ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศาลจังหวัดนนทบุรีชี้คดีมีมูลฟ้อง มีคำสั่งรับฟ้องกรณี นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรองเลขาธิการ สปสช.เป็นโจทก์ฟ้อง พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ในความผิดฐานหมิ่นประมาท และแสดงข้อความอันเป็นเท็จนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ผ่านทางเว็บไซต์เฟซบุ๊ก

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560 ศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งรับฟ้องกรณี นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรองเลขาธิการ สปสช.เป็นโจทก์ฟ้อง พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ในความผิดฐานหมิ่นประมาท และแสดงข้อความอันเป็นเท็จนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ผ่านทางเว็บไซต์เฟซบุ๊ก Churdchoo Ariyasriwatana ทำให้เกิดความเสียหาย อาจมีผลให้ไม่ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการ สปสช.และศาลนัดไต่สวนคำให้การของจำเลยในวันที่ 22 พฤษภาคม นี้

จากกรณี พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หนังสือยื่นต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ขอให้ชะลอการคัดเลือกเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 โดยขณะนั้นเหลือเพียง นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการ สปสช.เป็นผู้สมัครเพียงรายเดียวที่ได้รับการสรรหาเป็นเลขาธิการ สปสช. โดยให้ข้อมูลว่าสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ตรวจสอบเกี่ยวกับการทุจริตในการบริหารของ สปสช. แล้วพบว่ามีมูล โดยเลขาธิการ สปสช., รองเลขาธิการ สปสช. และบอร์ด สปสช. ต้องมีส่วนรับผิดชอบ และกล่าวหาว่า นพ.ประทีป มีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ปีละมากกว่า 30 ล้านบาทจากการจัดซื้อน้ำยาล้างไต ซึ่งต่อมาทาง สปสช.ได้ชี้แจงว่าข้อกล่าวหาดังกล่าวไม่เป็นความจริง เป็นการนำเอาชุดข้อมูลเก่าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเคยออกมาชี้แจงปฏิเสธไปแล้ว มากล่าวหาใหม่เพื่อมุ่งให้มีผลต่อการคัดเลือกเลขาธิการ สปสช.

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ตนได้มอบหมายให้ทนายความยื่นฟ้อง พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ในข้อหาหมิ่นประมาท และนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดความเสียหาย มีความผิดทางอาญา โดยยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2559 และศาลได้นัดไต่สวนมูลฟ้องหลายครั้ง จนเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2560 ศาลได้อ่านคดีว่ามีมูล และมีคำสั่งรับฟ้องโดยจะนัดโจทก์และจำเลยมาให้การไตสวนในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้

“ที่ต้องฟ้องเป็นคดีอาญา เพราะที่ผ่านมามักมีกลุ่มคนหน้าเดิมๆ มักเอาข้อมูลที่เป็นเท็จ มากล่าวหาให้ร้าย สปสช.และเลขาธิการ หรือผู้บริหาร สปสช.ที่เป็นที่คาดหมายว่าจะเป็นเลขาธิการต่อไปอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อต่างๆ ทั้งๆ ที่มีการชี้แจงข้อเท็จจริงหลายครั้ง ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด ระบบงานหลักประกันสุขภาพได้รับความเสียหาย เมื่อชี้แจงแล้วหลายครั้งไม่ได้ผล จึงต้องพึ่งบารมีของศาล” อดีตรองเลขาธิการ สปสช. กล่าว