ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไม่ผิดคาดเท่าไหร่นักเมื่อได้เห็นบทความที่โยงเรื่องการวิ่งของตูน บอดี้แสลม เข้ากับเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และโจมตีการใช้จ่ายงบของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้ว่าเป็นต้นเหตุทำให้ รพ.ขาดทุน ไม่มีเงินซื้ออุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ ยา กระทั่งต้องมีคนอย่างตูน บอดี้แสลม มาวิ่งระดมทุนเพื่อช่วย รพ.

เตือนใจ สมานมิตร

สิ่งที่ตูนทำนั้นเป็นเรื่องที่ดี และน่ายกย่อง แต่การโยงมาโจมตีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น เป็นเรื่องไม่ถูกต้องแน่นอน การจับแพะชนแกะ ใช้ข้อมูลมาจับโยงมั่วไปหมด โดยลืมมองไปที่แก่นแกนของปัญหาที่แท้จริง ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยพัฒนาไปไม่ถึงไหนเสียที

ดิฉัน ในฐานะประชาชนไทยคนหนึ่งที่ร่วมผลักดันกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปัจจุบันก็ยังมีส่วนร่วมการพัฒนาอยู่อย่างตลอดในนามของเครือข่ายประชาชน ดิฉันเข้าไปร่วมพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพที่ประชาชนเป็นเจ้าของมาโดยตลอด และรู้ดีว่าปัญหาของระบบนี้ คือ รัฐบาลให้งบประมาณไม่พอ คนที่พูดเรื่องนี้ชัดเจนและยืนยันมาตลอด คือ หมอเจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ

แต่ทางออกเรื่องงบไม่พอ ดิฉันไม่เห็นด้วยกับการร่วมจ่ายที่ผลักภาระมาให้ประชาชน ประชาชนร่วมจ่ายแล้วผ่านภาษี ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ได้ให้ของฟรีกับเรา แต่เป็นภาษีที่คืนมาให้ประชาชนในรูปของการลงทุนเพื่อสุขภาพดีของประชาชน

อ่านถึงตรงนี้ เริ่มเข้าใจหรือยังว่าปัญหาของประเทศนี้อยู่ตรงไหน

ปัญหาของประเทศนี้ อยู่ที่การจัดลำดับความสำคัญของการใช้งบประมาณประเทศที่ได้มาจากภาษีประชาชนไม่ถูกต้อง ถ้ารัฐให้ความสำคัญกับเรื่อง การศึกษา สาธารณสุข สาธารณูปโภคเพื่อบริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานเพื่อประชาชน มองเรื่องพวกนี้เป็นการลงทุน งบประมาณจะมีเพียงพออย่างแน่นอน

แต่ทุกวันนี้มันไม่พอเพราะการจัดสรรงบไปให้ความสำคัญกับเรื่องที่ไม่จำเป็น ที่เห็นชัดเจนคืองบประมาณกลาโหมที่พุ่งสูงอย่างน่ากลัว (และน่าแปลกใจที่ไม่มีนักวิชาการคนไหนไปวิเคราะห์ ตีแผ่ตรงนี้ว่ามันเกินความจำเป็นไปหรือไม่ เอามาลงทุนด้านอื่นเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศที่เค้าเสียภาษีจะไม่ดีกว่าหรือ)

ก็ในเมื่อสามารถจัดสรรงบไปซื้ออาวุธได้ แต่เรื่องสุขภาพกลับจะผลักภาระมาให้ประชาชนร่วมจ่าย แบบนี้เรียกว่าลำดับความสำคัญใช้งบประมาณถูกต้องหรือไม่

งบบัตรทองปีล่าสุดได้เพิ่มขึ้นหมื่นล้านบาท นับว่าน้อยนิดมาก แต่ก็ถูกมองว่า จะเป็นภาระประเทศ จะทำให้เกิดความล่มสลาย อีกด้านก็พูดว่า บัตรทองเป็นสาเหตุทำให้ รพ.ล้ม อยู่ไม่ได้ ถ้างบประมาณเพิ่มอย่างเพียงพอจริง คุณว่า รพ.จะล้มไหม รพ.จะขาดทุนไหม

ทุกวันนี้คืองบไม่พอ และมันก็ถูกใช้อย่างจำกัดจำเขี่ยที่สุด ถ้าเงินมีพอ จะไม่มีปัญหาแบบนี้ ตัวอย่างที่เห็นชัดเจน แต่ทำเป็นมองไม่เห็นคือ งบกองทุนรักษาข้าราชการส่วนท้องถิ่นที่รัฐบาลให้ สปสช.ดูแลอยู่ จ่ายแบบปลายเปิด ไม่ใช่ปลายปิดแบบบัตรทองด้วย แถมยังได้สิทธิคงเดิมแบบข้าราชการทุกอย่าง ผลจากการบริหารจัดการกลับพบว่าใช้งบน้อยกว่าเดิมที่แต่ละ อบต./เทศบาลเคยจัดทำด้วยซ้ำ รูปแบบนี้ประสบความสำเร็จดี จนกลุ่มอาจารย์พนักงานมหาวิทยาลัยเรียกร้องให้ สปสช.เป็นผู้ดูแลกองทุนแบบนี้บ้าง

เรื่องนี้แปลว่าอะไร

แปลว่า ถ้าเงินพอ ไม่มีปัญหากระทบถึง รพ. ไม่มีปัญหากระทบถึงการให้การรักษาประชาชนแน่นอน

แล้วที่บอกว่า สปสช.บริหารแย่ จ่ายเงินให้ รพ.ไม่ครบตามที่เรียกเก็บ จนทำให้ รพ.ขาดทุน ก็เป็นเรื่องที่ตั้งโจทย์ผิดอย่างยิ่ง

ก็ด้วยเงินที่ได้มามีเท่านี้ ถ้าจ่ายตามที่ รพ.เรียกเก็บแบบที่สิทธิข้าราชการเป็นอยู่ตอนนี้ ที่งบพุ่งสูงทุกปี จนรัฐบาลมีแนวคิดให้บริษัทประกันเอกชนมารับไปดูแล ซึ่งก็ถูกคัดค้านอย่างหนักในตอนนี้ ถ้า สปสช.ใช้วิธีจ่ายแบบนี้บ้าง จะเป็นอย่างไร แน่นอน เงินไม่พอจ่าย และก็จะมีแค่ประชาชนส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้ใช้สิทธิ การมีแค่ประชาชนส่วนน้อยที่ใช้สิทธิ์ไม่ใช่หลักการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เน้นเรื่องการเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข แต่เรื่องนี้ก็จะมีคนบอกว่า ก็ให้เฉพาะคนจนสิ ทำไมต้องไปช่วยคนไม่จนด้วย

เรื่องนี้ขอยกตัวอย่างประกอบว่า ดิฉันรู้จักคนหลายคนที่เป็นชนชั้นกลาง และเขาเหล่านั้นเพิ่งได้มาเป็นชนชั้นกลางเมื่อสำเร็จการศึกษาและมีอาชีพที่ดี พ่อแม่ของเขาเหล่านั้น บ้างก็ทำนา บ้างก็รับจ้าง เรียกว่าเป็นกลุ่มชนชั้นล่าง แต่โชคดีที่การศึกษาทำให้ลูกของพวกเขาเมื่อเติบโตขั้นสามารถยกระดับชีวิตตัวเองขึ้นมาเป็นชนชั้นกลางได้ ไม่ จน เจ็บ แบบที่พ่อแม่ตัวเองเป็นมา

เมื่อถึงระยะหนึ่ง พ่อแม่ชนชั้นกลางกลุ่มนี้เจ็บป่วย ถ้าเป็นโรคเล็กๆ น้อยๆ เค้าก็ไม่ใช่สิทธิบัตรทอง จ่ายเงินรักษาเอง แต่ถ้าพ่อแม่ป่วยเป็นโรคหัวใจ มะเร็ง หรือเป็นโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่ต้องใช้เงินเยอะในการรักษา เค้าต้องมาใช้บัตรทอง เพราะถ้าจ่ายเอง ไม่นานชนชั้นกลางกลุ่มนี้คงต้องกลับมาเป็นชนชั้นล่าง เพราะมีเงินไม่พอจะจ่าย

คราวนี้เข้าใจคำว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือยัง เข้าใจแล้วหรือยังว่ามันมีไว้เพื่อการนี้แหละ เพื่อไม่ให้คนต้องจน ต้องล้มละลาย เพราะจ่ายค่ารักษา มีบ้าน ขายบ้าน มีรถ ขายรถ มาใช้รักษาพ่อแม่ผู้มีพระคุณ จนเกิดเป็นคนจนด้วยเหตุที่ไม่น่าเกิด

งบประมาณประเทศจึงควรถูกใช้เพื่อเหตุแบบนี้แหละ ลดความยากจน ลงทุนให้ประชาชนมีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ช่วยเค้าให้มีกำลังพอที่จะยกระดับเลื่อนชนชั้นตัวเองได้ ไม่ใช่แค่แจกเงินเป็นครั้งเป็นคราว แบบนั้นไม่เกิดประโยชน์อะไร คำกล่าวที่ว่า “นักการเมืองยื่นปลา พระราชายื่นเบ็ด” คงจะเข้าใจดีว่าหมายถึงอะไร หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็เหมือนเบ็ด

ดังนั้น จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าเสียงที่คอยจ้องจับผิดโจมตีบัตรทองว่าเป็นภาระ ให้แบบถ้วนหน้า ไม่เลือกยากดีมีจน ทำให้ รพ.ขาดทุน ประเทศอยู่ไม่ได้ จะเปลี่ยนมาเป็นเสียงเรียกร้องให้รัฐจัดสรรงบประมาณจากภาษีประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ก็มีคนธรรมดาแบบตูนที่รณรงค์ให้ประชาชนช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่างๆ ด้วย ซึ่งก็เป็นตัวอย่างที่ดีให้เยาวชนไทยไปด้วย       

อีกประเด็นที่อยากชี้แจงคือ เงินที่รัฐบาลให้ สปสช.นั้น เค้าเอาไว้จ่ายเป็นค่ารักษาให้ประชาชน ส่วนการลงทุนซื้อเครื่องมือแพทย์ รัฐบาลจัดเอาไปอยู่ในงบลงทุนที่ให้กระทรวงสาธารณสุขไปลงทุนใน รพ.ที่ สธ.เป็นเจ้าของ ซึ่งเรื่องนี้ปลัด สธ.ก็ออกมาขอบคุณตูนที่ช่วยเหลือ รพ.

ผู้เขียน : เตือนใจ สมานมิตร ผู้ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน จ.ลพบุรี