ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แรงงานข้ามชาติภูเก็ตจัดตั้งเครือข่ายผลักดันคุณภาพชีวิตชาวพม่า ประธาน MNP เชื่อปัญหาจะรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะการเข้าถึงสิทธิสุขภาพ ค่าแรง ถูกนายจ้างทำร้าย

เครือข่ายแรงงานข้ามชาติจังหวัดภูเก็ต (Migrant Worker’s Network in Phuket : MNP) ซึ่งเป็นการรวมตัวขององค์กรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ 5 องค์กร ใน จ.ภูเก็ต ร่วมกันเปิดสำนักงานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 ม.ค.2560 บริเวณซอยการเคหะฯ ภูเก็ต 2 ต.ตลาดใหญ่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยมีเป้าหมายให้ความช่วยเหลือแรงงานชาวพม่ากว่า 3.5 แสนราย ที่ใช้ชีวิตอยู่ใน จ.ภูเก็ต ประเทศไทย

สำหรับ MNP รวมตัวกันเป็นเครือข่ายและดำเนินกิจกรรมมาตั้งแต่ปี 2557 แต่เพิ่งจัดตั้งสำนักงานอย่างเป็นทางการเพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานให้กับแรงงานชาวพม่า เมื่อวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยเบื้องต้นจะให้การช่วยเหลือด้านคุณภาพชีวิต อาทิ ปัญหาการเข้าถึงสิทธิรักษาพยาบาล ปัญหาค่าแรง ปัญหาการถูกนายจ้างทำร้าย รวมถึงปัญหาเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

นาย Shwe Tun Aye ประธานเครือข่าย MNP เปิดเผยกับสำนักข่าว “Hfocus” ว่า แม้ว่า จ.ภูเก็ต จะเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่มีปริมาณงานเป็นจำนวนมาก ทำให้แรงงานชาวพม่าคิดถึงและต้องการจะเดินทางเข้ามาหางานใน จ.ภูเก็ต เป็นลำดับต้นๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาในหลายมิติ แต่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าปัญหาหลักๆ คือนายจ้างไม่จ่ายค่าแรง นายจ้างยึดเอกสารแสดงตน และที่สำคัญก็คือปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิประกันสุขภาพ

“ที่ผ่านมาแต่ละองค์กรมักจะช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติแบบแยกส่วน คือปัญหาเกิดในพื้นที่ใด เช่น ป่าตอง ถลาง ในเมือง องค์กรที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ ก็จะเข้าไปช่วยเหลือ นั่นทำให้แต่ละพื้นที่ขาดการสื่อสารและไม่รู้เท่าทันข้อมูล ฉะนั้นการจัดตั้งเครือข่าย MNP ขึ้น จะมาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้” นาย Shwe Tun Aye กล่าว

นาย Shwe Tun Aye กล่าวอีกว่า แน่นอนว่าเครือข่าย MNP ไม่สามารถช่วยได้ทุกปัญหา แต่วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเครือข่ายคือการช่วยเหลือให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะการเป็นตัวกลางในการประสานงานระหว่างแรงงานข้ามชาติกับหน่วยงานราชการ รวมทั้งรับเรื่องร้องเรียนและร้องทุกข์ เพื่อประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาต่อไป

“มีหลายครั้งที่แรงงานพม่าในจังหวัดอื่นๆ โทรมาขอความช่วยเหลือ ซึ่งหน้าที่ของเครือข่ายฯ ก็คือช่วยประสานส่งต่อไปยังองค์กรในพื้นที่นั้นๆ หรือในหลายปัญหาของประสานสถานทูตพม่าประจำประเทศไทยเพื่อให้ความช่วยเหลือ” ประธานเครือข่าย MNP ระบุ

เขา ระบุอีกว่า การจัดตั้งเครือข่ายฯ และเปิดสำนักงานอย่างเป็นทางการ จะช่วยลดความหวาดระแวงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับแรงงานข้ามชาติลง เนื่องจากเป็นการแสดงตัวอย่างชัดเจนว่าเครือข่ายฯ เป็นใคร มีหน้าที่อะไร ตั้งอยู่ที่ไหน ฯลฯ ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ก็คือจะส่งหนังสือชี้แจงเจ้าหน้าที่รัฐใน จ.ภูเก็ต ต่อไป ส่วนตัวเชื่อว่าการทำงานของเครือข่ายฯ จะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งกับหน่วยงานรัฐลงได้

“ขณะนี้เรียกได้ว่าไม่ค่อยจะมีปัญหาอะไรแล้ว ทางเจ้าหน้าที่รัฐก็บอกว่าให้มาช่วยกัน เพราะเขาก็ดูแลไม่ไหว ส่วนตัวอยากให้เจ้าหน้าที่รัฐช่วยสนับสนุนเรื่องการประชาสัมพันธ์ชี้แจงข้อมูล และกฎหมายต่างๆ ให้แรงงานชาวพม่าได้รับทราบ เพราะส่วนใหญ่แรงงานจะไม่ทราบกฎหมาย ไม่ทราบสิทธิที่ตัวเองได้รับ เมื่อลูกจ้างไม่รู้กฎหมาย นายจ้างก็ไม่รู้กฎหมาย หรือรู้แต่ไม่ปฏิบัติตาม สุดท้ายก็จะกลายเป็นปัญหาที่ไม่ส่งผลดีกับใคร” นายShwe Tun Aye กล่าว

นาย Shwe Tun Aye กล่าวอีกว่า แรงงานพม่าส่วนใหญ่ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายจะมีความกลัว โดยเฉพาะการถูกขู่ว่าจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับ หากเปรียบเทียบสัดส่วน 100 คน จะมีไม่ต่ำกว่า 70 คน ที่กลัวจนไม่กล้าให้ข้อมูลใดๆ แต่การให้ความช่วยเหลือของเครือข่ายฯ ก็จำเป็นต้องดูรายละเอียดทั้งหมดก่อน จะฟังข้อมูลจากแรงงานเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้

“ผมคิดว่าหลังจากนี้ปัญหาแรงงานข้ามชาติจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะในพม่าเศรษฐกิจไม่ดี ไม่มีงาน ชาวพม่าเลยเข้ามาทำงานในประเทศไทยจำนวนมาก ส่วนตัวคิดว่าสวัสดิการที่รัฐไทยให้ไว้ดีแล้ว เพียงแต่ต้องใช้ได้จริงๆ เช่น จ่ายค่าแรงตรงเวลา หรือบัตรสุขภาพที่ต้องใช้สิทธิได้จริงๆ” นาย Shwe Tun Aye กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง