองและการใช้ยาในชุมชนของคนไทย พบว่า งานวิจัยที่ผ่านมาให้ข้อสรุปสำคัญ 2 ประการเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ยารักษาตนเองของคนไทย คือ

ประการแรก การใช้ยารักษาตนเองเป็นพฤติกรรมที่พบบ่อยที่สุดในบรรดาพฤติกรรมการจัดการกับความเจ็บป่วย

ประการที่สอง การใช้ยารักษาตนเองมีแนวโน้มลดลงเมื่อประชาชนมีฐานะดีขึ้น กล่าวคือ คนไทยมักซื้อยากินเองเมื่อยามเจ็บไข้ได้ป่วย โดยเฉพาะในกลุ่มคนจนหรือกลุ่มลูกจ้างเกษตรกร ลูกจ้างคนงานทั่วไป ผู้ที่อยู่นอกเขตเทศบาล ในขณะที่ คนรวยมีแนวโน้มใช้จ่ายกับการรักษาในสถานบริการภาคเอกชนมากกว่า และแนวโน้มดังกล่าวยังผันแปรตามรายได้และภาวะเศรษฐกิจและสังคมในช่วงนั้นๆ อีกด้วย 

สำหรับโรคที่รักษาและการเลือกใช้ยาของคนไทย พบว่า แม้ว่าอาการป่วยที่ทำให้ชาวบ้านซื้อยากินเองจะครอบคลุมอย่างกว้างขวาง และยาที่ชาวบ้านสามารถหาซื้อได้ด้วยตนเองจะมีให้เลือกสารพัดชนิด แต่รายงานการวิจัยส่วนใหญ่ให้ข้อสรุปเหมือนๆ กันว่าโรคหรืออาการป่วยสำคัญๆ ที่เป็นสาเหตุให้ประชาชนซื้อยากินเองมากที่สุด คือ อาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ อันได้แก่ อาการปวดศีรษะ เป็นไข้ ไข้หวัด ไอ ปวดท้อง อาการของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ และอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ซึ่งเป็นอาการที่สอดคล้องกับชนิดของยาที่พบว่าชาวบ้านนิยมซื้อเพื่อการรักษาตนเอง คือ กลุ่มยาแก้ปวดลดไข้ กลุ่มยาโรคทางเดินอาหารและยารักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ

ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2533 ที่พบว่ายาส่วนใหญ่ที่ประชาชนซื้อเพื่อการรักษาตนเอง คือ ยาแก้ปวด ลดไข้ ยาแก้หวัด และยาแก้โรคกระเพาะ ในขณะที่ยาอันตราย เช่น ยาปฎิชีวนะ ยาแก้ท้องเสีย หรือยาสเตียรอยด์นั้นมีการใช้ในสัดส่วนที่น้อยกว่ามาก

ชาวบ้านหาซื้อยาจากร้านชำ หรือร้านสะดวกซื้อมากที่สุด กล่าวคือ แม้ว่าชาวบ้านในชนบทจะสามารถเข้าถึงยาได้หลายแหล่ง ทั้งที่ถูกต้องเป็นทางการและที่ผิดกฎหมายแต่ข้อสรุปที่คล้ายกันในรายงานวิจัยส่วนมากพบว่าแหล่งยาที่สำคัญที่สุดในการรักษาตนเองของชาวบ้าน คือ ร้านชำ และนั่นย่อมหมายความว่าเป็นยาที่ผู้ป่วยหรือครอบครัวซื้อมาเองไม่ใช่ยาที่แพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสั่ง

ในความคิดและความเชื่อของชาวบ้านเกี่ยวกับการใช้ยา จะพบว่าชาวบ้านมองยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณหรือยาสมุนไพรแตกต่างกัน กล่าวคือ ชาวบ้านมีความเชื่อมั่นในสรรพคุณของยาฝรั่งหรือยาแผนปัจจุบันมากกว่ายาสมุนไพร โดยเฉพาะกับการรักษาอาการเฉียบพลันหรือโรคที่มิใช่โรคพื้นบ้าน

ในทัศนะของชาวบ้าน ยาแผนปัจจุบันเป็นยาแรงที่ให้ผลเร็วแต่ไม่ได้รักษาที่ต้นเหตุของโรค และยาฉีดคือยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคสูงสุด ในขณะเดียวกัน งานวิจัยยังชี้ว่าชาวบ้านไม่นิยมใช้ยาสามัญประจำบ้านหรือยาตำราหลวงเพราะถูกมองว่ามีประสิทธิภาพต่ำกว่ายาจากร้านค้า ไม่แน่ใจเรื่องคุณภาพของยาตำราหลวงเพราะเห็นว่าได้ผลช้า หรือมองว่ายาจากร้านค้าแรงกว่ายาที่สถานีอนามัย

วิธีคิดที่ชาวบ้านใช้ประเมินสรรพคุณของยา นอกเหนือจากการเชื่อมโยงกับรูปแบบของยาและยี่ห้อของยาแล้ว ยังพบว่าชาวบ้านมีความเชื่อว่ายาแพงดีกว่ายาถูก ยามากดีกว่ายาน้อย เน้นผลการรักษาที่รวดเร็ว หรือกล่าวอีกทางหนึ่งว่า ให้ความสำคัญกับการหายป่วย ไม่สนใจโทษอื่นๆ ของยา และมีทัศนะในเชิงบวกกับยาที่วางขายในท้องตลาดผูกกับความเชื่อมั่นที่ภาครัฐปล่อยให้มียาจำหน่ายแสดงถึงความปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังพบว่าชาวบ้านอาศัยแนวคิดลางเนื้อชอบลางยา หรือถูกกับยา หรือเวรกรรมมาอธิบายเมื่อเกิดกรณีที่ยารักษาไม่ได้ผลกับบางคนและได้ผลกับบางคน

สำหรับพฤติกรรมการใช้ยารักษาตนเองที่ปรากฎในรายงานการวิจัยส่วยมาก พบว่ารูปแบบการซื้อยารักษาตนเองมักเป็นการบอกความต้องการหรือเล่าอาการให้ฟังหรือเอาตัวอย่างยามาเทียบ ชาวบ้านคิด เชื่อและทำในแบบของตนเองที่สวนทางกับหลักทางการแพทย์ที่ควรจะเป็น เช่น เลือกใช้ยาตามชื่อร้านค้า โดยอาศัยประสบการณ์เดิม คำบอกเล่าหรือคำแนะนำ       หรือจากการฟังโฆษณา มีการทดลองใช้ยา ไม่มีความรู้ที่ถูกต้อง ไม่สนใจกับข้อมูลในฉลาก

มีการพลิกแพลงการใช้ยาด้วยตนเอง เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะชนิดเม็ดทั้งกินและบดเป็นผงโรยแผล หรือใช้ยาที่แรงน้อยไปหายาที่แรงมากเป็นขั้นบันได เมื่อรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น เป็นต้น

ในการศึกษาแบบแผนทางสังคมและวัฒนธรรมของการใช้ยา ยังสะท้อนให้เห็นถึงยาที่ถูกนำไปใช้ในบริบทหรือปัญหาอื่นๆ เช่น ยาแก้ปวดถูกนำมาใช้เพื่อหวังผลให้เป็นสารกระตุ้นให้มีแรงในการทำงาน จนนำไปสู่การใช้ประจำด้วย

นอกจากนี้ ในงานวิจัยหลายชิ้นยังให้ข้อสรุปที่คล้ายคลึงกันว่า การตัดสินใจใช้ยารักษาตนเองของชาวบ้านมาจากแหล่งข้อมูลสำคัญคือ เพื่อนบ้าน การโฆษณา และประสบการณ์การรักษาในอดีต ข้อมูลที่ได้รับส่วนมากคือชื่อและสรรพคุณของยา ขณะที่ข้อมูลด้านขนาดการใช้ยาและวิธีการใช้ยาจะได้รับน้อยมาก ยิ่งข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายและข้อพึงระวังในการใช้ต่างๆ แทบไม่ปรากฎให้ชาวบ้านได้รับรู้ทางสื่อสาธารณะ แม้ว่าข้อมูลเหล่านี้ปรากฎข้างกล่องหรือในเอกสารกำกับยาแต่ชาวบ้านมักจะไม่อ่าน

เก็บความจาก

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์. ยากับชุมชน: มิติทางสังคมวัฒนธรรม.นนทบุรี: สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ, 2550.