ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รอง นพ.สสจ.ภูเก็ตแจงกรณีไม่ขายบัตรประกันสุขภาพให้แรงงานข้ามชาติตั้งครรภ์ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ หากท้องแล้วทำงานอาจเสี่ยงแท้งได้ ย้ำหลักการต้องซื้อก่อนท้อง ไม่ใช่ท้องแล้วมาซื้อเพื่อใช้สิทธิทำคลอด ชี้ปี 2559 แบกภาระค่ารักษาพยาบาลต่างด้าวกว่า 60 ล้านบาท กระทุ้งขึ้นราคาบัตรประกันสุขภาพเท่าหรือมากกว่างบรายหัวบัตรทอง

ดร.ประพรศรี นรินทร์รักษ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต (รอง นพ.สสจ.ภูเก็ต) เปิดเผยแนวทางการดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ว่า สสจ.ภูเก็ตดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ให้แรงงานข้ามชาติได้รับการตรวจและมีประกันสุขภาพอย่างครอบคลุม ซึ่งในปี 2559 ได้มีการตรวจสุขภาพแรงงานข้ามชาติ 76,927 ราย คนต่างด้าวมีประกันสุขภาพทุกประเภทรวมกัน 72,325 ราย

อย่างไรก็ดี กรณีที่มีแรงงานบางรายไม่สามารถซื้อประกันสุขภาพ หรือถูกปฏิเสธการขายบัตรประกันสุขภาพนั้น ยืนยันว่า สสจ.ภูเก็ต ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของ สธ. โดยมีหลักใหญ่คือ 1.แรงงานดังกล่าวเป็นโรคที่เข้าเกณฑ์ไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนหรือไม่ และ 2.สุขภาพของแรงงานแต่ละคนมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ที่การวินิจฉัยของแพทย์ผู้ทำการตรวจว่าจะขายบัตรประกันสุขภาพให้หรือไม่

ขณะที่ในส่วนของแรงงานข้ามชาติตั้งครรภ์ที่ไม่สามารถซื้อบัตรประกันสุขภาพได้นั้น โดยหลักการแล้วต้องซื้อก่อนตั้งครรภ์ ไม่ใช่ตั้งครรภ์แล้วมาซื้อเพื่อใช้สิทธิในการทำคลอด เช่นเดียวกับแรงงานที่มีบัตรประกันสุขภาพอยู่แล้ว แต่เมื่อตั้งครรภ์แล้วไม่สามารถต่ออายุประกันสุขภาพได้ ซึ่งกรณีนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ เช่น มีความเสี่ยงต่อสุขภาพในการทำงาน ยกของหนักหรือลื่นล้มแล้วอาจเกิดการแท้งได้ เป็นต้น

“เราคงไม่ได้มองในเรื่องเงินเป็นหลัก มีเคสเยอะแยะที่เราสงเคราะห์ด้วยมนุษยธรรม เมื่อมาถึงโรงพยาบาลแล้วเราก็ต้องให้การดูแลอยู่แล้ว ปี 2559 ที่ผ่านมา ทั้งจังหวัดภูเก็ตรับภาระสงเคราะห์ค่ารักษาแรงงานข้ามชาติ เฉพาะผู้ป่วยในก็ประมาณ 60 ล้านบาทยังไม่รวมผู้ป่วยนอก แต่การจะขายหรือไม่ขายบัตรประกันสุขภาพขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ว่าเสี่ยงต่อการทำงานหรือไม่ ดังนั้นซื้อก่อนท้องไม่มีปัญหา แต่ถ้าเดินเข้าโรงพยาบาลเพื่อขอซื้อประกันสุขภาพ 1,600 บาท แต่ค่าทำคลอด 20,000 บาท แบบนี้ผู้ประกอบการควรร่วมรับผิดชอบด้วย ซึ่งทางเราก็ได้ออกไปให้ความรู้ในการวางแผนครอบครัว ว่าเมื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทย และอยากทำงานอย่างเต็มกำลัง ก็ควรป้องกันการตั้งครรภ์” ดร.ประพรศรี กล่าว

ดร.ประพรศรี กล่าวอีกว่า อยากให้มีการพูดคุยในระดับประเทศว่าควรเพิ่มค่าบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวหรือไม่ จะกี่บาทถึงเหมาะสมค่อยวิเคราะห์กันอีกที แต่โดยหลักสามัญแล้วก็ควรมากกว่าคนไทยซึ่งรัฐอุดหนุนอยู่ 3,200 บาท

ด้าน นายสายัณห์ ตันติกิจ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ หัวหน้างานแรงงานต่างด้าว สสจ.ภูเก็ต กล่าวว่า กรณีที่ไม่ขายบัตรประกันสุขภาพให้แรงงานข้ามชาติ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ เช่น ทำงานไม่ได้ คนท้องบางรายอาจเกิดการแท้งขณะทำงาน เช่นเดียวกับแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมายก็จะไม่ขายให้ รวมทั้งเด็กที่พ่อหรือแม่หลบหนีเข้าเมืองมา ก็จะไม่ขายประกันสุขภาพให้เช่นกัน

“คุณต้องมีเอกสารมายืนยันว่าไม่ใช่แรงงานเถื่อน เคยมีเคสที่บางรายหลบหนีเข้าเมืองตามสามีมาทำงานแล้วท้อง ก็ Walk in เข้ามาซื้อประกันสุขภาพ แบบนี้ก็เป็นปัญหา หรือก่อนหน้านี้บางโรงพยาบาลก็ถูกฟ้องว่าไปเก็บค่าทำคลอด ทั้งๆ ที่เราอธิบายกับคนไข้ กับนายจ้าง ตัวแทนแรงงานพม่า และนายหน้าไปแล้วว่าถ้าซื้อบัตรประกันสุขภาพจะไม่คุ้มครองถึงเรื่องค่าทำคลอดนะ คนไข้ก็เข้าใจ แต่อยู่ๆ มีบางส่วนรวมตัวกันจ้างทนายไปฟ้องโรงพยาบาล ทำหนังสือร้องเรียนไปถึงกระทรวงสาธารณสุขว่าจังหวัดภูเก็ตเก็บเงินค่าคลอด ซึ่งหลังจากนั้นทางเราเลยไม่เก็บเลย แม้ตอนนี้จะเคลียร์กันได้ ถอนฟ้องไปแล้ว แต่ก็ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเกิดความเครียดและเสียความรู้สึก” นายสายัณห์ กล่าว

ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โดยหลักการ แรงงานข้ามชาติเมื่อขึ้นทะเบียนแล้ว ได้ใบอนุญาตทำงาน ก็จะเข้าสู่ระบบประกันสังคม แต่ยังมีบางกลุ่มที่ไม่เข้าประกันสังคม ซึ่งก็เป็นเหตุในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ดังนั้นจึงเป็นที่มาของการมีบัตรประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติ ซึ่งกระทรวงฯเปิดให้โรงพยาบาลขายได้ อย่างน้อยก็ได้เงินบางส่วนจากค่าประกัน ดีกว่าต้องสงเคราะห์ทั้งหมด และถ้าเทียบกับงบเหมาจ่ายรายหัวของระบบหลักประกันสุขภาพ (UC) แล้ว แรงงานข้ามชาติก็ยังจ่ายน้อยกว่า

อย่างไรก็ดี โดยหลักการแล้ว คนต่างด้าวที่เข้ามาเพื่อเป็นแรงงานถึงจะซื้อประกันสุขภาพได้ เพราะถือว่าเมื่อเข้ามาทำงานในไทย รัฐก็ต้องให้การสนับสนุน และประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวก็ต้องใช้หลักเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ดังนั้นแรงงานทั้งหมดควรซื้อประกันสุขภาพไม่ว่าจะป่วยหรือไม่ ไม่ใช่จะป่วยแล้วค่อยมาซื้อ แบบนี้ไม่ถูกต้องตามหลักการ ส่วนกรณีหญิงแรงงานข้ามชาติตั้งครรภ์ โดยหลักการก็ควรมาซื้อประกันสุขภาพก่อนท้อง ซึ่งทางโรงพยาบาลก็คงต้องพิจารณาการขายด้วยว่าถ้าขายแล้วได้ 1,600 บาท กับไม่ขายแล้วอาจต้องให้การสงเคราะห์เต็มจำนวน ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของโรงพยาบาลแต่ละแห่ง

“จริงๆ ค่าบัตรประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ควรต้องเก็บมากกว่าค่าเหมาจ่ายรายหัวของคนไทย ตอนนี้รัฐบาลอุดหนุนค่าเหมาจ่ายรายหัวประมาณ 3,000 บาท/คน/ปี ส่วนแรงงานต่างด้าวจ่ายอยู่ที่ 1,600 บาท ซึ่งถ้าจะให้หน่วยบริการไม่ต้องรับภาระมาก อย่างน้อยก็ควรเก็บพอๆ กับคนไทย” นพ.จักรรัฐ กล่าว