ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค ห่วงใยปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชนในภาคใต้ หวั่นกระแสน้ำพาเชื้อโรคแพร่กระจาย อาจส่งผลให้เกิดโรคระบาดในพื้นที่ได้ พร้อมมอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ประสบภัย ประเมินสถานการณ์เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคระบาดอย่างใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมหนักในจังหวัดทางภาคใต้ กรมควบคุมโรคมีความเป็นห่วงถึงปัญหาสุขภาพอนามัยของประชาชน เนื่องจากกระแสน้ำอาจจะพาสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคให้แพร่กระจาย ส่งผลให้แหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคปนเปื้อนเชื้อ จึงมีโอกาสเกิดโรคที่มาพร้อมน้ำท่วมได้หลายโรค โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ และโรคตาแดง

นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนจะลำบากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการขับถ่ายอุจจาระที่ไม่ถูกสุขลักษณะอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอุจจาระร่วงได้ ประกอบกับการที่มีผู้นำอาหารกล่องมาแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัย ซึ่งอาหารกล่องส่วนใหญ่จะมีการปรุงไว้ก่อนล่วงหน้า และหากเก็บไว้นานอาหารที่บรรจุในกล่องอาจบูดเสียได้ ประชาชนอาจมีความเสี่ยงเจ็บป่วยจากโรคอุจจาระร่วง และโรคอาหารเป็นพิษ

เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว ผู้ประกอบอาหารขอให้เน้นความสะอาดของการประกอบอาหาร หากเป็นอาหารถุง อาหารกล่อง ควรแยกกับข้าวออกจากข้าว ไม่วางข้าวกล่องที่บรรจุเสร็จแล้วตากแดด สำหรับเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่รับบริจาคหรือศูนย์พักพิงผู้อพยพ ต้องจัดให้มีระบบการลงทะเบียนอาหารที่มีผู้มาบริจาค โดยมีชื่อ และเบอร์โทรศัพท์ที่จะติดต่อได้ รวมถึงมีการประเมินคุณภาพอาหารที่รับมาหรือมีการคัดอาหารที่เสียทิ้ง ในกรณีที่อาหารไม่พบความผิดปกติ ควรแจกจ่ายออกไปก่อนโดยเร็ว ไม่ควรนำข้าวกล่องที่ปรุงไว้ล่วงหน้านานกว่า 4 ชั่วโมงไปแจกจ่าย หากแจกไม่ทันให้ทำลายทิ้ง เพราะอาหารอาจบูดหรือมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคที่ทำให้เกิดอุจจาระร่วงได้

สำหรับประชาชนการป้องกันโรคนี้ให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” คือ รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ล้างมือด้วยน้ำกับสบู่บ่อยๆ หากไม่มีที่ล้างมือให้ใช้แอลกอฮอล์เจลแทน และไม่นำอาหารค้างคืนมารับประทาน หากอาหารมีกลิ่นผิดปกติไม่ควรรับประทานเด็ดขาด

สำหรับโรคตาแดง อาการจะไม่รุนแรงแต่ติดต่อกันง่าย เนื่องจากเชื้อไวรัสจะอยู่ในสิ่งสกปรก น้ำตา ขี้ตาของผู้ที่เป็นตาแดง ซึ่งการติดต่อจะมี 3 ลักษณะ คือ

1.จากมือที่ไปสัมผัสน้ำตา ขี้ตา ของผู้ป่วยตาแดงที่ติดอยู่ตามสิ่งของ แล้วมาสัมผัสที่ตา หรือใช้ของส่วนตัวร่วมกันกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว

2.จากแมลงหวี่แมลงวันที่ตอมสิ่งสกปรกหรือตอมตาของผู้เป็นตาแดงแล้วไปตอมตาคนอื่นต่อ

3.จากการลงเล่นในน้ำท่วมขังหรือน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา โดยส่วนใหญ่อาการผู้ป่วยจะค่อยๆ ดีขึ้นและหายภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่หากยังมีอาการระคายเคือง ตามัว ปวดตารุนแรง หรืออาการตาแดงไม่ทุเลาภายใน 7 วัน ขอให้รีบไปพบแพทย์

การป้องกันโรคตาแดง ขอให้ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสที่ตา ไม่ลงไปในน้ำท่วม แต่หากจำเป็นขอให้รีบอาบน้ำให้สะอาดทันทีหลังขึ้นจากน้ำ ส่วนผู้เป็นโรคตาแดงให้งดลงน้ำจนกว่าจะหายเพื่อป้องกันเชื้อแพร่กระจายในน้ำ

“กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ประสบภัย ติดตามประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันควบคุมไม่ให้เกิดโรคติดต่อระบาดในวงกว้าง รวมถึงป้องกันภัยอื่นๆ ที่อาจเกิดกับประชาชน พร้อมทั้งประสานเตรียมทีมเพื่อเฝ้าระวังโรค และให้ความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันโรคแก่ผู้ประสบกับปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” นพ.เจษฎา กล่าว