ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช.และ คณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตติดตามการให้บริการผู้ป่วยที่ แพร่ ลำพูน พร้อมนำข้อเสนอแนะปรับปรุงระบบบัตรทอง

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ผู้แทนแพทยสภา) และประธานคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24-25 มกราคม 2560 ได้นำคณะอนุกรรมการฯ และผู้บริหาร สปสช.ติดตามการดำเนินงานการให้บริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพ จ.แพร่ และ จ.ลำพูน การดูงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามการให้บริการของโรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ทั้งในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และระดับตติยภูมิ ซึ่งเป็นการทำงานการดูแลรักษาผู้ป่วยประสานงานกันระหว่างโรงพยาบาลในระดับต่างๆ ทั้งโรงพยาบาลระดับจังหวัดและโรงพยาบาลระดับอำเภอ

“ในครั้งนี้ได้ดูงานการรักษาผู้ป่วยด้านศัลยศาสตร์ออโธปิดิกส์ กายภาพบำบัด ห้องผ่าตัด ซึ่ง รพ.แพร่เป็น รพ.แม่ข่ายระดับตติยภูมิที่ให้การรักษาผู้ป่วย ทั้งการเปลี่ยนข้อกระดูก การผ่าตัดฉุกเฉินกรณีหกล้ม ข้อหัก ซึ่งเป็นการผ่าตัดแบบพิเศษ ผู้ป่วยฟื้นตัวได้ในระเวลาอันสั้น และมีการประสานงานกับโรงพยาบาลระดับอำเภอหรือโรงพยาบาลชุมชนที่ผู้ป่วยอยู่เพื่อการส่งกลับไปดูแลรักษาต่อ ซึ่งก็ได้มาดูที่โรงพยาบาลวังชิ้น ที่เป็นโรงพยาบาลระดับอำเภอ ได้ดูแลผู้ป่วยตั้งแต่เริ่ม ส่งไปผ่าตัดด้วยระบบฟาสต์แทร็ค ซึ่งอาการกลุ่มนี้เป็นโรคที่ต้องรักษาเร็ว เมื่อผ่าตัดแล้ว ก็ส่งกลับมาดูแลที่โรงพยาบาลโดยมีทีมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวให้การดูแล จะเห็นได้ว่ามีการทำงานกัยแบบบูรณาการเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย”

รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างของผู้ป่วยอายุกว่า 80 ปีที่มารักษาเรื่องข้อกระดูกสะโพกหักและได้รับการผ่าตัด สามารถกลับมาเดินได้ ไม่ต้องเป็นผู้ป่วยติดเตียง ก็กลับมามีชีวิตอย่างมีความสุข หรือคนอายุน้อยที่มีปัญหาเรื่องข้อเข่าก็ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ได้มีชีวิตใหม่ สามารถทำงานเป็นพลังให้กับสังคมได้ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นบทบาทหนึ่งที่ สปสช.ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ดูแลผู้ป่วยด้วยระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นกำลังพัฒนาสังคมไทยต่อไป

รศ.พญ.ประสบศรี กล่าวว่า การดูงานครั้งนี้ ยังได้มีการประชุมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการดำเนินงานการให้บริการสาธารณสุขแล้วในแต่ละพื้นที่ด้วย ซึ่งมีข้อเสนอที่น่าสนใจจากทีมผู้ปฏิบัติงานจริง โดยคณะอนุกรรมการฯ จะนำทุกข้อเสนอแนะไปปรับปรุงการออกแบบระบบหลักประกันสุขภาพ ตลอดจนระบบการเงินการคลังเพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและบุคลากรสาธารณสุขต่อไป

ทั้งนี้การดูงานแต่ละพื้นที่มีดังนี้ ช่วงเช้าของวันที่ 24 มกราคม ติดตามดูงานที่ รพ.แพร่ ในประเด็นภาพรวมการให้บริการของโรงพยาบาล สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และนวัตกรรมการจัดการเรื่อง “ศัลยศาสตร์ออโธปิดิกส์ กายภาพบำบัด ห้องผ่าตัด”

ต่อจากนั้นช่วงบ่ายลงพื้นที่ รพ.วังชิ้น จ.แพร่ ติดตามดูงาน ระบบการส่งต่อจากโรงพยาบาลใหญ่ การลดความแออัด การจัดเครือข่ายการบริการดูแลโรคกระดูกและข้อ การเยี่ยมบ้านผู้ป่วยในชุมชน

ขณะที่เช้าวันที่ 25 มกราคม ติดตามดูงานที่ รพ.ลำพูน ภาพรวมการให้บริการของโรงพยาบาล สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และนวัตกรรมเด่นเรื่อง การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง

โดยผู้เข้าร่วมประชุมติดตามการดำเนินงานครั้งนี้ประกอบด้วย 1.รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ผู้แทนแพทยสภา) 2.พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข 3.นพ.พินิจ หิรัญโชติ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ทางเลือก) 4.ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ สภาเภสัชกรรม 5.นางศิริรัตน์ ลิกานนท์สกุล อดีตอุปนายกสภาเทคนิคการแพทย์ 6.นางสุนทรี เซ่งกิ่ง กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านแรงงาน) 7.นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค 8.นพ.ชูชัย ศรชำนิ รองเลขาธิการ สปสช. 9.นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการ สปสช.