ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตลอดปี 2559 นับเป็นอีกปีหนึ่งที่มีความเคลื่อนไหวด้านสาธารณสุขและระบบสุขภาพประเทศที่สำคัญ ซึ่งมีหลายเหตุการณ์ที่น่าสนใจและยังคงต้องติดตามต่อเนื่องในปีต่อไป สำนักข่าว Health focus จึงได้ไล่เรียงสรุป 10 ประเด็นเด่น ประเด็นร้อน เพื่อนำเสนอต่อท่านผู้อ่านได้ย้อนหลังเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ดังนี้

1.ผลสำเร็จไทย ยุติติดเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูก ต่ำกว่าร้อยละ 2 ที่ 1 เอเชีย ที่ 2 ของโลก

นับเป็นอีกหนึ่งข่าวดีในความสำเร็จของประเทศไทย ภายหลังจากที่ได้ดำเนินงานเพื่อลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีมาอย่างต่อเนื่อง  รวมถึงการลดการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก โดยการให้ยาป้องกันในหญิงตั้งครรภ์ โดยในปี 2559 นี้ ไทยได้รับเกียรติบัตรจากองค์การอนามัยโลก รับรองว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิสจากแม่สู่ลูกตามเป้าหมายองค์การอนามัยโลกคือมีอัตราต่ำกว่าร้อยละ 2 ซึ่งเป็นประเทศแรกของเอเชียและเป็นประเทศที่ 2 ของโลก หลังจากที่ประเทศคิวบาได้รับรางวัลนี้เมื่อปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข นำโดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ได้นำทีมเป็นตัวแทนรับมอบเกียรติบัตร ในการประชุมระดับสูงของสมัชชาแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยโรคเอดส์และเอชไอวี (United Nations General Assembly High-level Meeting on HIV/AIDS) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

สำหรับปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในครั้งนี้ เกิดจากผลการดำเนินงานใน 4 เรื่องสำคัญ คือ

1.โครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณสุขของประเทศ ประชาชนสามารถเข้ารับบริการได้

2.การวิจัยให้ยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกโดยสภากาชาดไทยอย่างจริงจัง

3.มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารองรับค่ารักษาพยาบาล ทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาอย่างครอบคลุมและทั่วถึง รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอชไอวี ทั้งมีการจัดตั้งกองทุนเอดส์เพื่อดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี

และ 4.กลไกภาคประชาสังคม ที่ขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ จนสำเร็จ ทั้งนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการคุ้มครองสิทธิ์หญิงติดเชื้อที่ตั้งครรภ์      

2. เตรียมชง ครม.โอนกองทุนรักษา ขรก. 7 หมื่นล้าน ประกันเอกชนบริหาร

นับเป็นประเด็นร้อนที่นำโด่งก่อนสิ้นปีนี้ หลังจากที่เริ่มมีความชัดเจนและเป็นไปได้ที่กรมบัญชีกลางจะโอนการบริหารกองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการให้กับบริษัทประกันเอกชนเป็นผู้บริหาร เพื่อมุ่งเป้าคุมค่ารักษาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมีจำนวนสูงกว่า 7 หมื่นล้านบาทแล้ว นอกจากมีการเชิญและได้รับการตอบรับจากสมาคมประกันวินาศภัยไทยและสมาคมประกันชีวิตไทยแล้ว ยังได้ไฟเขียวจาก นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่สนับสนุน

ทันทีที่ข้อเสนอนี้ปรากฎ ได้เกิดเสียงส่วนใหญ่ที่ต่างออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วย เพราะต่างหวั่นซ้ำรอยกับกองทุนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถที่มอบให้บริษัทประกันเอกชนบริหาร นอกจากมีการเบิกจ่ายที่ยุ่งยาก ซับซ้อนแล้ว บริษัทเอกชนยังใช้งบบริหารถึงร้อยละ 50 ของกองทุน ซึ่งกำไรมหาศาล ขณะที่ผู้บาดเจ็บต้องเบิกจ่ายจากกองทุนรักษาพยาบาลอื่นแทน โดยมีการตั้งข้อสังเกตผลประโยชน์ในเรื่องนี้

ขณะที่ในเวทีระดมความเห็นในเรื่องนี้ ซึ่งจัดโดยกรมบัญชีกลาง ตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนแพทย์ รวมถึงตัวแทนข้าราชการ ต่างไม่เชื่อมั่นการดำเนินงานของบริษัทประกัน เนื่องจากในการนำเสนอข้อมูลการดำเนินงานโดยสมาคมประกันยังไม่มีความชัดเจน  เพียงแต่ขอทดลองจัดระบบและบริหารในระยะเวลา 2 ปี อีกทั้งต่างเป็นห่วงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเงินที่จะไหลออกจากกองทุนสู่บริษัทประกันเพื่อเป็นค่าบริหาร ที่อาจส่งผลต่อการดำเนินโรงพยาบาลรัฐได้ เนื่องจากในการบริหารงบประมาณของโรงพยาบาล ต้องเอื้อกันทั้ง 3 กองทุน งานนี้ต้องรอดูว่ากรมบัญชีกลางจะเดินหน้าต่อหรือไม่

3. แพทยสภา เงิบ หลังแถลง กม.คุมการตลาดนมผง สุดโต่ง ทำร้ายเด็กไทย

เป็นประเด็นร้อนก่อนส่งท้ายปีเก่าแซงโค้งข่าวอื่น จากกรณีแพทยสภานำโดย นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ร่วมกับราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เปิดแถลงคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ.... มีเนื้อหาควบคุมโฆษณาและการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับเด็กอายุ 0-3 ขวบ ที่อยู่ในขั้นพิจารณาสภานิติบัญญัติ โดยกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสมาพันธ์เครือข่ายนมแม่แห่งประเทศไทยเป็นผู้นำเสนอ เนื่องจากเห็นว่าควรควบคุมการโฆษณาและการตลาดในช่วงอายุ 0-1 ปีเท่านั้น เพราะเด็กหลัง 1 ปีต้องได้รับอาหารอื่น โดยดื่มนมวันละ 2-3 แก้ว อีกทั้งระบุว่า เด็กบริโภคนมแม่นานมากเกินไปอาจมีผลเสียต่อการเจริญเติบโตและสติปัญญาทารกและเด็กได้ 

หลังการแถลงข่าวนี้ ได้มีกระแสต่อต้านอย่างแรง โดยเฉพาะจากเครือข่ายนมแม่ที่ต่างออกมายืนยันคุณประโยชน์นมแม่ที่เป็นผลบวกต่อการพัฒนาการเด็ก ซึ่งเป็นไปตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกกำหนด ขณะเดียวกันยังมีเสียงสนับสนุนเดินหน้าออกกฎหมายต่อ ทั้งจาก รมว.สาธารณสุข อธิบดีกรมอนามัย ที่ต่างยืนยันว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ห้ามขาย ห้ามแจก เพียงแต่ห้ามโฆษณาและทำการตลาดนมผงและอาหารเสริมในช่วง 0-3 ปีเท่านั้น

ขณะเดียวกันถูกตั้งข้อสังเกตในเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนและความพยายาในการวิ่งล้มกฎหมายของบริษัทนมผงที่มีมูลค่านับหมื่นล้าน ส่งผลให้แพทยสภาต้องออกแถลงการณ์ภายหลังว่า เป็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งแถลงข่าวเป็นเพียงการให้ความเห็นต่อประชาชน โดยข้อถกเถียงทางวิชาการให้นำเสนอต่อ สนช.   

4.ผลศึกษา 10 ปีนักสาธารณสุขจบใหม่ล้นงาน / สธ.เคาะค่าตอบแทน ฉบับ 11 -12

ข่าวนี้ต้องบอกว่ากระทบวิชาชีพสาธารณสุขอย่างแรง ทั้งกลุ่มนักวิชาการสาธารณสุข และเจ้าพนักงานสาธารณสุข หลังผลการศึกษาวางแผนกำลังด้านสุขภาพของประเทศไทยในทศวรรษหน้า (พ.ศ.2560-2569) คณะอนุกรรมการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพนำเสนอต่อคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ พบว่านอกจากการผลิตแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล และวิชาชีพอื่นๆ จะเป็นไปอย่างเหมาะสมและเพียงพอแล้ว วิชาชีพสาธารณสุขอนาคตยังเกินความต้องการ ปัจจุบันมีประมาณ 54,000 คน ขณะที่ความต้องการ 10 ปีข้างหน้า หรือปี 2569 อยู่ที่ 24,000-30,000 คน แต่ด้วยอัตราผลิตปัจจุบันมีกว่า 90 สถาบันการศึกษา เฉลี่ยปีละ 26,000 คน คาดการณ์ได้ว่าจะมีนักสาธารณสุขจบการศึกษาอีกกว่า 267,000 คน ขณะที่ความต้องการวิชาชีพสาธารณสุขลดลงตามการเปลี่ยนแปลง จึงเสนอให้ทบทวนการผลิต

ทันทีได้มีเสียงค้านทั้งจากสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข และเครือข่ายวิชาชีพสาธารณสุข โดยขอให้ทบทวนการศึกษาดังกล่าว ยืนยันว่ายังคงเป็นวิชาชีพที่ขาดแคลน ด้วยบริบท หน้าที่ และภาระงานที่เปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าปัจจุบันพื้นที่ชนบทได้เริ่มหายไปและมีความเป็นเมืองมากขึ้น แต่งานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคยังคงอยู่ อีกทั้งผลการศึกษานี้ยังย้อนแย้งกับนโนบายหมอครอบครัว รวมทั้งแผนสุขภาพ 20 ปีกระทรวงสาธารณสุข และรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติที่เน้นการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ดังนั้นวิชาชีพสาธารณสุขจึงยังจำเป็นและขาดแคลนในระบบอยู่

ขณะที่ค่าตอบแทนที่ดูส่อเค้าวุ่นไม่เลิก ปีนี้กระทรวงสาธารณสุขเคาะจนสรุปเป็นค่าตอบแทนฉบับที่ 11 และ 12 แม้ว่าจะไม่ได้อัตราตามที่แต่ละวิชาชีพเสนอขอก่อนหน้านี้ แต่ทุกวิชาชีพต่างปรับเพิ่ม ช่วยลดช่องว่างได้ โดยแพทย์/ทันตแพทย์ เริ่มที่ 10,000 บาท พยาบาลเริ่มที่ 2,200 บาท สหสาขาวิชาชีพเริ่มที่ 2,000 บาท และสายสนับสนุนปริญญาตรี รวมถึงวิชาชีพสาธารณสุข เริ่มต้น 1,200 บาท ซึ่งทุกวิชาชีพจะปรับไปตามจำนวนอายุงานและพื้นที่ โดยในส่วนพื้นที่เสี่ยงภัยยังคงค่าตอบแทน 4 กลุ่มวิชาชีพเดิม ไม่มีวิชาชีพสาธารณสุขที่ยังคงผลักดันต่อ

5. ม.44 ยกเลิก 5 ข้อห้ามในกองทุนบัตรทอง พร้อมคืนสิทธิคนพิการใช้บัตรทองได้

ประเด็นนี้ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว หลังจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถูกรุกตรวจสอบอย่างหนัก ทั้งจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) โดยมีการตั้งข้อสังเกตการใช้จ่ายผิดวัตถุประสงค์กองทุนฯ ใน 5 ประเด็น ซึ่งภายหลังส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความแม้ว่าจะมีการยืนยันผลการตรวจสอบดังกล่าว แต่กลับส่งผลกระทบต่อหน่วยบริการ และการดำเนินงานต่างๆ ในการจัดบริการสุขภาพให้กับประชาชน ซึ่งรวมถึงผลกระทบที่เกิดต่อผู้ให้บริการเนื่องจากกองทุนฯ ไม่สามารถเยียวยากรณีเกิดความเสียหายจากการให้บริการได้

จากปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 จึงได้ออกประกาศโดยอาศัยอำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แก้ไขปัญหาขัดข้องต่างๆ จากผลการตีความกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้ สปสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้ และให้มีผลทันที

ทั้งนี้ผลการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา มี 5 ประเด็น ตามผลการตรวจสอบของ สตง.คือ

1.การจ่ายเงินกองทุนช่วยเหลือผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการขัดต่อวัตถุประสงค์ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

2.การที่หน่วยบริการนำงบเหมาจ่ายรายหัวไปเป็นค่าใช้จ่ายประจำ เป็นการใช้จ่ายเงินกองทุนนอกขอบวัตถุประสงค์ 

3.บอร์ด สปสช.มีอำนาจจ่ายเงินจากกองทุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ หรือองค์กรเอกชน (ภาคประชาชน) ได้ แต่ไม่ตอบตรงๆ ว่าสามารถจ่ายให้หน่วยงานรัฐ เช่น องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และหน่วยงานในสังกัด สธ. เช่น กรมต่างๆ หน่วยงานในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้หรือไม่

4.การใช้จ่ายเงินกองทุนส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของ สปสช.สาขาจังหวัด สสจ.เป็นการใช้จ่ายนอกขอบวัตถุประสงค์ 

และ 5.การจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานให้กับหน่วยบริการที่เกี่ยวข้องกับล้างไตผ่านทางช่องท้อง เป็นการใช้จ่ายนอกขอบวัตถุประสงค์

ขณะเดียวกันในส่วนของ นพ.วินัย สวัสดิวร อดีตเลขาธิการ สปสช. ซึ่งถูกมาตรา 44 สั่งย้ายไปช่วยราชการสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2558 โดยไม่มีการตั้งคณะกรรมการสอบ และนพ.วินัย ได้ทำหนังสือชี้แจงและขอความเป็นธรรมไปยังหน่วยงานต่างๆ แต่ไม่เป็นผล กระทั่งหมดวาระดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 10 เดือน 21 วัน

หลังพ้นตำแหน่ง นพ.วินัย จึงได้ทำหนังสือเพื่อขอความเป็นธรรมอีกครั้ง โดยระบุว่า คำสั่งดังกล่าวทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดว่าตนเองกระทำการทุจริตต่อหน้าที่ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ด้านความโปร่งใสในการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพ โดยนายกรัฐมนตรี จึงสั่งการให้ ศอตช.ทำหนังสือแจ้ง นพ.วินัย โดย ศอตช.ได้ทำหนังสือที่ ปท. 0030.1/135 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2559 ซึ่งระบุให้คำสั่งการระงับการปฎิบัติหน้านี้หมดไป และให้ถือว่าเรื่องนี้จบลง ไม่ปรากฎพบว่ามีการบริการงานที่ไม่โปร่งใสอันกระทบต่อกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และให้ นพ.วินัย ยังใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป

นอกจากนี้ในปีนี้ คสช.ยังมีประกาศมาตรา 44 เพื่อคืนสิทธิรักษาพยาบาลกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการคืนสิทธิให้คนพิการ โดยนายกรัฐมนตรีลงนามเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2559 เพื่อให้คนพิการซึ่งมีงานทำซึ่งต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยรวมถึงสิทธิการรักษาพยาบาล สามารถขอใช้สิทธิรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้มีคนพิการและเครือข่ายคนพิการได้ร้องเรียน เพราะสิทธิรักษาพยาบาลของคนพิการที่ได้รับในระบบประกันสังคมนั้น ไม่ครอบคลุมเท่า ทั้งยังจำกัดหน่วยบริการที่ลงทะเบียนเท่านั้น ส่งผลต่อการเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุข อย่างไรก็ตามมีคนพิการส่วนหนึ่งที่ใช้สิทธิรักษาในระบบประกันสังคมก่อนหน้านี้ ไม่ต้องการโอนย้ายตามคำสั่ง ม.44 นี้ เพราะมีความสะดวกต่อการรับบริการมากกว่า ดังนั้นในภายหลังจากการหารือระหว่างกระทรวงแรงงานและสวัสิการสังคม สำนักงานประกันสังคม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเครือข่ายคนพิการ จึงเปิดให้คนพิการเป็นผู้เลือกใช้สิทธิเอง ทั้งนี้เพื่อคงให้คนพิการเข้าถึงการรักษาอย่างทั่วถึง

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ

6.เลือกเลขาธิการ สปสช.วุ่น “หมอประทีป” ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอนมติ ไม่รับรองเลขาฯ

หลังการจัดตั้ง “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่ง” เพื่อบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตลอดระยะเวลา 15 ปี ในการคัดเลือกเลขาธิการ สปสช.ครั้งนี้ นับว่ามีความวุ่นวายและยาวนานที่สุด โดยมีการสรรหากันถึง 2 รอบ เริ่มต้นกระบวนการสรรหารอบแรกเมื่อเดือนเมษายน 2559 จนถึงการสรรหาในรอบที่ 2 ซึ่งล่วงเลยมาถึงปี 2560 แล้วยังไม่แล้วเสร็จ ยังคงไม่ได้ผู้ที่มาดำรงตำแหน่งนี้

ทั้งนี้ในการสรรหารอบแรกนั้น นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรองเลขาธิการ สปสช. ได้ลาออกจากตำแหน่งรักษาการเลขาธิการ เพื่อลงสมัครรับการสรรหาด้วย ซึ่งมีกระแสต้านจากอีกฝ่าย โดยมี นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นคู่แข่งสำคัญ แต่ช่วงของการตรวจสอบคุณสมบัติพบว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติต้องห้ามรับการสรรหาและกฤษฎีกาได้ยืนยัน ส่งผลให้คณะกรรมการสรรหาเลขาธิการ สปสช.ฯ ต้องนำรายชื่อ นพ.ประทีป เสนอต่อบอร์ด สปสช.เพื่อรับรอง และระหว่างนั้นได้เกิดเหตุวุ่นวายของการลงคะแนน เนื่องจากมีบัตรลงคะแนน 1 ใบที่กาเครื่องหมายไม่ถูกต้องยังช่องไม่รับรอง ขณะที่คะแนนระหว่างผู้ให้การรับรองกับไม่รับรองมีเท่ากัน ทำให้ต้องมีการโหวตรับรองบัตรดังกล่าว ผลปรากฎว่าเสียงส่วนใหญ่รับรองบัตรลงคะแนนดังกล่าว ทำให้มติบอร์ด สปสช.ไม่รับรอง นพ.ประทีป ให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.

ต่อมา นพ.ประทีป ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในภายหลัง เพื่อขอความเป็นธรรมให้เพิกถอนมติบอร์ด สปสช.นี้ พร้อมขอให้มีการคุ้มครองฉุกเฉิน เนื่องจากจะกระทบต่อการเยียวยาในภายหลัง ซึ่งศาลปกครองได้มีคำสั่งไม่คุ้มครองฉุกเฉิน   

ขณะที่การสรรหาเลขาธิการ สปสช.ในรอบที่ 2 นี้ ได้มีการตั้งคณะกรรมการสรรหาชุดใหม่ โดยในส่วนตัวแทนภาคประชาชนไม่เข้าร่วม เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการรับรองคะแนนข้างต้น จึงมีการตั้งกรรมการตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแทน ทั้งนี้ในการรับสมัครครั้งนี้ มีผู้สมัครรับการสรรหาทั้งสิ้น 12 คน ในจำนวนนี้มี 6 คน ได้ส่งให้กฤษฎีกาตีความคุณสมบัติต้องห้าม ซึ่งมีรายชื่อ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ สปสช. และ นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผอ.รพ.รามาธิบดี ที่เป็นตัวเต็งทั้งจากฝั่ง สปสช. และ สธ. ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งคงต้องติดตามต่อในปี 2560 นี้

ทพ.ไพศาล กังวลกิจ

7.ทันตแพทยสภาเลื่อนบังคับใช้เกณฑ์การศึกษาต่อเนื่องไปอีก 6 เดือน

หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านความเห็นชอบ พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม พ.ศ. 2559 ที่ให้ทันตแพทย์ต้องมีการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรมทุก 5 ปีเป็นสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ 

ภายหลังที่กฎหมายบังคับใช้ ทันตแพทยสภาได้มีการจัดทำร่างประกาศใช้ข้อบังคับการศึกษาต่อเนื่องที่ยึดโยงกับการต่ออายุใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทันตกรรมทุก 5 ปี โดยกำหนดให้ทันตแพทย์ต้องเก็บคะแนนการศึกษาต่อเนื่องให้ครบ 100 คะแนนเพื่อต่อใบอนุญาต ปรากฎว่าได้มีทันตแพทย์บางกลุ่มได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านร่างประกาศฉบับนี้ เนื่องจากมองว่ามีการกำหนดลงโทษที่รุนแรงกรณีทันตแพทย์ที่เก็บคะแนนสะสมไม่ครบตามกำหนด จะไม่สามารถต่อใบอนุญาตเพื่อรักษาผู้ป่วยได้

จากสถานการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลให้ ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา ต้องประกาศเลื่อนบังคับใช้หลักเณฑ์การศึกษาต่อเนื่องไปอีก 6 เดือน จากเดิมกำหนดในวันที่ 1 ม.ค. 2560 เป็น 1 กรกฎาคม 2560 แทน โดยจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง หลังจากที่กระบวนการจัดทำหลักเกณฑ์ก่อนหน้านี้ได้เปิดรับฟังความเห็น 4 ภาคไปแล้ว ทั้งนี้เพื่อนำไปปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่อไป พร้อมยืนยันว่า กรณีที่ทันตแพทย์เก็บคะแนนศึกษาต่อเนื่องไม่ครบนั้น ใบอนุญาตเพียงแต่ไม่ Active เท่านั้น แต่ทันตแพทย์ท่านนั้นยังคงเป็นทันตแพทย์อยู่ นับเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องติดตามในปี 2560 นี้

8.เสนอตั้งคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ดันแก้ กม.บัตรทอง

หลังจากที่ได้มีการผลักดันมานานเพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุนสุขภาพ รวมถึงเพื่อให้การดำเนินงานของหน่วยงานด้านสุขภาพเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีข้อเสนอการตั้ง “คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ” (National Health Policy Board: NHPB) เพื่อกำกับนโยบายและทิศทางทั้งหมด โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดทำร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปการสาธารณสุข 

ทั้งนี้การจัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้ สอดคล้องกับหนึ่งในข้อเสนอเพื่อพิจารณาขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสาธารณสุขด้านการอภิบาลระบบสุขภาพ ซึ่งจัดทำโดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบสาธารณสุขด้านการอภิบาลระบบสุขภาพ ที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน ซึ่งได้รับมอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 4 คณะกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูปด้านสาธารณสุข

สำหรับในการจัดตั้งคณะกรรมการชุดนี้ ได้มีความเป็นห่วงในเรื่องความเป็นอิสระที่ต้องไม่อยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากเป็นหน่วยงานรัฐทำหน้าที่บริหารโรงพยาบาลกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ จะมีปัญหาในเรื่องของผู้ประโยชน์ทับซ้อน ทำให้ไม่เกิดความเป็นการในการกำหนดนโยบายอย่างแท้จริง

ส่วนการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เกิดความยั่งยืน โดยเฉพาะในด้านงบประมาณนั้น ตามที่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ได้มอบให้คณะกรรมการจัดทำแนวทางการระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธานกรรมการ ร่วมหาทางออก โดยได้มีการจัดทำข้อเสนอ SAFE หรือ Sustainability, Adequacy, Fairness และ Efficiency และต่อมาในช่วงต้นปี 2559 ได้มีการตั้ง นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล เป็นคณะกรรมการเพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และได้ตั้งคณะทำงานของคณะกรรมการฯเพิ่มขึ้น 4 ชุด เพื่อพิจารณาในประเด็นต่างๆ ประกอบด้วย 1.ยั่งยืนและเพียงพอ 2.ความเป็นธรรม 3.จัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และ 4.ให้บริการแบบมีประสิทธิภาพ ซึ่งคงต้องติดตามต่อไป

อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในปีที่ผ่านมาได้มีข้อเสนอเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 หลังจากที่บังคับใช้ยาวนานถึง 15 ปี เพื่อปรับจุดบกพร่องและให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหนึ่งในข้อเสนอแก้ไขที่ดูเป็นประเด็นมากที่สุด คือการเสนอแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว จาก นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้สะท้อนตัวเลขค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่แท้จริงในการเสนอของบประมาณ ไม่เพียงแต่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาโรงพยาบาลขาดทุน แต่ยังทำให้มีเงินเพิ่มเข้าสู่ระบบ ทำให้การบริการมีคุณภาพมากขึ้น

แต่ทั้งนี้ในประเด็นนี้ถูกแย้งเนื่องจากงบเงินเดือนในเหมาจ่ายรายหัว ยังแฝงด้วยค่าจ้างในส่วนของลูกจ้างชั่วคราว การล่วงเวลาต่างๆ ในหน่วยบริการ สธ.ด้วย ซึ่งที่ผ่านมา สธ.ไม่สามารถเสนอขอเพิ่มจากสำนักงบประมาณได้ หากมีการแยกเงินเดือนจะทำให้เงินเหล่านี้หายไปจากระบบสาธารณสุขประเทศกว่า 2 หมื่นล้านบาท

9.สปส.ขยายสิทธิทำฟัน 900 บาท พร้อมเพิ่มตรวจสุขภาพให้ผู้ประกันตน

ในปี 2559 นี้ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้มีการขยายอัตราการเบิกจ่ายค่าทำฟันให้กับผู้ประกันตน จาก 600 บาท เป็น 900 บาท เริ่มเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2559 นับเป็นการขยับเพิ่มขึ้นในรอบหลายปีที่ผ่านมา ที่มาเกิดจากความร่วมมือของสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศ เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) และเครือข่าย ฟ. ฟัน สร้างสุข รวมถึงกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพพร้อมเครือข่าย ได้ร่วมกันเรียกร้อง สปส.ปรับปรุงสิทธิทันตกรรมให้เทียบเท่ากับระบบหลักประกันสุขภาพอื่น โดยเฉพาหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมกันนี้ยังได้เปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อผ่าน www.change.org  เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า ผู้ประกันตนมีปัญหาการเข้าถึงบริการทันตกรรม จากอัตราการเบิกจ่ายที่น้อยมากเพียง 300-600 บาทต่อปี หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายที่ยุ่งยาก ทั้งผู้ประกันตนยังต้องสำรองจ่ายไปก่อน  

อย่างไรก็ตามจากประกาศขยายอัตราการเบิกจ่ายทันตกรรมใหม่นี้ สปส.ได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายราคากลางในแต่ละหัตถการ เช่น ค่าขูดหินปูน 400 บาท ค่าอุดฟัน 1 ด้าน 300 บาท สองด้านไม่เกิน 450 บาท ที่ทำให้เกิดการลดทอนสิทธิมากกว่า เพราะแม้จะมีการขยายเพดาน 900 บาทกลับไม่สามารถเบิกได้ทั้งหมดที่ต่างจากเดิม ดังนั้นจึงมีข้อเรียกร้องให้ สปส.ยกเลิกหลักเกณฑ์นี้ ซึ่งต่อมา สปส. โดยคณะกรรมการการแพทย์จึงได้ประกาศให้ยกเลิกหลักเกณฑ์เบิกจ่ายนี้ พร้อมทั้งให้ผู้ประกันตนที่เบิกจ่ายไม่ครบ 900 บาท สามารถขอยื่นเพิ่มเติมได้

ขณะเดียวกัน สปส. ยังได้นำร่องการใช้สิทธิทันตกรรม โดยไม่ต้องสำรองจ่ายค่าบริการทันตกรรม ในกรุงเทพมหานคร 12 เขตพื้นที่ และ 18 จังหวัด (ปทุมธานี อ่างทอง สมุทรปราการ สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม ชุมพร พังงา สตูล จันทบุรี บึงกาฬ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร ชัยภูมิ เชียงใหม่ แพร่ อุตรดิตถ์ อุทัยธานี) เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้อง เพราะเป็นอุปสรรคที่ทำให้ผู้ประกันตนที่ไม่มีเงินสำรองจ่ายเข้าไม่ถึงบริการเช่นกัน ทั้งนี้การดำเนินนโยบายนี้มีอุปสรรคมาก เพราะหน่วยบริการส่วนใหญ่เป็นคลินิกเอกชน ยังไม่มีระบบรองรับ ขณะที่การเบิกจ่ายยังจำกัดเพดาน 900 บาท จึงยังเป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกัน ซึ่งยังต้องติดตามต่อไป

นอกจากนี้ในปีนี้ สปส.ยังได้เพิ่มสิทธิการตรวจสุขภาพให้กับผู้ประกันตน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ควบคู่กับการขยายสิทธิเบิกจ่ายทันตกรรมข้างต้น เพื่อดูแลสุขภาพผู้ประกันตนก่อนป่วย เริ่มต้นในวันที่ 1 ม.ค. 2560 โดยรูปแบบในการตรวจสุขภาพและคัดกรองโรคจะแตกต่างกันไปในผู้ประกันตนแต่ละกลุ่ม ทั้งนี้เพื่อกำหนดให้การตรวจสุขภาพเหมาะสมแต่ละกลุ่มของผู้มีสิทธิ์ โดยสิทธิประโยชน์นี้ได้มีการเรียกร้องให้ สปส.เพิ่มเติมเช่นเดียวกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

ขอบคุณภาพจาก www.kapook.com

10. สบส.สั่งปิด รพ.เดชา

นับเป็นข่าวใหญ่ในแวดวงสาธารณสุข เพราะเป็นครั้งแรกที่ รพ.เอกชน มีชื่อถูกสั่งปิดดำเนินการจากเกณฑ์บริการที่ไม่ได้มาตรฐานตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล ซึ่งเป็นข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ โดย นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ในขณะนั้น เปิดเผยว่า การดำเนินการเกิดจาก สบส.ได้รับการร้องเรียน ว่า โรงพยาบาลเดชา ถนนพญาไท มีลักษณะที่ไม่พร้อมในการให้บริการรักษาพยาบาล เนื่องจากมีการปิดไฟอาคารมืด มีแพทย์เพียง 1 คน พยาบาลประจำน้อยมาก และห้องฉุกเฉินก็ปิด จึงได้ตรวจสอบพบว่า ผู้ประกอบการ รพ.เสียชีวิตได้ประมาณ 1 เดือนแล้ว อยู่ระหว่างหาผู้ประกอบการคนใหม่ และยังพบว่าบุคลากร รพ.มีน้อยมาก ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน รพ.ขนาด 100 เตียง จึงถือว่า รพ.เดชา ถนนพญาไทเป็นสถานพยาบาลที่ไม่ได้มาตรฐาน ในวันที่ 11 พ.ค.59  สบส. จึงมีคำสั่งปิดโรงพยาบาลเดชา ถนนพญาไท ตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มาตรา 52 (1) เป็นระยะเวลา 30 วัน หรือจนกว่าจะสามารถหาผู้ประกอบการคนใหม่ได้ โดยในส่วนผู้ป่วยได้ประสานเพื่อย้ายไปรักษาต่อยัง รพ.อื่นตามสิทธิรักษาพยาบาล

ทั้งนี้มีการระบุว่า บริษัทศรีอยุธยา จำกัด ได้เป็นผู้บริหารกิจการแทน           

ภายหลังจากสื่อมวลชนได้มีการนำเสนอข่าวนี้ ด้านผู้บริหาร รพ.เดชาโดย  น.ส.วรสุดา สุขารมณ์ ลูกสาวคนเล็กของ นพ.เดชา สุขารมณ์ เจ้าของโรงพยาบาลเดชา ได้เปิดแถลงข่าวชี้แจงว่า นพ.เดชา ยังคงมีชีวิตอยู่ ขณะนี้อายุ 81 ปีแล้ว และยังมีสุขภาพแข็งแรง และบริษัท สุขารมณ์ จำกัด ยังคงเป็นเจ้าของที่ดินและทรัพย์สิน 100% แต่ไม่ได้เข้ามาดำเนินการเป็นเวลา 10 ปีแล้ว เนื่องจากให้บริษัท ศรีอยุธา จำกัด เป็นผู้เช่าดำเนินการประกอบการต่อตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ด้วยการทำสัญญาเช่า 7 ปี ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปี 2556 จากนั้นก็เป็นการทำสัญญาปีต่อปี ค่าเช่าเดือนละประมาณกว่าล้านบาท โดยครอบครัวไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารใด ๆ

แต่ต่อมาทราบว่า นายวีระนารถ วีระไวทยะ ผู้บริหารบริษัท ศรีอยุธา ป่วยหนักและมีการยืนยันว่า จะพยายามจ่าย โดยจะนำเงินจากค่าประกันสังคมจ่ายให้ แต่สุดท้ายก็ไม่มี และหลังจากนายวีระนารถ เสียชีวิตก็ไม่ได้ติดต่ออีกเลย โดยที่ผ่านมาทางครอบครัวดำเนินการตามกฎหมายแล้ว มีการฟ้องร้องต่อศาล เนื่องจากบริษัทศรีอยุธา มีการค้างชำระหนี้มากกว่า 20 ล้านบาท ทั้งประกาศขาย รพ.เดชาต่อ เนื่องจากครอบครัวไม่มีความพร้อมบริหาร ซึ่งประเมินทรัพย์สินไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท

ทั้งนี้โรงพยาบาลเดชาเป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคมที่ให้บริการทางการแพทย์กับผู้ประกันตนประจำปี 2559 โดยมีผู้ประกันตนจำนวน 40,027 รายที่ขึ้นทะเบียนเลือกโรงพยาบาลเดชาเป็นสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาล ข้อมูลเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 59 พบว่ามีผู้ประกันตนนอนพักรักษาตัวเป็นคนไข้ในโรงพยาบาลเดชาจำนวน 5 ราย และได้ประสานกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์รับตัวผู้ป่วยประกันสังคมมาดูแลต่อเนื่องแล้ว และสำนักงานประกันสังคมได้จัดโรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลเลิดสิน ไว้รองรับให้กับผู้ประกันตนจำนวน 40,027 ราย