ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข บูรณาการ 5 กระทรวง “ศึกษา-สาธารณสุข-พัฒนาสังคมฯ-แรงงาน-มหาดไทย” แก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี ตั้งเป้าลดแม่วัยรุ่นลง 50% ภายในปี 2569 เปิดข้อมูลในปี 2558 พบหญิงวัยรุ่นต่ำกว่า 20 ปี คลอดบุตรกว่า 100,000 คน เฉลี่ยวันละ 300 คน ความร่วมมือช่วยลดการเสียชีวิตของมารดา ทารก คลอดซ้ำ การทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย ไม่เสียโอกาสทางการศึกษา การงาน เด็กไม่ถูกทอดทิ้ง เติบโตอย่างมีคุณภาพ

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมและปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ถึงเวลาบูรณาการงานท้องวัยรุ่นในประเทศไทย” ในการประชุมระดับชาติสุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 2 โดยประกาศเป้าหมายร่วมกันคือ “ลดอัตราการตั้งครรภ์แม่วัยรุ่น” เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายการทำงานในการลดปัจจัยเสี่ยง และส่งเสริมสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า รัฐบาลได้สนับสนุนให้มีพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อเดือนวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2559 ที่ผ่านมานับเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาท้องวัยรุ่นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีเอกภาพ ตั้งเป้าลดแม่วัยรุ่นลง 50% ภายในปี 2569 โดยบูรณาการ 5 กระทรวงหลัก ประกอบด้วย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภาคีเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ นักวิชาการและภาคประชาสังคม ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการบนพื้นฐานสิทธิของวัยรุ่น ทั้งในสถานศึกษา สถานประกอบการ สถานบริการสาธารณสุข หน่วยงานสวัสดิการสังคม และท้องถิ่น

ภายใต้ยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ.2560-2569 ในการมีส่วนร่วม 5 ข้อ ได้แก่

1.พัฒนาระบบการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเพศวิถีศึกษา ระบบการดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสม

2.ส่งเสริมบทบาทครอบครัว ชุมชน และสถานประกอบกิจการในการเลี้ยงดู การสื่อสารด้านสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น

3.พัฒนาระบบบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธ์ที่มีคุณภาพ

4.พัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือ การคุ้มครองสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ และการจัดสวัสดิการสังคมในกลุ่มวัยรุ่น

และ 5.ส่งเสริมการบูรณาการการจัดการฐานข้อมูล งานวิจัย และการจัดการความรู้ โดยตั้งเป้าการลดปัญหาแม่วัยรุ่น อายุระหว่าง 10-19 ปี โดยมีพ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวต่อว่า สถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของประเทศไทย ในปี 2558 พบว่ามีหญิงวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี คลอดบุตร 104,300 คน หรือคลอดเฉลี่ย วันละ 286 คน อายุต่ำกว่า 15 ปี ประมาณ 3,000 คน อายุระหว่าง 10-19 ปี มีการคลอดบุตรซ้ำหรือคลอดบุตรครั้งที่สอง 12,702 คนหรือร้อยละ 12 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจากการตั้งครรภ์ เช่น การเสียชีวิตของมารดา ทารก เด็กแรกเกิดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ความเสี่ยงต่อการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย เสียโอกาสทางการศึกษาต้องหยุดเรียน หรือออกจากการศึกษา ในวัยทำงานจะเสียหน้าที่การงาน การสร้างรายได้ ขาดความพร้อมในการเลี้ยงดูบุตร และเด็กจำนวนหนึ่งถูกทิ้งในสถานสงเคราะห์ ประมาณ 6,000 คนต่อปี หรือเด็กเติบโตอย่างไม่มีคุณภาพ