ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทันตแพทยสภาเลื่อนประกาศใช้ข้อบังคับการศึกษาต่อเนื่องออกไปอีก 6 เดือน  เพื่อเปิดให้แสดงความเห็นและนำไปปรับปรุงร่างฯ อีกครั้ง ก่อนดีเดย์ใหม่ 1 ก.ค. 2560 ย้ำระบบเก็บคะแนนเน้นการศึกษาด้วยตนเอง พร้อมดันโรงพยาบาลประจำจังหวัดเป็นเครือข่ายจัดประชุมวิชาการและออกคะแนนได้เลยโดยไม่ต้องวิ่งเข้าส่วนกลาง

ผศ.(พิเศษ) ทพ.ไพศาล กังวลกิจ

ผศ.(พิเศษ) ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา เปิดเผยว่า ทันตแพทยสภาเตรียมเลื่อนการประกาศใช้ข้อบังคับการศึกษาต่อเนื่อง ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2559 จากเดิมวันที่ 1 ม.ค. 2560 ออกไปอีก 6 เดือน เพื่อเปิดโอกาสให้ทันตแพทย์ได้แสดงความคิดเห็นและรวบรวมข้อมูลไปปรับปรุงร่างข้อบังคับอีกครั้ง แล้วจึงให้มีผลบังคับในวันที่ 1 ก.ค. 2560

ทพ.ไพศาล กล่าวว่า ร่างข้อบังคับในขณะนี้ กำหนดให้เก็บคะแนนการศึกษาต่อเนื่องให้ได้อย่างน้อย 100 คะแนนในระยะเวลา 5 ปี หากเก็บคะแนนไม่ถึง ใบอนุญาตก็จะไม่ Active แต่ยังคงเป็นทันตแพทย์เหมือนเดิม ไม่มีการยึดใบอนุญาตคืน ซึ่งก่อนออกข้อบังคับก็มีการรับฟังความเห็น โดยไปรับฟังทั้ง 4 ภาค มีการออกแบบสอบถาม มีคนส่งความคิดเห็นเข้ามา 2,000-3,000 ฉบับ ทันตแพทยสภาก็รวบรวมความคิดเห็นมาจัดทำข้อบังคับ อีกทั้งเปรียบเทียบกับต่างประเทศด้วย เช่น ถ้าเทียบกับมาเลเซีย สิงคโปร์ 100 คะแนนก็ไม่ได้สูงและต่ำกว่าสิงคโปร์

อย่างไรก็ดี เมื่อร่างข้อบังคับออกแล้ว ทันตแพทย์หลายคนไม่สบายใจ กังวลว่าอยู่ต่างจังหวัดต้องเดินทางมาประชุมในกรุงเทพฯ เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย และต้องทิ้งคนไข้ ดังนั้นในช่วงนี้เลยเอาข้อบังคับนี้ขึ้นเว็บไซต์ทันตแพทยสภา ให้เข้าไปดูและวิพากษ์วิจารณ์กัน จากนั้นก็จะเอาข้อวิจารณ์ต่างๆ ไปปรับปรุงต่อไป

“เราพยายามทำความเข้าใจว่าในระบบนี้เราไม่เน้นเรื่องการประชุม แต่เน้นเรื่องการศึกษาด้วยตนเอง โดยทันตแพทยสภาจะเอาบทความขึ้นออนไลน์เยอะๆ เลย เป็นหมวดๆ เช่น หมวดความรู้ใหม่ หมวดการแก้ปัญหาที่เกิดในคลินิก หมวดความรู้ที่ต้องอัพเดททุก 5 ปี บทความด้านจรรยาบรรณ เช่น มีการร้องเรียน มีการตัดสิน ก็จะเอาคดีมาวิเคราะห์ จะได้ไม่ทำผิดพลาดอีก เป็นต้น แบบนี้น่าจะเป็นประโยชน์ บทความยาว 1-2 หน้ากระดาษ A4 ตอบคำถามอีก 5 ข้อก็จะได้ 1 คะแนน พอเราออนไลน์ ทันตแพทย์อยู่ไหนก็เข้ามาดูได้” ผศ.(พิเศษ) ทพ.ไพศาล กล่าว

นอกจากนี้ ในส่วนของการเก็บคะแนนในรูปแบบการประชุมวิชาการ ทันตแพทยสภาพยายามส่งเสริมให้โรงพยาบาลประจำจังหวัดทุกแห่ง เป็นสถาบันเครือข่ายหลักของศูนย์การศึกษาต่อเนื่อง เพื่อที่จะได้จัดประชุมวิชาการแล้วออกคะแนนได้เลยโดยไม่ต้องพึ่งพาส่วนกลาง ทันตแพทย์ก็สามารถประชุมกันในจังหวัดโดยไม่ต้องเข้ามาในกรุงเทพฯ แบบนี้นอกจากได้ความรู้แล้วยังได้พบปะพูดคุย เกิดความรักสามัคคี เป็นโอกาสดีในการพัฒนาวิชาชีพ ประชาชนก็ได้ประโยชน์

ผศ.(พิเศษ) ทพ.ไพศาล กล่าวต่อว่า ขั้นตอนการปรับปรุงข้อบังคับการศึกษาต่อเนื่อง จะเปิดให้แสดงความคิดเห็นในเว็บไซต์ทันตแพทยสภาในช่วงเดือน ม.ค. 2560 จากนั้นเดือน ก.พ.-มี.ค. 2560 จะนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุงร่างข้อบังคับ จากนั้นเสนอรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข และเมื่อรัฐมนตรีลงนามแล้วจะประกาศลงราชกิจจานุเบกษาโดยให้มีผลในวันที่ 1 ก.ค. 2560

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป จะเริ่มเก็บหน่วยคะแนนตามกำหนดเดิม ผู้ที่ร่วมประชุมวิชาการ จะให้เริ่มเก็บคะแนนไปก่อนได้เลย ถือเป็นแต้มต่อก่อนจะเริ่มประกาศใช้ข้อบังคับ โดยในระยะแรก จะเปิดโอกาสให้สมาชิกเข้าไปปรับปรุงข้อมูลส่วนตัวให้เป็นปัจจุบัน เมื่อปรับปรุงแล้ว จะได้รับคะแนนพิเศษ 20 คะแนนโดยอัตโนมัติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“หมอเจตน์” ยันไม่ 2 มาตรฐาน 'แพทย์-ทันตแพทย์' ต่อใบอนุญาตทุก 5 ปี

สภาเภสัชฯ เล็งแก้ข้อบังคับ เปิดช่องแสดงเจตนาขอพักใบอนุญาตชั่วคราว

เลขาฯ เทคนิคการแพทย์ชี้ต่อใบอนุญาตทุก 5 ปีเป็นกระแสสากล

อุปนายกสภาฯ พยาบาลแนะสร้างช่องทางเก็บคะแนนศึกษาต่อเนื่องให้ง่าย-หลากหลาย

‘หมอฟัน’ ยื่นสภาวิชาชีพแจง เก็บคะแนนศึกษาต่อเนื่องไม่ครบ มีสิทธิถูกถอนใบอนุญาต

แพทยสภาชี้ถ้า กม.วิชาชีพเวชกรรมมีผล หมอรุ่นเก่าไม่ศึกษาต่อเนื่องเป็นผู้เชี่ยวชาญไม่ได้