ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วงถกประชุมศักยภาพมนุษย์ระดับชาติ ถอดบทเรียนวิธีปลูกฝังดีเอ็นเอ MOPH ในกระทรวงหมอ ผอ.รพ.สมเด็จพระยุพราชตะพานหิน ระบุ ผู้นำต้องเป็นแบบอย่าง-เน้นสื่อสารความเข้าใจ-สนับสนุนให้เกิดรูปธรรม ด้าน ผอ.รพ.สุโขทัย เชื่อ คุณค่าหลักมีไม่มีกี่ประการ สามารถบูรณาการของใหม่เข้ากับของเก่าได้ ขณะที่ ผอ.รพ.ชลบุรี ชี้ 4 คุณลักษณะวัฒนธรรมองค์การที่เข้มแข็ง หลอมคนเพื่อบรรลุเป้าหมาย

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 มีการจัดการประชุม “National Forum on Human Resources for Health 2017 : การระดับชาติ การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ในระบบสุขภาพ (HR4H Forum 2017)” ภายใต้แนวคิดคุณค่าคน คุณค่างาน บันดาลสุข ณ อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี โดยห้อง Sapphire 202 ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “How to integrate Core Value : MOPH to create organizational culture”

นพ.กิตติโชติ ตั้งกิตติถาวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชตะพานหิน เปิดเผยว่า คุณค่าหลัก (Core Value) คือดีเอ็นเอของคนในองค์กร ซึ่งจำเป็นต้องแปลงให้เป็นรูปธรรมเพื่อนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมองค์กร โดยแนวทางที่จะทำให้เกิดเป็นรูปธรรม ได้แก่

1.ผู้นำต้องเป็นแบบอย่าง ยึดค่านิยมเป็นแนวทางบริหารจัดการให้ทุกคนในองค์กรสัมผัสได้

2.สื่อสารให้เจ้าหน้าที่ทุกคนเข้าใจ เช่น ทำไมเลือกค่านิยมตัวนี้ กระตุ้นให้เห็นความสำคัญ และต้องสื่อสารบ่อยๆ ชี้ให้เห็นว่าการปฏิบัติใดตรงกับคุณค่าหลักขององค์กร

3.สนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติจริงทั้งระดับองค์กรและเจ้าหน้าที่ กำหนดเป็นนโยบายและกำหนดกิจรรม รวมทั้งสร้างแรงจูงใจ

สำหรับคุณค่าหลักหรือค่านิยมร่วมของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชตะพานหิน ประกอบด้วย ให้ความสำคัญกับผู้รับบริการ เรียนรู้และพัฒนาตลอดเวลา ร่วมกันทำงาน รักและภูมิใจในการทำงาน รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันได้กำหนดอัตลักษณ์ของโรงพยาบาล โดยเจ้าหน้าที่ต้องมีความพอเพียง ซื่อสัตย์ และเสียสละ

นพ.กิตติโชติ กล่าวว่า ยกตัวอย่างความซื่อสัตย์ ซึ่งต้องสื่อสารให้เจ้าหน้าที่ทราบว่าทำไมถึงเลือกความซื่อสัตย์ และเมื่อซื่อสัตย์แล้วจะได้อะไร จากนั้นก็แปลงความซื่อสัตย์มาเป็นแนวปฏิบัติเพื่อให้เกิดรูปธรรม เช่น ซื่อสัตย์ต่อผู้ป่วย รูปธรรมก็คือจัดบริการที่มีคุณภาพ ยึดความต้องการของผู้รับบริการเป็นสำคัญ หรือระบบธรรมาภิบาล รูปธรรมก็คือการบริหารในรูปคณะกรรมการเพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้

“เมื่อกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนดค่านิยมใหม่ คือ MOPH เราก็จำเป็นต้องบูรณาการค่านิยมใหม่นั้นให้สอดคล้องกับค่านิยมเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องสื่อสารให้เจ้าหน้าที่เข้าใจด้วย” นพ.กิตติโชติ กล่าว

พญ.ภาวิณี เอี่ยมจันทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุโขทัย กล่าวว่า เมื่อได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุโขทัยก็คิดว่าจะนำค่านิยม MOPH ลงไปใช้อย่างไร โดยที่ผ่านมาโรงพยาบาลสุโขทัยมีคุณค่าหลักอยู่แล้ว คือสุขโข หรือ SUKHO (Safety Unity Knowledge Happy Offer) จากนั้นก็คิดต่อว่าต้องทำอย่างไรที่จะบูรณาการค่านิยมของ สธ.คือ MOPH เข้าไปให้พนักงานผูกพันอย่างไม่รู้ตัว เพราะส่วนตัวเชื่อว่าจริงๆ แล้วค่านิยมมีไม่กี่ตัวและเกี่ยวพันกัน

พญ.ภาวิณี กล่าวว่า ยกตัวอย่างปัญหาของโรงพยาบาลสุโขทัยคือ OPD แออัด เนื่องจากแพทย์ลงมาตรวจช้า จึงได้ขอร้องแพทย์ให้มาลงตรวจในเวลา 09.30 น. จากนั้นก็เก็บสถิติรายบุคคลเป็นกราฟ ซึ่งตลอด 2 เดือนที่เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการ พบว่าแพทย์ 2 ใน 3 ลงมาตรวจตามเวลาที่ตกลงกัน นั่นหมายความว่าเมื่อใดที่แพทย์ควบคุมตัวเองได้ นั่นก็คือ M : Mastery หรือเป็นนายตนเอง (หนึ่งในค่านิยมใหม่ MOPH) ทุกฝ่ายก็จะเกิดความสุข หรือ H : Happy (หนึ่งในค่านิยมเดิม SUKHO)

“หรืออีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ People centered (หนึ่งใน MOPH) คือต้องตอบให้ได้ว่าประชาชนได้อะไร เราได้เปลี่ยนการประเมินบุคลากรใหม่เพื่อพัฒนาคนในองค์กร โดยพิจารณาจากทักษะ (Skill) และจิตใจในการให้บริการ (Service mind) เพราะทั้งคู่จะนำมาซึ่งคุณภาพและความปลอดภัยในการให้บริการ” พญ.ภาวิณี กล่าว

พญ.ภาวิณี กล่าวว่า จะเห็นได้ว่า MOPH เข้ากับ SUKHO ได้ โดยที่ไม่ต้องให้บุคลากรท่องจำ แต่ให้เปลี่ยนมาเป็นนโยบายและกิจกรรม ซึ่งก็จะกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรในท้ายที่สุด

นพ.ชุติเดช ตาบ-องครักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี กล่าวถึงวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งว่า ต้องมีคุณลักษณะ 4 ประการ ได้แก่

1.มีค่านิยมร่วมและมีความรู้สึกร่วมกันเป็นเอกฉันท์

2.หัวหน้าองค์กรต้องเป็นบุคลากรหลักที่แสดงออกถึงค่านิยมหลักขององค์กร

3.กิจกรรมต่างๆ ต้องแสดงออกถึงความเชื่อร่วมกันอย่างกว้างขวาง

4.บุคลากรทุกคนคือบุคคลสำคัญขององค์กร

สำหรับประโยชน์ของวัฒนธรรมองค์กร นอกจากจะช่วยหล่อหลอมให้คนในองค์กรสามารถอยู่ร่วมกันได้แล้ว ยังช่วยหล่อหลอมให้องค์กรนั้นๆ มีพฤติกรรมในอนาคตเป็นไปตามที่เราคาดหวัง ที่สำคัญยังช่วยทำให้บรรลุเป้าหมาย ช่วยควบคุมพฤติกรรมคนในองค์กร และยังเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่สร้างให้เกิดการจดจำ

“ถึงแม้ว่าเราอยู่ใน สธ. เรามี MOPH แต่บริบทของโรงพยาบาลชลบุรีย่อมแตกต่างกับโรงพยาบาลอื่นๆ ฉะนั้นเราต้องแปลง MOPH ให้อยู่ภายใต้วัฒนธรรมองค์กรเดิมที่เราสังกัดอยู่” นพ.ชุติเดช กล่าว

นพ.ชุติเดช กล่าวว่า การสร้างวัฒนธรรมองค์กรนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานคุณค่าหลักที่ทุกคนตกลงร่วมกัน เมื่อกำหนดเป้าหมายได้แล้วก็ต้องกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ จากนั้นก็เข้าสู่แนวทางการจัดทำแผนเพื่อปรับเปลี่ยนคนไปสู่วัฒนธรรมองค์กรที่เราต้องการ

อนึ่ง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้กำหนดคุณค่าหลัก (Core Value) ของบุคลากรในวงการ สธ. 4 ประการ หรือ MOPH ซึ่งประกอบด้วย M : Mastery หรือเป็นนายตนเอง คือเป็นบุคคลที่หมั่นฝึกฝนตนเองให้มีศักยภาพ ยึดมั่นในความถูกต้อง มีวินัย ปฏิบัติตามกฎระเบียบ บนพื้นฐานของการมีสำนึก รับผิดชอบ คุณธรรม และจริยธรรม O : Originality หรือเร่งสร้างสิ่งใหม่ คือสร้างสรรค์นวัตกรรม สิ่งใหม่ ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบสุขภาพ

P : People centered หรือใส่ใจประชาชน คือต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางในการทำงานเพื่อประโยชน์อันดีแก่ประชาชน โดยใช้หลักเข้าใจ เข้าถึง พึ่งได้ H : Humility หรืออ่อนน้อมถ่อมตน คือมีสัมมาคารวะ มีน้ำใจ ให้อภัย รับฟังความเห็น เสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม