ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นิตยสาร Scientific American ฉบับเดือนธันวาคม 2559 นี้ ตีพิมพ์หลายเรื่องที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหมอและประชาชน

การตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง มีปัญหาในทางปฏิบัติอย่างมาก เพราะได้รับการโฆษณาโดยสถานพยาบาลว่าจะช่วยตรวจคัดกรองมะเร็งได้ คนหลงเชื่อจำนวนไม่น้อย ที่ไปตรวจสุขภาพประจำปี หรือตรวจเพราะถึงวัย หรือตรวจเพราะเหตุผลอื่นๆ ก็จะตกหลุมพราง โดยเจาะเลือดไปส่งตรวจ แต่ไม่รู้ถึงภัยที่จะตามมา

ทาง US FDA (องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา) ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวมากขึ้นเรื่อยๆ และยอมรับแล้วว่า การตรวจหามะเร็งหลายชนิด ไม่ได้มีความไว และความจำเพาะจนเพียงพอที่จะนำมาใช้ตรวจคัดกรอง

ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น การตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งรังไข่ CA-125 นั้น มีรายงานมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า เกิดผลบวกปลอม หรือแปลง่ายๆ ว่า เจาะเลือดมาแล้วค่ามากเกินเกณฑ์ปกติ แต่จริงๆ แล้วร่างกายไม่ได้มีปัญหาอะไร ไม่ได้เป็นมะเร็งรังไข่

บริษัทที่ขายชุดตรวจเลือดหาค่า CA-125 เพื่อบ่งว่าเป็นมะเร็งรังไข่นั้น ส่งผลวิจัยของตนเองเพื่อขอใบอนุญาตจำหน่ายสู่สาธารณะ โดยป้อนข้อมูลแก่ FDA ว่า ชุดตรวจนี้มีค่าทำนายการมีโรคเมื่อเกิดผลผิดปกติ (Positive predictive value) สูงถึง 99.3% จนทำให้ได้ใบอนุญาต

แต่แท้ที่จริงแล้ว หากไปเจาะลึกดู FDA กลับมาพบว่า งานวิจัยดังกล่าวมีเพียงชิ้นเดียว และทำในกลุ่มประชากรที่ครึ่งหนึ่งทราบว่าเป็นโรคมะเร็งรังไข่อยู่แล้ว ทำให้ผลทำนายที่ได้สูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น หากนำมาคำนวณในกลุ่มประชากรธรรมดาในสังคม ที่ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนมีอัตราความชุกของการเกิดมะเร็งรังไข่เพียงแค่ 1 ใน 2,500 คนเท่านั้น จะพบว่า ค่าทำนายการมีโรคเมื่อเกิดผลตรวจผิดปกตินั้นเหลือแค่ 6.5% เท่านั้น

นั่นจึงแปลว่า หากเอาการตรวจเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งรังไข่ CA-125 มาตรวจในประชากรในสังคมจริง กลุ่มที่ตรวจพบค่าผิดปกติ 15 คน จะมีคนเป็นมะเร็งรังไข่จริงเพียงแค่ 1 คนเท่านั้น ในขณะที่ 14 คนที่เหลือนั้นไม่เป็นมะเร็ง แต่ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากการเสียเงิน เจ็บตัวจากการเจาะเลือด และเจ็บตัวจากการถูกส่งไปตรวจอื่นๆ อีกมากมาย ยังไม่นับรวมความกังวล เครียด เศร้า หรือกลัวที่จะเป็นมะเร็งเพราะผลเลือดผิดปกติ

ทาง FDA ยอมรับว่ามีทรัพยากรจำกัด ทำให้ไม่สามารถตรวจตราตรวจสอบการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ ที่ถูกนำไปใช้อย่างไม่ถูกไม่ควรในสังคมได้ และกำลังดำเนินการออกนโยบายใหม่เพื่อจำแนกกลุ่มการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชน เพื่อขันน็อตให้เกิดกระบวนการตรวจสอบการใช้อย่างเข้มงวดมากขึ้น

ที่เล่ามานั้นคือสิ่งที่อเมริกาเค้ากำลังทำ... ในขณะที่ประเทศสารขันธ์ เห็นตรวจกันอย่างสนุกสนานทั้งผู้อยากไปตรวจโดยไม่รู้เท่าทัน และสถานบริการที่ได้กำไรอู้ฟู่

... อ่านที่เล่ามาแล้ว ช่วยกันบอกกล่าวเล่าแจ้งให้ญาติพี่น้องเราได้รู้ และปฏิบัติอย่างเหมาะสมนะครับ...

เอกสารอ้างอิง: Charles Schmidt. The Science of Health. Scientific American Magazine, December 2016.

ผู้เขียน: ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย