ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากที่ Hfocus.org ได้นำเสนอประเด็นการขาดแคลนแพทย์ใน จ.กาฬสินธุ์ เนื่องจากแพทย์ที่เพิ่งเรียนจบและทำงานในโรงพยาบาลประจำจังหวัดได้ 1 ปีและต้องลงไปประจำโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ในปีต่อไป ได้ลาออกเป็นจำนวนมาก ทำให้โรงพยาบาลชุมชนบางแห่งประสบปัญหา มีแพทย์ประจำโรงพยาบาลเพียงคนเดียว ไปเมื่อเร็วๆ นี้นั้น

นพ.แมนวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล

เพื่อสะท้อนมุมมองที่หลากหลาย นำไปสู่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อแก้ไขปัญหา  Hfocus.org จึงได้สัมภาษณ์ นพ.แมนวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล สูติแพทย์ รพ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ในฐานะหมอรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ในระบบราชการนานกว่าสิบปี และอยู่ใน Generation ใกล้เคียงกับแพทย์จบใหม่ ซึ่ง นพ.แมนวัฒน์ ได้ให้ความคิดเห็นที่น่าสนใจไว้หลายประเด็น

3 ปีแรกคือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

นพ.แมนวัฒน์ กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสกับน้องๆ จบใหม่ส่วนมาก พบว่ายังมีทัศนคติที่ดีกับการทำงานในโรงพยาบาลของรัฐเพื่อดูแลประชาชน ซึ่งการทำงานปีแรกในโรงพยาบาลจังหวัด ไม่ว่าจะจับฉลากพลาด ต้องไปใช้ทุนไกลแค่ไหนก็ตาม มักจะยอมรับได้ในที่สุดและผ่านปีแรกไปด้วยดี เพราะยังได้เรียน ได้ทำงานด้วยความสบายใจ อีกทั้งเป็นข้อกำหนดขั้นต่ำที่สุดของแพทยสภาที่กำหนดให้ต้องรับการเพิ่มพูนทักษะอย่างน้อย 1 ปี ก่อนเข้ารับการฝึกอบรมเฉพาะทาง เว้นแต่ในบางสาขาซึ่งขาดแคลนมากๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่การทำงานเพิ่มพูนทักษะใน รพช. ปีที่ 2 และ 3 เป็นเวลาที่น้องๆ มักอยู่ในช่วงแสวงหาหนทางของตัวเอง การทำงานใน รพช.นับเป็นก้าวหนึ่งในเส้นทางชีวิต และกว่าเกิน 80% คาดหวังที่จะเข้ารับการฝึกอบรมเฉพาะทาง เพราะแม้หลายคนตั้งใจจะทำงานช่วยเหลือคนไข้ในพื้นที่ห่างไกล แต่เชื่อว่าแทบทุกคนจะรู้สึกคล้ายกัน คือ ไม่มั่นใจในการดูแลคนไข้ รู้สึกว่าตัวเองรู้น้อยเกินไป จึงต้องการไปเพิ่มพูนความรู้ความชำนาญต่อ

“ประสบการณ์ใน รพช.ช่วงนี้ จะเป็นตัวแปรสำคัญในการตัดสินใจเลือกทางเดินชีวิต ในการเลือกสถานที่ทำงานถาวรของหมอจบใหม่ สิ่งที่น้องคาดหวังคือ รพช.ที่อยู่ต้องสามารถทำงานได้อย่างมีความสุข มีโอกาสเรียนรู้พัฒนาตนเองได้” นพ.แมนวัฒน์ ตั้งข้อสังเกต

ต้องสนอง Need หมอใหม่

ขณะเดียวกัน ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจจะอยู่ในระบบราชการต่อไปหรือไม่ นอกจากความตั้งใจของแพทย์แล้ว ยังต้องมีองค์ประกอบอื่น เช่น ทำงานแล้วได้รับการยอมรับจากองค์กร จากชุมชน รู้สึกมีคุณค่า, มีคนคอยช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาคนไข้ สามารถปรึกษา ส่งต่อได้, มีสวัสดิการการดูแลเรื่องอื่นๆ ให้ไม่ต้องกังวลกับการดำรงชีวิต เช่น ที่พัก ความปลอดภัย, ค่าตอบแทนที่เหมาะสม, มีวันลาพักผ่อนกลับบ้านไปอยู่กับครอบครัว ตลอดจนโอกาสเจริญก้าวหน้าในอาชีพ ทั้งในแง่เลื่อนระดับ เลื่อนตำแหน่ง และความก้าวหน้าในเชิงการพัฒนาความรู้ การเรียนต่อจนสามารถดูแลคนไข้ได้อย่างมั่นใจ

“ถ้าตอบสนองสิ่งเหล่านี้ได้ ถึงน้องๆ ต้องไปอยู่ไกล ก็มีอัตราการคงอยู่ในระบบราชการสูงครับ อย่างน้อยก็ในช่วงปีที่ 2-3 ของการใช้ทุน” นพ.แมนวัฒน์ ให้ความเห็น

นพ.แมนวัฒน์ ย้ำว่า การตอบสนองความต้องการพื้นฐานเหล่านี้ เป็นโจทย์สำคัญข้อหนึ่งของผู้บริหาร แพทยสภา และผู้ใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุขที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายว่าจะตอบสนองสิ่งที่น้องๆ ต้องการได้อย่างไร เพื่อให้แพทย์ใช้ทุนไม่ลาออก และโจทย์ที่ท้าทายกว่านั้นคือทำอย่างไรให้ยังคงอยู่ในปีที่ 4 ไปแล้ว หรือกลับมาทำงานหลังได้รับทุนไปฝึกอบรมเฉพาะทาง และสามารถทำงานได้มีความสุข เต็มประสิทธิภาพ

เงินไม่ใช่ปัจจัยหลัก

สำหรับประเด็นเรื่องค่าตอบแทนนั้น นพ.แมนวัฒน์ มองว่า ค่าตอบแทนเป็นแค่ปัจจัยหนึ่ง เพราะปัจจุบันรายได้ของแพทย์จบใหม่ใน รพช.ไม่ได้น้อยเกินไป อาจจะต่างจากโรงพยาบาลเอกชนในหลักหมื่น เพียงแต่ภาระงานในภาคเอกชนน้อยกว่ามาก แต่จุดประสงค์หลักที่ทำให้หลายคนตัดสินใจลาออก เพราะอึดอัดกับที่ทำงานเดิม หรือไม่อยากไปทำงานในพื้นที่ หรือแค่อยากกลับบ้าน ดังนั้น ถ้าการทำงานใน รพช. ตอบสนองความต้องการพื้นฐานไม่ได้และทำให้เกิดความทุกข์ ปัญหาการลาออกมากๆ จะยังคงมีอยู่ โดยที่ไม่ใช่เรื่องเงินด้วย ยกตัวอย่างเช่น แพทย์ทุน ODOD ลาออก ต้องชดใช้เงินมากเป็นหลักล้าน ต้องทำงานหลายปีเพื่อให้ได้ส่วนต่างของรายได้เดิมมากเท่าเงินก้อนนี้ แต่บางคนก็ยังลาออก

ส่วนกรณีที่เป็นข่าว เท่าที่ทราบข้อมูลก็ไม่ใช่หมอที่ทำงานที่จังหวัดนั้นแล้วลาออก แต่เป็นแพทย์ใช้ทุนในระบบโควตา ปีแรกทำงานในโรงพยาบาลใกล้กรุงเทพ แล้วปีที่ 2-3 ไปทำงานที่จังหวัดนั้น ซึ่งเป็นไปได้ว่าน้องๆ คงไม่ได้ผูกพันกับพื้นที่ เมื่อต้องไปทำงานในที่ห่างไกลและไม่คุ้นเคย จึงลาออก การบอกว่าน้องๆ ลาออกเพราะเงิน จึงไม่น่าจะถูกต้อง

“ในส่วนตัวผมเองก็มักบอกน้องที่สนิทกันและน้องมาฝึกงานด้วยเสมอว่า การทำงานในช่วงปีที่ 2-3 ของการใช้ทุนคือตัวแปรชี้นำอนาคตของน้อง เงินที่หาได้จากการลาออกไปทำงานภาคเอกชน ไปเป็นแพทย์ทั่วไปหรือเปิดคลินิก รับเวรเอกชนในช่วง 2 ปีนี้ อาจต่างกับทำงานราชการเท่ากับราคารถธรรมดาคันเดียว แต่ถ้ารอหลังจากเก่งขึ้น ผ่านการอบรมเฉพาะทางมาแล้ว จะมีทางเลือกเยอะกว่าและจำนวนเงินมากกว่ามาก ดังนั้นในช่วง 2-3 ปีแรกอยากให้พยายามทำงานทดแทนโอกาสที่ได้รับจากสังคม และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้เต็มที่ มองหาโอกาสในการเรียนรู้พัฒนาตัวเอง โอกาสเรียนต่อ ไม่ใช่มองเรื่องเงิน” นพ.แมนวัฒน์ กล่าว

ส่วนปัญหาเรื่องระบบการทำงาน ปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาลจังหวัด หรือการถูกปฏิบัติอย่างไม่ให้เกียรตินั้น ส่วนตัวคิดว่าคงมีส่วนทำให้ตัดสินใจลาออกบ้าง แต่น่าจะมีน้อย บางจังหวัดเท่าที่ทราบอยู่ในระดับที่แย่เลยก็มี แต่น่าจะเป็นปัญหาเฉพาะตัวบุคคลมากกว่า ดังนั้น ถ้า รพช.และโรงพยาบาลจังหวัดมีการติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ทำความเข้าใจ หาทางแก้ร่วมกัน ปัญหานี้จะลดไปได้มาก

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ลาออกอีก เช่น การทำงานภายใต้ความเสี่ยง ปัญหาการถูกร้องเรียน ฟ้องร้อง หรือกลัวว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง ปัญหางานที่หนักเกินไปจนไม่มีเวลาพักผ่อน ต้องการลาออกไปเรียน หรือ ไปทำงานภาคเอกชน เป็นต้น

ปัญหาหลักคือการกระจายแพทย์

นพ.แมนวัฒน์ เสนอข้อมูลในอีกด้านว่า ปีนี้ในจังหวัดอื่นๆ จำนวนแพทย์ที่บรรจุเทียบกับที่ลาออก มีจำนวนเป็นบวกชัดเจน

และจำนวนแพทย์ใช้ทุนปีแรกก็เพิ่มขึ้นอีกต่างหาก ในหลายๆ โรงพยาบาลถึงกับมีปัญหาห้องตรวจไม่พอ เพราะได้แพทย์มาเพิ่มมากกว่าจำนวนห้อง แสดงถึงการแก้ปัญหาของกระทรวงฯ มาได้ถูกทางครึ่งหนึ่งแล้ว

“โดยทั่วไปตัวเลขการลาออกจากราชการของหมออยู่ที่ประมาณ 600 คน/ปี เป็นตัวเลขค่อนข้างคงที่ เพราะส่วนมากลาออกไปเรียนต่อ และตำแหน่งในสถาบันฝึกอบรมมีจำกัดแต่อัตราการผลิตแพทย์เพิ่มกว่าสมัยก่อนมาก ปัจจุบันมีแพทย์จบใหม่ประมาณปีละ 2,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เป็นบวกปีละประมาณ 1,400 คน และจะมากกว่านี้ในอนาคตหากเป็นไปตามเป้าที่กำหนดจะผลิตให้ได้ปีละ 3,000 คน คาดว่าอีกไม่นาน จำนวนหมอในระบบราชการจะเพิ่มเป็น 2 เท่า ดังนั้น ที่เป็นปัญหาจริงๆ ตอนนี้คือเรื่องการกระจายแพทย์ รวมทั้งในจังหวัดที่เป็นข่าวด้วย เหตุผลหลักคือเรื่องรูปแบบการจัดสรรสถานที่เพิ่มพูนทักษะปีที่ 1 กับปีที่ 2-3 มากกว่า” นพ.แมนวัฒน์ ให้ความเห็น

ทั้งนี้ นพ.แมนวัฒน์ ให้ความเห็นถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาว่า ควรพัฒนา รพช.ให้ดีขึ้น ยกระดับโรงพยาบาลที่พร้อมขึ้นเป็นพี่เลี้ยง ตลอดจนเปิดตำแหน่งเฉพาะทางให้น้องๆ มีโอกาสไปเรียนต่อ เชื่อว่าจะช่วยให้หมอจบใหม่ใน รพช.ทำงานสบายใจขึ้น มีที่ปรึกษา และคนไข้ไม่ต้องเข้าไปแออัดในเมืองด้วย

“ส่วนตัวเชื่อว่าในอนาคตเมื่อแพทย์ในระบบมีจำนวนมากขึ้นจนเพียงพอ ระบบต่างๆ จะดีขึ้น การพัฒนาของโรงพยาบาลรัฐจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นครับ รบกวนผู้ใหญ่ในกระทรวงคิดเผื่อวางแผนดีๆ ด้วยนะครับว่าจะดูแลหมอที่เพิ่มมาเป็นหมื่น รวมทั้งพยาบาลและเจ้าหน้าที่อื่นอีกหลายหมื่นคนอย่างไร” นพ.แมนวัฒน์ กล่าว

โปรดให้โอกาสหมอทุนโรงพยาบาล

ขณะเดียวกัน ประเด็นที่ควรแก้ไขมากๆ และอยากฝากถึงกระทรวงฯ แพทยสภา และสถาบันฝึกอบรม คือ เรื่องการเรียนต่อ เป็นปัจจัยที่หมอลาออกมากที่สุด เป้าหมายหลักของหมอจบใหม่หลายคนคืออยู่ในระบบเพื่อให้ครบปีก่อนจะออกไปเรียน หรือเพื่อรอรับทุน ดังนั้น การรับแพทย์เข้าฝึกอบรมเฉพาะทางจึงอยากให้มองความสำคัญกับทุนของโรงพยาบาลรัฐก่อน

“ปีนี้น้องๆ จำนวนมาก รับทุนต้นสังกัดไป แต่ไม่มีที่เรียน นี่คือความจริงครับ ทุกวันนี้บางสาขา บางสถาบัน แทบไม่ได้พิจารณาส่วนนี้เลย หรือมองเป็นข้อเสียของผู้สมัครด้วยซ้ำ เพราะกังวลว่าหากในที่สุดไม่ได้ทุนจะไม่ได้มาเรียน หรืออยากเก็บตำแหน่งไว้รับแพทย์ทุนอิสระ ซึ่งไม่มีภาระต้องกลับไปใช้ทุนยังต้นสังกัด เพื่อให้อยู่ทำงานต่อเป็นแพทย์ประจำบ้านต่อยอด หรือ Staff แทน นอกจากนี้ ในหลายๆ สาขา เช่น สูตินรีเวช หรือวิสัญญี หรืออีกบางสาขา ซึ่งมีผู้สมัครเข้ารับการฝึกอบรมมากและครบทุกปีอยู่แล้ว ก็ควรกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครเหมือนสาขาปกติ ไม่น่าจะจำเป็นต้องลดจำนวนปีที่ใช้ทุนต่ำกว่า 3 ปี” นพ.แมนวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รพ.ดอนจาน กาฬสินธุ์ ขาดหมอขั้นวิกฤติ วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา

กาฬสินธุ์ขาดแคลนแพทย์หนัก หมอจบใหม่แห่ลาออกหนีพื้นที่ห่างไกล

ผอ.รพ.ดอนจาน ย้ำไม่คิดทิ้งคนไข้แม้ทั้ง รพ.มีหมออยู่คนเดียว

อีก 20 กว่าอำเภอยังขาดแคลนแพทย์ขั้นวิกฤติ สธ.ต้องโยกหมอ ODOD ข้ามจังหวัดไปช่วย