ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สช.พร้อมขับเคลื่อน MOU พัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพ ร่วมกับ 8 องค์กรภาคี อาทิ ศธ. สธ. สปสช. ฯลฯ หวังสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ทั้งมหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตใหม่ ไปจนถึงผู้ให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข นำไปสู่การปฏิรูประบบให้บริการที่มีประสิทธิภาพ เสมอภาค และสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เข้าร่วมพิธีลงนาม บันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่อง การพัฒนาบุคลากรสุขภาพเพื่อตอบสนองต่อนโยบายการพัฒนาระบบบริการสุขภาพและความต้องการของประชาชน (Health Workforce Strengthening in Response to the Policy on Health Service System Development and Population's Health Needs) โดยเป็นความร่วมมือของผู้บริหาร 8 องค์กรภาคีที่สำคัญต่อการพัฒนาระบบการศึกษาของบุคลากรด้านสุขภาพ โดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ Dr.Daniel Kertesz สำนักงานผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เป็นสักขีพยาน เมื่อวันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน 2559 ณ โรงแรมพูลแมนแกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ

องค์กรภาคีทั้ง 8 แห่ง ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงศึกษาธิการ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.), สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ และคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ

นพ.พลเดช กล่าวว่า บันทึกความเข้าใจ (MOU) ฉบับนี้ ถือว่าสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาความสามารถในการผลิตบุคลากรด้านสุขภาพของประเทศให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชน ได้สอดคล้อง สมดุล และสร้างความเสมอภาคให้กับระบบบริการสุขภาพในแต่ละพื้นที่ ตาม มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 เรื่อง “การปฏิรูปการศึกษาวิชาชีพด้านสุขภาพให้สอดคล้องกับความจำเป็นด้านสุขภาพในบริบทสังคมไทย” ซึ่งที่ผ่านมา คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจำนวน 2 ชุด ประกอบด้วย คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ มี นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นประธาน มุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้ใช้บุคลากรด้านสุขภาพ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข และ คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ ที่มี .นพ.วิจารณ์ พานิช เป็นประธาน มุ่งเน้นผู้ผลิต อาทิ มหาวิทยาลัยต่างๆ

“MOU ฉบับนี้ จะช่วยสนับสนุนให้ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้บุคลากรด้านสุขภาพบูรณาการแนวทางอย่างเชื่อมประสานกัน ไม่ได้มีเป้าหมายแค่จำนวนวิชาชีพแพทย์ พยาบาล หรือวิชาชีพด้านสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังต้องพิจารณาถึงสถานะของบุคลากรด้วยว่าตรงความต้องการหรือไม่ เช่น ขณะนี้ สธ.มีนโยบายส่งเสริมทีมแพทย์ประจำครอบครัว กลุ่มหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ (Primary Care Cluster) และระบบสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System: DHS) ที่มีความใกล้ชิดชุมชน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการและมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ควรผลิตให้เพียงพอ สอดคล้อง เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศด้วย”

เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวอีกว่า สำหรับบทบาทของ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนงานของ คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ และ คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ เพื่อสามารถดำเนินการไปตามเจตนารมณ์ของมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ การเปิดพื้นที่หรือจัดเวทีให้คณะกรรมการทั้งสองชุดสามารถแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการทำงานร่วมกัน รวมถึงการเชื่อมโยงเครือข่ายสมัชชาสุขภาพระดับจังหวัด และภาคประชาสังคมทั่วประเทศ ขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้ดีขึ้นต่อไป

ด้าน .นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ  กล่าวว่า  คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ได้มีการทำงานทั้งในเชิงวิชาการและการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งจากฝั่งผู้ผลิตและผู้ใช้บัณฑิต โดยที่ผ่านมา สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ได้มีฉันทมติรับรอง แผนยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพในศตวรรษที่ 21 (พ.ศ.2557-2561) แล้ว เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีการจัดประชุมวิชาการเป็นประจำทุกปี

นพ.มงคล ณ สงขลา ประธานกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพต้องมีความต่อเนื่องและพร้อมรับมือกับปัจจัยเสี่ยงใหม่ๆ ในระบบสุขภาพของประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างการ ยกร่างแผนยุทธศาสตร์ทศวรรษกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ ระยะที่ 2 พ.ศ. 2560-2569 โดยมี นพ.ฑิณกร โนรี กรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ และนักวิจัยสำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ (สวค.) เป็นประธาน มุ่งเน้นบูรณาการทิศทางร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรวิชาชีพต่างๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนากำลังคนให้บริการสุขภาพระดับพื้นที่ด้วย