ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ด้วยแนวโน้มประชากรสูงอายุที่มากขึ้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าความต้องการบริการด้านการแพทย์ในอนาคตอันใกล้จะยิ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ที่สำคัญคือแนวโน้มการเจ็บป่วยจากความเสื่อมของร่างกาย แนวโน้มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ความเจ็บป่วยที่ต้องใช้เทคนิคการรักษาซับซ้อนหรือเฉพาะทางต่างๆ จะเป็นความท้าทายใหญ่ที่ระบบสาธารณสุขไทยต้องเผชิญ

นอกจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะผู้รับผิดชอบโดยตรงแล้ว แพทยสภาในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลการมาตรฐานการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ในระดับสูง ก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ต้องเตรียมพร้อมกับความท้าทายในอนาคตเช่นกัน

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร อุปนายกแพทยสภาคนที่ 2 กล่าวถึงแนวโน้มในอนาคตว่า ประเทศไทยมาถึงจุดที่มีการขาดแคลนแพทย์เฉพาะทางแทบจะทุกๆ สาขา เมื่อเทียบกับปริมาณโรคเฉพาะที่มากขึ้นตามจำนวนประชากรสูงวัย ซึ่งแพทยสภาได้ปรับนโยบายการผลิตแพทย์เฉพาะทางมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับตัวของ สธ. ที่มุ่งเน้นการพัฒนาแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวในระดับชุมชน และการพัฒนา Service Plan เพื่อให้คนไข้ได้รับการบริการจากแพทย์เฉพาะทางตามมากขึ้นลำดับขั้น

“ตอนนี้ขาดแคลนทุกสาขา ประชาชนคนสูงอายุมากขึ้น โรคเรื้อรังรุนแรงมากขึ้น บอกได้เลยว่าอีก 10 ปีคุณจะไปหาหมอทั่วๆ ไปไม่ได้แล้ว ตอนสุดท้ายก็คุณต้องไปหาแพทย์เฉพาะทางจริงๆ แต่มันจะชะลอได้ถ้าประชาชนช่วยกันดูแลสุขภาพซึ่งเรื่องนี้ต้องใช้เวลานี้อีกนาน ดังนั้นเราก็ต้องทำ 2 ขาคู่กันไป ข้างหนึ่งส่งเสริมประชาชนดูแลสุขภาพอย่าให้เจ็บป่วยมากนัก อีกข้างคือเมื่อเขาเจ็บป่วย ก็ต้องมีหมอดูแล” พญ.ประสบศรี กล่าว

อาจารย์ประสบศรี กล่าวอีกว่า ณ วันนี้ บทบาทแพทยสภาคือการกำกับดูแลแพทย์เฉพาะทางของประเทศโดยตรง ซึ่ง แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว แพทย์อายุรศาสตร์ แพทย์กุมารเวชศาสตร์ ฯลฯ ถือเป็นแพทย์เฉพาะทางทั้งสิ้น บางคนคิดว่าแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวคือแพทย์ทั่วไป แต่จริงๆ ไม่ใช่ และด้วยนโยบายประเทศที่เน้นการพัฒนาแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวลงไปปฏิบัติงานในระดับชุมชนเพื่อเป็น Gate Keeper ดูแลประชาชนในขั้นต้นไม่ให้เจ็บป่วยเป็นโรครุนแรง แพทยสภาก็เพิ่มการผลิตในสาขานี้ ขณะเดียวกัน ก็ยังมีคนไข้ที่เป็นโรคเรื้อรังรุนแรงไปแล้วและต้องการการดูแลโดยแพทย์เฉพาะทางอีกระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นศัลยแพทย์ หมอเด็ก หมอกระดูก หมออายุรศาสตร์ ดังนั้นทิศทางของแพทยสภาตอนนี้ ต้องผลิตแพทย์เฉพาะทางเพิ่มขึ้นให้เท่าทันกับความต้องการของประเทศ

สำหรับแนวทางการเพิ่มจำนวนแพทย์เฉพาะทาง พญ.ประสบศรีกล่าวว่า แพทยสภาได้ร่วมมือกับ สธ. ในการเพิ่มสถาบันผลิตแพทย์เฉพาะทางให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเวชศาสตร์ครอบครัวหรือแพทย์เฉพาะทางด้านต่างๆ โดยการกระจายหรือขยายโอกาสในการเปิดสถาบันผลิตแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลหรือศูนย์แพทย์ในเขตภูมิภาค

กล่าวคือแทนที่โรงพยาบาลจะดูแลประชาชนอย่างเดียว ก็ให้หันมาร่วมผลิตแพทย์เฉพาะทางภายใต้การควบคุมคุณภาพโดยแพทยสภาและราชวิทยาลัยต่างๆ ให้มากขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจาก สธ. ในการเพิ่มจำนวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่จะมาเป็นครูแพทย์เฉพาะทางให้ ซึ่งขณะนี้ได้เปิดไปแล้วหลายแห่งทั่วประเทศ ล่าสุด ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ก็ไปเปิดการฝึกอบรมขึ้นมาใน จ.บุรีรัมย์ รวมถึงโรงพยาบาลอื่นๆ ในสังกัด สธ.อีกหลายแห่ง

นอกจากนี้ แพทยสภายังได้ขอให้ราชวิทยาลัยต่างๆ ไปตรวจสอบว่ามีหนทางที่จะเพิ่มกำลังการผลิตได้อย่างไร จากนั้นผลิตให้เต็มกำลังความสามารถ โดยขณะนี้มีกำลังการผลิตประมาณ 2,000 ตำแหน่งต่อปีเรียบร้อยแล้ว

ส่วนแนวทางการคัดเลือกแพทย์เข้ามาเรียนเฉพาะทางด้านต่างๆ แพทยสภาได้ขอให้ราชวิทยาลัยที่คัดเลือกผู้เข้าอบรม ให้พิจารณาจาก 1.ความถนัดของแพทย์ว่าถนัดในสาขานั้นๆ หรือไม่ และ 2.มาจากต้นสังกัดอะไร โดยให้ความสำคัญกับผู้ที่มาจากโรงพยาบาลในสังกัด สธ.สูงสุด เพื่อไปตอบสนองนโยบายการทำ Service Plan

“เพราะฉะนั้นถ้า สธ.ส่งมาแล้วเป็นคนเก่ง เราก็จะรับมากเป็นอันดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีต้นสังกัดจากกลาโหม ศึกษาธิการ หรือท้องถิ่น เราก็จะแบ่งกันให้สมดุล นอกจากนี้ ก็มีอีกกลุ่มคือกลุ่มที่ใช้ทุนและอยากมาอบรมแบบอิสระแบบไม่มีต้นสังกัดส่งมา อันนี้เราก็จะเปิดโอกาสให้เข้าสู่ระบบเป็นแพทยอิสระ คือโรงพยาบาลที่เป็นคนเทรนจะเป็นคนจ่ายเงินเอง แต่จำนวนนี้จะเป็นจำนวนที่น้อยและต้องเป็นเด็กเก่ง” พญ.ประสบศรี กล่าว

อย่างไรก็ดี ยังมีบางประเด็นที่คนเข้าใจผิด โดยปกติแล้วราชวิทยาลัยต่างๆ จะมีหลักเกณฑ์ผู้ที่เข้าอบรม เช่น ทำงานมาแล้ว 2 ปีถึงจะเข้าเรียนได้ แต่จะมีอีกกติกาของ สธ.เองว่าต้องทำงานกี่ปีถึงจะมาอบรมได้ จุดนี้แพทยสภาไม่มีอำนาจ เป็นสิทธิซ้อนสิทธิ บางครั้งคนไม่เข้าใจ นึกว่าเป็นเรื่องเดียวกันแล้วบอกว่าแพทยสภาไปจำกัดสิทธิในการเข้าเรียน แต่ในภาพรวมก็ต้องยอมรับว่าตำแหน่งที่รับเข้าอบรมมีน้อยกว่าจำนวนผู้ต้องการเป็นแพทย์เฉพาะทาง

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการฝึกอบรมโดยตรง แพทยสภาก็มีอีกระบบที่ช่วยสนับสนุน กล่าวคือหากทำงานในสาขาวิชานั้นๆ ในโรงพยาบาลเกิน 5 ปีขึ้นไป จะเปิดโอกาสให้เข้าสู่การทดสอบประเมินเป็นผู้เชี่ยวชาญ และแพทยสภาจะออกหนังสือรับรองให้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขานั้นๆ ได้ด้วย

“เพราะฉะนั้น สำหรับคนที่ผิดหวังในการเข้าสู่ระบบการฝึกอบรมโดยตรง ก็สามารถใช้อีกระบบ คือทำงานประจำไปจนถึงจุดหนึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ก็เข้าสู่ระบบการประเมินอีกแบบได้ แต่รูปแบบนี้ต้องทำงานเฉพาะในภูมิภาคด้วย ซึ่งก็จะช่วยเพิ่มวิทยฐานะแก่แพทย์ที่ทำงานในที่ต่างๆ ให้ปรับตัวขึ้นไปตามขั้นตอนได้ การสอบก็อยู่ในกติกาเดียวกัน เวลาได้ใบวุฒิบัตรก็มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน” พญ.ประสบศรี กล่าว

เช่นเดียวกับนักเรียนทุนที่ได้รับทุนแล้วต้องกลับไปทำงานใช้ทุน 3 ปี แพทยสภาพยายามเพิ่มอัตราการเร่งการผลิตแพทย์เฉพาะทางผ่านการใช้ทุน กล่าวคือแพทย์ทุกคนที่ได้ทุนมาแล้วต้องกลับไปทำงานในท้องถิ่นของตัวเอง และได้มีการพัฒนาทักษะการทำงานในชุมชน เช่น สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว ก็สามารถสอบเป็นผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ครอบครัวเลย แต่ระบบนี้ แพทย์คนนั้นต้องทำงานในโรงพยาบาลที่ราชวิทยาลัยให้การรับรองด้วย

“เราอยากให้เด็กกลุ่มนี้เป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ คือแทนที่ไปทำงานแล้วไม่ได้อะไรตอบแทนเลย แต่ถ้าเขาไปอยู่ในโรงพยาบาลที่ถูกรับรองให้เป็นสถาบันฝึกอบรมเวชศาสตร์ครอบครัวครบ 3 ปี ก็มาสอบเป็นผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ครอบครัวในชุมชน ก็จะทำให้หมอในชุมชนไม่ไปไหน และถ้าพูดถึงโรงพยาบาลชุมชน มันก็มีระดับ 60-100 เตียง ที่ต้องการแพทย์สาขาพิเศษ เช่น ออโธปิดิกส์ ศัลยกรรม อายุรกรรม ตรงนี้แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเหล่านี้ก็มาสามารถมาเรียน 2 บอร์ดได้ตามความต้องการของพื้นที่ อาจารย์กำลังบอกว่าเรากำลังขยายโอกาสของนักเรียนที่จะเข้ามาสู่การอบรม แต่ก็ขึ้นอยู่กับต้นสังกัดจะส่งมาหรือเปล่า” พญ.ประสบศรี กล่าว

และสุดท้าย เนื่องจากการเรียนแพทย์เฉพาะทางปกติจะใช้เวลา 3-5 ปี แต่บางทักษะบางสามารถทำได้ในระยะเวลาที่สั้นขึ้น เพราะฉะนั้นแพทยสภาก็จะเปิดหลักสูตรใหม่ ระยะเวลา 1-2 ปี สำหรับแพทย์ที่อยู่ในท้องถิ่นต่างๆ ที่มีโรคประจำท้องถิ่นและจำเป็นต้องเสริมทักษะพิเศษ แต่ไม่ต้องมาเรียนเป็นผู้เชี่ยวชาญเต็มที่ 3-5 ปีอีกต่อไป

“ในภาพรวม การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน เรามีสาขาหลากหลายและมีช่องทางเข้ามาสู่การฝึกอบรมให้เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญที่หลากหลายเช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าผู้เรียนต้องการแบบไหน” พญ.ประสบศรี กล่าวทิ้งท้าย