ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ทิชา” ถอดบทเรียนบ้านกาญจนาฯ ชี้การทำคุกให้เป็นคุกเป็นการซ้ำเติมผู้เสียหาย และสร้างเหยื่อรายต่อไป ระบุ 70% ของอาชญากรเด็ก มาจากการหลุดออกจากระบบการศึกษา-ทุนทางครอบครัวต่ำ-สังคมไม่เกื้อหนุน ยืนยันเด็กต้องการเพียงเป็นที่ยอมรับ และต้องเชื่อว่าเด็กเป็นคนดีได้

นางทิชา ณ นคร

นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก บรรยายพิเศษหัวข้อ “วัฒนธรรมองค์กร สร้างคน สร้างงาน สร้างคุณค่า” ภายในการประชุม “National Forum on Human Resources for Health 2017 : การระดับชาติ การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ในระบบสุขภาพ (HR4H Forum 2017)” คุณค่าคน คุณค่างาน บันดาลสุข ณ อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559

นางทิชา กล่าวว่า ว่ากันตรงไปตรงมาบ้านกาญจนาภิเษกก็คือคุกเด็ก แต่เป็นคุกแห่งเดียวที่เปิดโอกาสให้คนนอกซึ่งไม่ใช่ข้าราชการของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนเข้าไปเป็นผู้บริหาร โดยที่ผ่านมาอาจมีผู้สงสัยว่าเหตุใดการเปลี่ยนแปลงคุกจึงเกิดขึ้นได้ยาก แน่นอนว่าคนมีความเชื่อว่าคุกจะต้องเป็นคุก หากเปลี่ยนแปลงคุกไม่ให้เป็นคุกแล้วคงมีคนจำนวนมากไม่ยินยอม หรืออาจมีความคิดว่าเหยื่อหรือผู้เสียหายอาจจะไม่ยินยอม ซึ่งก็ไม่ใช่ความคิดที่ผิด ยังเป็นสิ่งที่ถูกต้องอยู่ แต่ความคิดนี้เหล่านี้จะทำให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไม่ได้

อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าการทำคุกไม่ให้เป็นคุกนั้นไม่ได้เป็นการซ้ำเติมผู้เสียหาย เราอาจเห็นภาพว่าการลงโทษเท่ากับการให้ความเป็นธรรมกับเหยื่อ แต่การลงโทษที่ไม่ถูกต้องเท่ากับการทำให้เกิดเหยื่อซ้ำรายต่อๆ ไป การฆ่าคนของวัยรุ่นครั้งแรกอาจมาอาจวุฒิภาวะหรือประสบการณ์ที่ไม่พร้อม แต่หากเราเยียวยา ฟื้นฟู และพัฒนาเขาเหล่านั้นไม่ดี การฆ่าคนครั้งที่สองอาจเป็นเป้าหมายของเขาทันที

“การที่เรามัวแต่ห่วงว่าคุกจะต้องเป็นคุก จะออกไปอีกทางไม่ได้นั้น ไม่ใช่เป็นแค่เดทล็อกขององค์กรเท่านั้น แต่นี่คือเดทล็อกของประเทศด้วย” นางทิชา กล่าว

นางทิชา กล่าวว่า เมื่อเข้ามาเป็นผู้อำนวยการบ้านกาญจนาก็ได้ตั้งคำถามถึงอดีต สาเหตุและที่มาของเด็กซึ่งก่อคดีรุนแรงตั้งแต่อายุยังน้อย โดยพบว่าเยาวชนที่ถูกจับกุม 3.5-5 หมื่นรายนั้น ในจำนวนนี้มีเกือบ 70% ที่มีประวัติเหมือนกันคือเป็นเด็กที่เรียนไม่จบหรือต้องเลิกเรียนกลางคัน (Drop out) ซึ่งแต่ละปีประเทศไทยมีเด็กที่ drop out กว่า 1 แสนราย โดยกลุ่มที่ drop out มากที่สุดอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งหากโฟกัสลงลึกก็จะพบอีกว่าอยู่ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2

“ตัวเลขเหล่านี้เป็นความจริงที่คนรู้กันหมด เพียงแต่การแก้ไขมันยังไม่เกิดขึ้น ฉะนั้นสิ่งที่เราต้องช่วยกันตอบว่ายอดเด็ก 1 แสนคนต่อปี ที่ drop out นั้นจะไปอยู่ไหนกัน ซึ่งคำถามนี้เด็กไม่สามารถตอบเองได้ ข้อมูลจากเด็กในบ้านกาญจนาคือเมื่อเด็กเหล่านี้ออกจากระบบ เขาไม่ได้ไปอยู่เฉยๆ หรือหางานทำ แต่เขาเหล่านี้เจอกัน” นางทิชา กล่าว

นางทิชา กล่าวอีกว่า เด็ก drop out ไม่ได้เดินออกจากโรงเรียนเฉพาะร่างกายและชื่อ แต่เขายังได้เก็บเอาความรู้สึกของผู้แพ้และความไร้ค่าออกมาด้วย โดยสถิติ drop out ในระดับมัธยมต้นออกมาไม่ได้ฆ่าตัวตายเหมือนเด็กมหาวิทยาลัย ข้อดีคือเขายังไม่มีเป้าหมายเหมือนเด็กมหาวิทยาลัยที่มีเป้าหมายแล้วถูกกดดัน แต่ข้อเสียของเด็กกลุ่มนี้คือเมื่อไม่มีเป้าหมายก็ใช้ชีวิตอย่างไร้ทิศทาง

“เราเห็นการ drop out ในฐานะปัจเจกเท่านั้น แต่เราไม่ได้มองการ drop out เป็นปัญหาเชิงระบบ ถ้าเรามองเพียงแค่ปัจเจกนั่นก็จะเป็นปัญหาของนาย ก. นาย ข. นาย ค. เท่านั้น แต่ถ้าเรามองเป็นปัญหาเชิงระบบ รัฐบาลหรือกระทรวงศึกษาธิการต้องมี accountability” นางทิชา กล่าว

นางทิชา กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราไม่เคยตั้งคำถามกับคนจัดการศึกษา เราจึงเอาปลาไปปีนต้นไม้แข่งกับลิง หรือเอาลิงมาว่ายน้ำแข่งกับปลา นั่นทำให้ต้องมีผู้แพ้ มากไปกว่านั้นก็คือเราไม่เคยตั้งคำถามกับคนผู้จัดแข่ง แต่เรากลับมาตั้งคำถามกับผู้แพ้ ซึ่งเป็นการตั้งคำถามที่ผิดพลาด ประกอบกับทุนในวัยเด็กที่หลายคนกระท่อนกระแท่น เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นจึงกลายเป็นเรื่องยากที่จะจัดการกับปัญหา

“ที่สำคัญก็คือพื้นที่ดี พื้นที่สีขาว พื้นที่สว่าง พื้นที่ที่จะต่อยอดในมุมที่งดงามของมนุษย์สำหรับประเทศนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก มันไม่ค่อยเกิดขึ้นเลย ฉะนั้นสมการก็คือการก่ออาชญากรรมเท่ากับการหลุดออกจากระบบการศึกษา ทุนในวัยเด็กที่ไม่พร้อม และสังคมที่ไม่เกื้อหนุน” นางทิชา กล่าว

นางทิชา กล่าวอีกว่า เด็กคนหนึ่งเล่าว่าในวันที่เขาลั่นไกใส่คู่อริ แม้กระสุนจะพลาดเป้า แต่เพื่อนทุกคนยอมรับในความใจกล้าของเขา นั่นทำให้เขามีตัวตนและรู้สึกว่าได้รับการยอมรับจากกลุ่ม ดังนั้นเขาจึงคิดว่าการลั่นไกครั้งที่สองต้องมีคนตาย เพราะเขาไม่อยากทำให้คนที่ชื่นชมเขาต้องผิดหวัง

“สิ่งเหล่านี้พวกเราอาจได้รับมาแล้วจากการเรียน จากการทำงาน จากความสำเร็จในชีวิต แต่เด็กเหล่านี้เขาโหยหาสิ่งนี้มากกว่าอาหาร การลั่นไกครั้งที่สองต้องมีคนตาย นี่คือราคาที่ประเทศนี้ต้องจ่าย” นางทิชา กล่าว

นางทิชา กล่าวว่า เด็กที่พูดถึงข้างต้นอายุเพียง 17 ปี แต่ฆ่าคนมาแล้ว 4 คน โดยเมื่อเด็กคนนี้โตขึ้น มีประสบการณ์มากขึ้น หล่อหลอมความเป็นมนุษย์และผ่านกระบวนการ เขาเคยเขียนงานเพื่อตอบคำถามที่ว่าบ้านแบบไหนที่จะทำให้เด็กที่ถูกศาลพิพากษาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เขาตอบว่าต้องเป็นบ้านที่ทำให้ปีศาจในตัวของเขากลายเป็นมนุษย์ ทำให้เขาสามารถเป็นตัวของตัวเองเหมือนที่บ้านกาญจนากำลังทำ ซึ่งจะทำให้เด็กสามารถเติบโตจากความผิดพลาดได้

“ความจริงเด็กยังมีความคิดและความเป็นมนุษย์อยู่ แต่อยู่ในส่วนลึก เราจึงต้องมีเครื่องมือที่ดึงสิ่งนี้ของเขาออกมาให้ได้ และคำถามที่เราต้องช่วยกันตอบก็คือเราสร้างสังคมกันแบบไหน ถึงมีลูกหลานเช่นนี้มากมาย นี่คือสิ่งที่เราต้องกลับมาทำความเข้าใจกันใหม่” นางทิชา กล่าว

นางทิชา กล่าวว่า จากการทำงานส่วนตัวตกผลึกแล้วว่าอาชญากรเด็กเกิดขึ้นเองไม่ได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าการฆ่าคนของเขาเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง อาชญากรเด็กไม่ได้ได้มาจากการเกิด แต่เขาเป็นผลลัพธ์ของสังคม ของกฎหมาย ของนโยบาย ของทุกๆ คนที่มีส่วน ฉะนั้นทุกครั้งที่บ้านกาญจนารับเด็กเราจะโอบกอดเขา และบอกเขาว่าถ้าปาฏิหาริย์มีจริง เชื่อว่าถ้าย้อนเวลากลับไปเขาจะไม่ฆ่าใคร แต่ปาฏิหาริย์ไม่มีจริง มีคนหนึ่งคนตายไปแล้ว และศาลก็ตัดสินใจต้องมาติดคุกแล้ว ญาติของเหยื่อก็ยังโกรธแค้นและไม่รู้เวลาจะเยียวยาได้หรือไม่ แต่ขอขอบคุณเขาที่มายืนอยู่ตรงนี้

“เราเป็นผู้ใหญ่และอาจจะหลงลืมอะไรไปหลายอย่าง และเด็กเหล่านี้คือผลผลิตของเรา ฉะนั้นเราต้องขอโทษ และเราเชื่อว่าในตัวของเด็กย่อมมีตัวของเขาอีกคนหนึ่งนั่นคือคนที่ดี คนที่อยากทำอะไรที่งดงาม แต่คนๆ นั้นอาจจะออกมาไม่ได้ เราจึงจะทำให้เขาออกมา และยินดีต้อนรับคนใหม่ของเขา”