ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากพลังชุมชนชาวเกาะสีชังนำไปสู่การกำจัดน้ำมันทอดซ้ำออกจากห่วงโซ่อาหารอย่างเป็นระบบ และกำลังขยายไปสู่ร้านอาหารปลอดภัยจากน้ำมันทอดซ้ำ ทั่วเกาะสีชัง

นับแต่ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง “ความปลอดภัยทางอาหาร : การจัดการน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ” ผ่านการรับรองในการประชุมประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 4 พ.ศ.2554 และต่อมาเป็นมติคณะรัฐมนตรี หน่วยงานและภาคีเครือข่ายต่างๆ ได้รวมกันจัดการปัญหาทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่ โดยส่วนใหญ่จะเน้นไปที่สร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการอาหารทอดให้เปลี่ยนน้ำมันทอดเมื่อน้ำมันทอดใกล้เสื่อมสภาพ (มีสารโพลาร์เกินค่ามาตรฐาน) แต่ยังขาดการกำจัดน้ำมันทอดซ้ำ หรือน้ำมันทอดเสื่อมสภาพเหล่านั้นอย่างเป็นระบบ

จึงพบว่ามีผู้ที่ทำธุรกิจรับซื้อน้ำมันทอดเสื่อมสภาพเหล่านี้ไปแปรรูปต่อ โดยอาจนำไปผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลซึ่งเป็นทางออกที่ดีในการตัดน้ำมันทอดเสื่อมสภาพออกจากระบบห่วงโซ่อาหาร, แต่ที่น่ากังวลคือการนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์ หรือที่เป็นอันตรายคือการนำกลับไปฟอกสีน้ำมันให้ใสแล้วนำมาบรรจุขายเป็นน้ำมันสำหรับบริโภคอีกครั้ง และประเทศไทยก็ยังไม่มีระบบกำกับติดตามธุรกิจรับซื้อน้ำมันทอดเสื่อมสภาพที่ดีพอ

ในขณะที่หลายพื้นที่กำลังพยายามหารูปแบบในการจัดการปัญหาน้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพให้ออกไปจากห่วงโซ่อาหาร ชาวเกาะสีชังซึ่งเป็นประชากรในอำเภอเล็กๆ ของจังหวัดชลบุรี ก็เริ่มดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวเช่นกัน โดยเริ่มต้นจากความตั้งใจของนักวิจัย 2 สถาบัน คือ สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ จับมือดำเนินโครงการสำรวจสถานการณ์การใช้น้ำมันทอดซ้ำและแนวทางการจัดการกรณีพื้นที่เกาะสีชังจังหวัดชลบุรี ภายใต้การสนับสนุนทุนจากแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) โดยมี รศ.วรวุฒิ จุฬาลักษณานุกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

โดยในระยะแรกเป็นการศึกษาสำรวจสถานการณ์ พฤติกรรมการใช้น้ำมันทอดของผู้บริโภคและผู้ประกอบการร้านอาหาร รวมถึงหาแนวทางการเฝ้าระวัง ร่วมเครือข่ายในการออกสำรวจสถานการณ์การใช้น้ำมันทอดซ้ำในพื้นที่เกาะสีชัง ได้แก่ โรงพยาบาลเกาะสีชัง และอาสาสมัครสาธารณสุขเกาะสีชัง จากนั้นนำผลการศึกษานำเสนอต่อส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและชุมชนชาวเกาะสีชังเพื่อรับทราบและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เกิดเป็นกิจกรรมอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการร้านค้าอาหารทอดในพื้นที่ และอาสาสมัครสาธารณสุขเกาะสีชัง ในประเด็นการเลือกซื้อน้ำมัน การเก็บรักษาน้ำมัน การใช้น้ำมัน การเปลี่ยนน้ำมันการทิ้ง และการกำจัดน้ำมัน

ผู้ประกอบการร้านอาหารนำน้ำมันทอดฯ มาส่งบ้าน อสม.ซึ่งเป็นจุดรวบรวม

จากนั้นพัฒนาต่อเป็นโครงการผลิตไบโอดีเซลชุมชนเกาะสีชังจากน้ำมันใช้แล้ว: สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ และ โครงการผลิตไบโอดีเซลชุมชนเกาะสีชังจากน้ำมันใช้แล้ว ระยะที่ 2 ภายใต้ชุดโครงการ “จุฬาสร้างสรรค์  สีชังยั่งยืน” ระหว่างปี 2558-2559 สนับสนุนโดยจุฬาฯ เพื่อพัฒนากระบวนการรวมน้ำมันทอดเสื่อมสภาพจากครัวเรือนและร้านอาหาร โดยมีประชาสังคมชาวเกาะสีชัง ร่วมเป็นจิตอาสารวบรวมน้ำมันทอดเสื่อมสภาพจากครัวเรือนและร้านอาหาร นำมารวมยังจุดรวบรวมน้ำมัน ที่โรงพยาบาลเกาะสีชัง  และบ้านของ อสม.

ก่อนจะส่งมาที่ สถานีวิจัยทางทะเล สถาบันทรัพยากรทางน้ำ เพื่อนำไปผลิตเป็นไบโอดีเซล นำไปใช้กับรถตู้ของสถาบันฯ และเรือประมงของอาสาสมัครในเกาะสีชัง เป็นการกำจัดน้ำมันทอดเสื่อมสภาพออกจากห่วงโซ่อาหาร ในขณะเดียวกันภาคีที่เข้าร่วมกระบวนการก็ได้ร่วมเรียนรู้ ถึงอันตรายจาการใช้น้ำมันทอดเสื่อมสภาพ และมีความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นพลังในการกำจัดน้ำมันทอดเสื่อมสภาพออกจากห่วงโซ่อาหาร

รถตู้ของสถาบันวิจัยฯ ใช้ไบโอดีเซล

และในปี 2560 สถาบันฯ แผนการดำเนินการเพื่อขยายและต่อยอดผลสำเร็จ โดยขยายเครือข่ายครัวเรือนและร้านอาหาร และเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล จากน้ำมันทอดเสื่อมสภาพภายใต้ “ชุดโครงการทำดีเพื่อพ่อ” รวมทั้งขยายความร่วมมือกับภาคีองค์กรต่างๆ ต่อไป

เครื่องผลิตไบโอดีเซล ที่ตั้งอยู่ในสถาบันฯ

จะเห็นได้ว่าการกำจัดน้ำมันทอดเสื่อมสภาพออกจากห่วงโซ่อาหาร สามารถทำได้โดยพลังชุมชนเป็นแรงผลักดันที่สำคัญ ซึ่งเกินขึ้นได้เมื่อชุมชนมีส่วนร่วมตั้งแต่การรับรู้ปัญหา จนนำไปสู่การออกแบบวิธีการแก้ปัญหาร่วมกัน

ผู้เขียน: ภญ.สรีรโรจน์ สุกมลสันต์ ศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) www.thaihealthconsumer.org

ภญ.สรีรโรจน์ สุกมลสันต์