ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประสบการณ์ตรงแม่ให้นมลูก ชี้เทคนิค รพ.หลังคลอด เอื้อบริษัทนมผง ทำร้ายแม่-ลูก พยาบาลชงนมให้เด็กเพื่อให้ติดใจ ตัดวงจรน้ำนมแม่ ขณะที่ รพ.แจกเบอร์แม่มือใหม่ ให้บริษัท โทรมาขายนมผงให้หวั่นไหว อ้างสารอาหารเยอะเหมาะสำหรับลูกน้อย

จตุพร เอมพันธุ์ หรือ “บี” แม่ที่เคยผ่านการให้นมลูก จากเครือข่ายแม่ออนไลน์ กล่าวสนับสนุน ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็ก หรือ พ.ร.บ.โค้ดมิลค์ ที่ควบคุมการโฆษณาหรือทำการตลาดผลิตภัณฑ์ทดแทนนมแม่สำหรับทารกถึง 3 ปี ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์กับลูกที่จะได้กินนมแม่โดยตรง โดยไม่ถูกการตลาดของบริษัทนมผงเข้ามามีอิทธิพลให้เปลี่ยนใจ 

จตุพร เล่าประสบการณ์เมื่อ 10 ปีที่แล้วที่คลอดลูกคนแรกและถูกพยาบาลในโรงพยาบาลโน้มน้าวให้กินนมผงแทนนมแม่ว่า ทันทีที่คลอด พยาบาลก็จะชงนมผงให้ลูกกิน ขณะที่ตนเองต้องพักฟื้นหลังคลอดอีกห้อง ซึ่งความจริงตอนนั้นนมแม่จากเต้าน่าจะพร้อมให้ลูกแล้ว แต่เมื่อลูกไม่ได้ดูดนมที่เต้า ทำให้น้ำนมไม่ออก เมื่อพยายามเดินไปหาลูกเพื่อให้นมแม่ แต่ไปทุกครั้ง ลูกก็จะหลับ และก็อิ่ม เนื่องจากพยาบาลชงนมผงให้กิน สุดท้ายกว่าลูกจะได้กินนมแม่ ก็หลังคลอดแล้ว 5 วัน ช่วงที่แม่ได้กลับบ้าน ไม่มีพยาบาลอยู่ด้วย 

“พยาบาลจะอ้างว่า เห็นคุณแม่ น้ำนมยังไม่มา ก็เลยให้กินนมผง เวลาพยาบาลพูดอย่างนี้เราก็ยิ่งแย่ไปใหญ่ว่า ทำไมนมไม่มาเสียที แต่เชื่อหรือไม่ พอเอาลูกออกจากโรงพยาบาลตามกำหนด แล้วเอาลูกเข้าเต้า น้ำนมแม่ก็มาวันนั้นเลยเพราะลูกช่วยดูดกระตุ้นเต้าให้ สรุปได้ว่า การเริ่มต้นจากที่โรงพยาบาล ถ้าพยาบาลรีบให้ขวดชงนมผงให้กินก่อน น้ำนมแม่จากเต้าก็มาช้าแน่นอน คงบอกได้ว่า ช่วงนั้นเราก็ไม่เข้าใจและไม่กล้าร้องเรียนใคร บวกกับความกลัวว่า ถ้าร้องเรียนไป เดี๋ยวพยาบาลจะทำอะไรลูกเราหรือไม่” 

จตุพร เล่าว่า การที่พยาบาลเอานมชงมาให้ลูกกินหลังคลอด ทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่า นมตัวเองพอที่จะให้ลูกหรือไม่ แต่พยาบาลจะบอกว่า ให้คุณแม่เอากลับไปก่อนเพื่อที่ว่า นมแม่อาจไม่มี ตอนนั้นก็ยิ่งทำให้ตนอ่อนไหวมาก แต่เมื่อกลับมาที่บ้านก็ช่วยเหลือกันเพราะต้องการให้ลูกกินนมแม่ จึงชวนกันไปคลินิกนมแม่ ถึงผ่านช่วงเหตุการณ์ช่วงนั้นมาได้ ความจริงน้ำนมของแม่ เริ่มผลิตตั้งแต่ไตรมาสที่สามที่ลูกอยู่ในท้อง แต่ถ้าโรงพยาบาลที่เราคลอด ชงนมผงให้กินก่อน มันก็จะไปตัดวงจรทำให้ลูกยิ่งดูดนมแม่ได้ช้าลง 

จตุพรเล่าด้วยว่า หลังให้ลูกกินนมแม่ที่บ้าน ปรากฎว่า ช่วง 4 เดือนแรก หมอพยายามบอกว่า นมแม่อาจเริ่มหมดสารอาหาร ซึ่งคำพูดของหมอทำให้เราเชื่อ ยิ่งเมื่อลูกใกล้ครบอายุ 6 เดือน ก็ได้ยินโฆษณานมผงทางทีวีว่า แม้นมแม่ดีที่สุด แต่หลัง 6 เดือน หากต้องการลูกได้สารอาหารที่ครบถ้วนก็ต้องให้ลูกกินนมผงยี่ห้อนี้ อย่างไรก็ตามช่วงนั้น เริ่มศึกษาข้อมูลเรื่องนมแม่ จากเว็บไซต์ศูนย์นมแม่ก็พบว่า ไม่จำเป็นต้องให้ลูกกินนมผงมาเป็นอาหารเสริมเหมือนอย่างที่โฆษณาจึงไม่ได้ซื้อนมผง  

บี กล่าวว่า เมื่อนึกย้อนกลับช่วงก่อนคลอด ได้เข้าอบรมครรภ์ที่โรงพยาบาล แต่นอกห้องอบรมขณะนั้นจะมีการแจกของที่ระลึกต่างๆ และให้ผู้เข้าอบรมลงชื่อ ช่วงนั้นไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องกรอกใหม่ในเมื่อโรงพยาบาลมีชื่อทุกคนอยู่แล้ว มาทราบภายหลังว่า ที่จดชื่อไปเพื่อให้กับบริษัทนมผงโทรติดต่อมาขายนมหลังคลอด กรณีนี้ทางโรงพยาบาล แม้ไม่ได้มาขายนมผงโดยตรง แต่ก็เป็นช่องทางที่เปิดโอกาสให้บริษัทนมผง มาติดต่อเราได้ ซึ่งช่วงนี้แม่หลายคนอยู่ในอาการหวั่นไหวเรื่องการให้นมลูก  จึงมั่นใจว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะช่วยปกป้อง แม่และเด็กให้รอดพ้นจากการตลาดนมผงได้ 

“การตลาดของธุรกิจนมผงเมื่อ 10 ปีก่อนกับปัจจุบันแทบไม่ต่างกัน แต่ตอนนี้อาจจะได้ของแถมมาก

หรือแม้แต่การที่หมอใช้ปากกา หรือ ปฏิทินยี่ห้อนมผงชนิดใด มันก็มีผลโน้มน้าวแม่มือใหม่ที่เห็น เพราะตอนนั้นเราก็หวั่นไหว ที่สำคัญ แทนที่พยาบาลจะมาแนะนำวิธีให้นมแม่ที่ถูกต้อง แต่กลับมาแนะนำนมผงเสียเอง” 

บี บอกว่า ประโยชน์ของนมแม่ นอกจากลูกจะได้สารอาหารครบถ้วนแล้ว ในส่วนของแม่ยังก่อให้เกิดพลังทั้งทางกายและทางใจขณะที่ให้นมลูก เพราะช่วงแรกลูกจะกินนาน พออยู่กันแค่ 2 คน เราก็คุยกับเขา เวลากินไป เขาก็ยิ้มแล้วก็กินต่อ เป็นช่วงเวลาที่แม่กับลูกสื่อสัมพันธ์ได้ดีมาก กระทั่งทุกวันนี้ ตนเองกับลูกสนิทกันมาก

บี ยังเล่าถึงประสบการณ์จากแม่รายอื่นที่ได้รับผลกระทบจากการตลาดของนมผงผ่านโรงพยาบาล ว่า กรณีแรก แม่รายหนึ่งอยู่ จ.นครสวรรค์ ลูกคนแรกคลอดที่โรงพยาบาลรัฐ ให้ลูกด้วยแม่ได้ ส่วนท้องที่สอง คลอดที่โรงพยาบาลเอกชน เมื่อคลอดเร็จ ทางพยาบาลรีบป้อนนมชง ทำให้จากนั้น เด็กกินนมแม่ไม่ค่อยได้ เมื่อผ่านไป 4 เดือนหมอชี้ว่า เด็กคนนี้แพ้นมวัว ทำให้เธอต้องเสียเงินรักษาจากผลกระทบจากการแพ้นมวัวด้วย 

กรณีที่สอง แม่รายหนึ่ง คลอดที่กรุงเทพ เมื่อคลอดเสร็จพยาบาลก็ให้กินนมผง สุดท้ายก็พบว่า แพ้โปรตีนนมวัว หมอให้นอนรักษาที่โรงพยาบาลต่อ ทำให้แม่รายนั้นต้องจ่ายเพิ่มอีก 4 หมื่นบาท เพราะลูกติดเชื้อในทางเดินอาหาร ขณะที่โรงพยาบาลไม่รับผิดชอบ    

เรื่องที่เกี่ยวข้อง