ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช.อนุมัติแผนรับฟังความคิดเห็นทั่วไปฯ ปี 60 ปฎิรูปกระบวนการรับฟังความเห็น เพิ่มความสำคัญกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประเด็นเฉพาะ พร้อมเปิดรับฟังความเห็นด้วยรูปแบบและวิธีการหลากหลาย เสริมสร้างจุดแข็งระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขยายการมีส่วนร่วม สู่การพัฒนาระบบยั่งยืน

ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ – เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ในวันนี้บอร์ด สปสช.ได้อนุมัติแผนรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ประจำปี 2560 ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 18 (10) และ (13) กำหนดให้ บอร์ด สปสช.จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นทั่วไปในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(บัตรทอง) เป็นประจำทุกปีเพื่อระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน นำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขที่เป็นจุดแข็งของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ทั้งยังเป็นการดำเนินตามกลยุทธ์ภายใต้ยุทธ์ศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพ ฉบับที่ 4(พ.ศ. 2560-2564) ในการสร้างความมั่นใจในการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และในปี 2560 นี้ สปสช.ยังได้ปฏิรูปการรับฟังความเห็นโดยเพิ่มความสำคัญผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ในกลุ่มต่างๆ ประเด็นเฉพาะ และด้วยรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย 

นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้และผู้รับบริการ สปสช. กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นทั่วไปฯ สปสช.ได้จัดดำเนินการตั้งแต่ปี 254 เป็นต้นมา โดยในปี 2560 จะเป็นการจัดรับฟังความเห็นครั้งที่ 14  ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพัฒนากระบวนการรับฟังความเห็นให้ก้าวหน้า มีสาระ และเป็นประโยชน์ต่อระบบหลักประกันสุขภาพเป็นอย่างมาก ทั้งการขยายการจัดรับฟังความเห็นไปจนถึงระดับจังหวัด อำเภอ และตำบลในบางพื้นที่ มีการมอบหมายให้หน่วยงานวิชาการ ภาครัฐ และเครือข่ายประชาชน เป็นแกนหลักในการจัดประชุมหรือเป็นเจ้าภาพร่วม และบางพื้นที่มีการจัดประชุมแบบสมัชชา ซึ่งเป็นระบบที่องค์การอนามัยโลกและเวทีนานาชาติใช้อยู่ โดยได้ข้อสรุปเป็นมติของพื้นที่เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดได้ทุกระดับ บางแห่งสามารถสังเคราะห์เป็น ธรรมนูญพื้นที่ ซึ่งเป็นกลไกที่มีคุณค่า

นพ.จรัล กล่าวว่า ในปี 2560 นี้ เพื่อให้การจัดรับฟังความเห็นทั่วไปฯ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น จึงได้มีการทบทวนกระบวนการจัดรับฟังความเห็นเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการรับฟังความเห็น โดยได้บูรณาการรับฟังความเห็นที่คงการรับฟังความเป็นทั่วไปที่เปิดกว้าง เพื่อเปิดให้มีผู้ร่วมแสดงความเห็นที่หลากหลาย รวมถึงประเด็นตามข้อบังคับและประเด็นเชิงนโยบาย ขณะเดียวกันยังกำหนดให้มีการรับฟังความเห็นเฉพาะประเด็น เช่น การรับฟังความกลุ่มผู้ให้บริการในการจัดการระบบ การทบทวนนโยบายสำคัญ อาทิ การดูแลระยะยาวในกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง (Long Term Care: LTC), ปฏิรูปกองทุนท้องถิ่น ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เป็นต้น    

สำหรับกระบวนการรับฟังความเห็นจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การจัดกระบวนการรับฟังความเห็นในระดับพื้นที่ ซึ่งจะเปิดให้มีการแสดงข้อคิดเห็นจากลุ่มเป้าหมายและรวบรวมข้อเสนอต่างๆ ที่ได้เพื่อนำเสนอเข้าสู่เวทีการรับฟังความเห็นระดับชาติ และจากนั้นคณะทำงานจะทำการกลั่นกรองความเห็นที่รับฟังและสรุปเพื่อนำเสนอต่อบอร์ด สปสช.เพื่อพิจารณาต่อไป

“กระบวนการรับฟังความเห็นนับเป็นจุดแข็งของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากทำให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนแล้ว ยังเป็นการประเมินผลการดำเนินนโยบายที่ผ่านมา รับทราบปัญหา พร้อมเปิดรับฟังข้อเสนอแนะที่นำไปสู่การพัฒนากระบวนการทำงานและพัฒนาเชิงนโยบาย นอกจากนี้ยังเป็นการนำไปสู่การสร้างความเข้าใจและลดความขัดแย้งในระบบ เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประสบผลสำเร็จและได้รับการยอมรับทั้งจากในประเทศและต่างประเทศตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา” นพ.จรัล กล่าว