ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธาน กมธ.สาธารณสุข ยัน “แพทย์-ทันตแพทย์” มาตรฐานเดียวกัน ต่ออายุใบอนุญาต/สอบความรู้ทุก 5 ปี ถ้ามีการต่อต้าน สภาวิชาชีพต้องไปจัดการเคลียร์กันเอง

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข (กมธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีที่ทันตแพทย์บางกลุ่มคัดค้าน พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพทันตกรรม (ฉบับ 2) พ.ศ.2559 ซึ่งกำหนดให้ทันตแพทย์ต้องต่อใบอนุญาตทุก 5 ปี พร้อมทั้งโจมตีว่าเลือกปฎิบัติเพราะ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม (ฉบับ 2) พ.ศ.2559 ซึ่งบังคับใช้กับวิชาชีพแพทย์ กลับไม่กำหนดให้ต้องต่ออายุนั้น ยืนยันว่า 3 วิชาชีพ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ และเภสัชกร จะมีมาตรฐานเดียวกัน โดยในส่วนของกลุ่มเภสัชกร มีการออก พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 ไปแล้ว ส่วนกฎหมายของแพทย์และทันตแพทย์ ก็เขียนเหมือนกันกับของเภสัชกรทุกคำ เพียงแต่กฎหมายวิชาชีพเวชกรรมยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกา

“แพทย์ก็ต้องต่อ เพียงแต่ขั้นตอนการออกกฎหมายยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของกฤษฎีกา ส่วนของทันตแพทย์ออกมาแล้ว จะบอกว่าแพทย์ไม่เห็นต้องไปต่ออายุใบประกอบโรคศิลปะไม่ได้ แพทย์ก็ต้องต่ออายุเหมือนกัน มันต้องมีมาตรฐานเดียว จะให้กลุ่มหนึ่งต่ออายุ อีกกลุ่มหนึ่งไม่ต้อง แบบนี้คงตอบสังคมไม่ได้” นพ.เจตน์ กล่าว

นพ.เจตน์ กล่าวอีกว่า วัตถุประสงค์ของการให้ต่ออายุใบประกอบโรคศิลปะก็เพื่อคุ้มครองประชาชน เพราะมีแพทย์หรือทันตแพทย์บางส่วนที่เปิดคลินิกอย่างเดียว ไม่สนใจโลก ขณะที่วิชาการองค์ความรู้ทางการแพทย์พัฒนาไปทุกวัน

อย่างไรก็ดี การเขียนตัวบทกฎหมาย ได้พยายามเอื้อให้ผู้ที่มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะก่อนที่กฎหมายบังคับใช้ สามารถต่อใบอนุญาตได้โดยง่าย เช่น สามารถอัพเดทข้อมูลวิชาการผ่านเว็บไซต์ ตอบแบบสอบถาม หรืออ่านรายงานประจำปีของทันตแพทย์สมาคม แล้วทำแบบฝึกหัดผ่านเว็บไซต์ ฯลฯ กล่าวคือสามารถเรียนทางอินเทอร์เน็ตที่คลินิกโดยไม่ต้องเดินทางเข้ามาประชุมได้

“กมธ.พยายามปรับแก้ให้อ่อนนุ่มที่สุดและฟังความคิดเห็นของผู้ที่ไม่เห็นด้วย เชิญมาให้ข้อมูลหมดเลย ไม่ได้ทำโดยพลการ เจตนารมณ์ กมธ.คือทำให้ง่ายที่สุดเพื่อเอื้อแก่คนที่มีใบประกอบโรคศิลปะอยู่แล้ว เราอำนวยความสะดวกขนาดนี้แล้ว ถ้ายังปฏิเสธอีกก็เป็นเรื่องที่เกินไปนะ” นพ.เจตน์ กล่าว

นพ.เจตน์ กล่าวอีกว่า ตัวองค์กรวิชาชีพซึ่งกรณีนี้คือทันตแพทยสภา จะต้องเป็นผู้ออกแบบหลักเกณฑ์ข้อบังคับหรือเกณฑ์ที่จะกำหนดว่าจะต่อหรือไม่ต่อใบอนุญาต ซึ่งถ้ายังมีแรงต้านหรือมีปฏิกิริยา กลุ่มวิชาชีพก็ต้องไปทำความเข้าใจกันเอง

“ขอบอกว่ามาตรฐานของกลุ่มวิชาชีพเหล่านี้ต้องเป็นมาตรฐานเดียว เมื่อเป็นมาตรฐานเดียว แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร ต้องเหมือนกัน ทุกวิชาชีพต้องมีการต่ออายุเพื่อคุ้มครองประชาชนและมีแนวทางพัฒนาองค์ความรู้ แต่การพัฒนาองค์ความรู้ไม่ใช่ว่าต้องตึงเป๊ะ ต้องมาประชุม เขียนรายงาน ต้องเดินทางไปอบรม ไม่ถึงขนาดนั้น เขาสามารถนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์แล้วเรียนรู้วิชาการได้ อันนี้คือเจตนารมณ์ของเรา แต่เราไม่รู้ว่าทันตแพทยสภาจะออกแบบอย่างไร” นพ.เจตน์ กล่าว

ทั้งนี้ สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพทันตกรรม (ฉบับ 2) พ.ศ.2559 กำหนดว่า ทันตแพทย์ที่จบหลังที่พ.ร.บ.ดังกล่าวประกาศใช้ จะได้ใบอนุญาตมีอายุ 5 ปี โดยต้องมีการศึกษาเก็บคะแนนเพื่อนำคะแนนมาต่ออายุใบอนุญาตทุก 5 ปี ส่วนทันตแพทย์ที่มีใบอนุญาตตลอดชีวิตอยู่แล้วยังคงใช้ได้ต่อไป แต่ต้องมีการศึกษาต่อเนื่องตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขตามข้อบังคับทันตแพทยสภาเช่นกัน หากทันตแพทย์เก่าได้คะแนนไม่ถึงจะถูกพักใบอนุญาต ส่วนทันตแพทย์ใหม่หากคะแนนไม่ถึงจะไม่ได้รับการต่ออายุใบอนุญาต ส่วนการเก็บคะแนนสามารถทำได้หลายวิธี เช่น เข้าร่วมประชุม สัมมนาวิชาการในหน่วยงานที่ได้รับการรับรอง การทำงานประจำ หรือเพียงแค่อ่านเอกสารวิชาการ บทความวิชาการผ่านเว็บไซต์ สำหรับทันตแพทย์ที่อยู่ในคลินิกหรืออยู่ในพื้นที่ห่างไกลโดยไม่ต้องเดินทาง และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

ขณะที่จุดเริ่มต้นของการแก้ไขกฎหมายให้ทันตแพทย์ต้องต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทุก 5 ปีนั่น มีลำดับเหตุการณ์ดังนี้

จุดเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2547 (8 พ.ย.) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา แจ้งให้ สธ.พิจารณาเรื่องการต่อใบอนุญาตวิชาชีพทันตกรรม

29 พ.ย.47 สธ.ส่งเรื่องให้ทันตแพทยสภาดำเนินการต่ออายุ

3 ก.พ.48 พล.ท.พิศาล เทพสิทธา นายกทันตแพทยสภาในเวลานั้น ทำหนังสือตอบกลับไปว่า "ยังไม่สมควรให้มีการต่ออายุใบอนญาตวิชาชีพทันตกรรม"

9 เม.ย.50 ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาทวงถามเรื่องการต่ออายุใบอนุญาต

15 ส.ค.50 สธ.ขอให้ทันตแพทยสภาทบทวนเรื่องการต่ออายุใบอนุญาต

24 ส.ค.50 ทันตแพทยสภาแจ้งผลการวินิจฉัย “ไม่ย้อนหลัง ไม่กำหนดวันหมดอายุ ไม่กำหนดเพดานเรื่องเงิน”

19 ม.ค.52 ทันตแพทยสภาเสนอ ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรมไปที่ สธ. ระบุไม่ย้อนหลัง ไม่กำหนดวันหมดอายุ ไม่กำหนดเพดานเรื่องเงินเดือน

18 พ.ย.52 คณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไขให้ย้อนหลัง มีอายุไม่เกิน 5 ปี เก็บค่าต่ออายุไม่เกิน 4,000 บาท

20 เม.ย.54 ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการของ ร่าง พ.ร.บ.ฯ เสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎร

10 พ.ค.54 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร

14 พ.ย.57 ครม.มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ฯ ยืนยันตามมติ ครม. 20 เม.ย.54

2 ธ.ค.57 ครม.มีมติให้ สธ.ไปพิจารณาทบทวนร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสภาวิชาชีพ

15 ม.ค.58 ทันตแพทยสภายืนยันส่ง ร่าง พ.ร.บ.ฯ ต่อ ครม.

19 ม.ค.58 ครม.เห็นชอบต่อ ร่าง พ.ร.บ.ฯ ที่เสนอมา ส่งต่อ สนช.

9 ก.พ.59 สนช.มีมติรับหลักการวาระที่ 1

16 พ.ค.59 พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพทันตกรรม (ฉบับ 2) พ.ศ.2559 ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยระบุเหตุผลในการประกาศ พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า “โดยที่ พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม พ.ศ.2537 มิได้กำหนดอายุใบอนุญาตและการต่ออายุใบอนุญาต เพื่อให้ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมพัฒนาความรู้ความสามารถและติดตามความก้าวหน้าทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง สมควรกำหนดอายุใบอนุญาตและการต่ออายุใบอนุญาต รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติอื่นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.นี้”

12 พ.ย.59 พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพทันตกรรม (ฉบับ 2) พ.ศ.2559 มีผลบังคับใช้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สภาเภสัชฯ เล็งแก้ข้อบังคับ เปิดช่องแสดงเจตนาขอพักใบอนุญาตชั่วคราว

ทันตแพทยสภาเลื่อนใช้ข้อบังคับการศึกษาต่อเนื่องไปอีก 6 เดือน

เลขาฯ เทคนิคการแพทย์ชี้ต่อใบอนุญาตทุก 5 ปีเป็นกระแสสากล

อุปนายกสภาฯ พยาบาลแนะสร้างช่องทางเก็บคะแนนศึกษาต่อเนื่องให้ง่าย-หลากหลาย

‘หมอฟัน’ ยื่นสภาวิชาชีพแจง เก็บคะแนนศึกษาต่อเนื่องไม่ครบ มีสิทธิถูกถอนใบอนุญาต

แพทยสภาชี้ถ้า กม.วิชาชีพเวชกรรมมีผล หมอรุ่นเก่าไม่ศึกษาต่อเนื่องเป็นผู้เชี่ยวชาญไม่ได้