ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การแพทย์ผดุงครรภ์หรือการแพทย์เฉพาะทางแม่และเด็กนั้น เฟื่องฟูขึ้นนับตั้งแต่โรงเรียนหญิงแพทย์ผดุงครรภ์และการพยาบาลไข้เกิดขึ้นครั้งแรก ได้รับพระราชทานกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. 2439 โดยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นโรงเรียนผดุงครรภ์และโรงเรียนพยาบาลแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันคือคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ด้วยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ทรงเห็นว่าวิชาแพทย์ผดุงครรภ์มีความจำเป็นแก่ชีวิตของสตรี เนื่องจากในสมัยนั้นสตรีต้องเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากการคลอดบุตร จึงได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ตั้งโรงเรียนเพื่ออบรมผดุงครรภ์ขึ้นในบริเวณโรงพยาบาลศิริราช เริ่มเปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2439 โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนหญิงแพทย์ผดุงครรภ์แลการพยาบาลไข้” สังกัดกรมศึกษาธิการซึ่งต่อมาเรียกว่ากระทรวงธรรมการ และทรงโปรดเกล้าฯให้ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เป็นผู้อำนวยการคนแรก การศึกษาวิชาการพยาบาลจึงได้เริ่มต้นตั้งแต่บัดนั้น

ในระยะต่อมาโรงเรียนได้พัฒนามาเป็นลำดับจนเป็น “โรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์” ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามเป็น “มหาวิทยาลัยมหิดล” ในปี พ.ศ. 2512 และในปี พ.ศ. 2515 โรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย คณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาลได้รับอนุมัติให้ยกวิทยฐานะเป็น “คณะพยาบาลศาสตร์” เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน นับเป็นคณะที่ 13 ของ มหาวิทยาลัยมหิดล

ความสำคัญของวิชาแพทย์ผดุงครรภ์มีขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากการก่อตั้งโรงเรียนหญิงแพทย์ผดุงครรภ์และการพยาบาลไข้ ดังจะเห็นได้จากภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากรมสาธารณสุขขึ้นในกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2461 โดยมีกิจกรรมการสงเคราะห์แม่และเด็กเป็นกิจการสาขาหนึ่งของกรมสาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2469 และได้กำหนดให้มีตำแหน่ง "นางสงเคราะห์สุขาภิบาล" ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ยกฐานะสุขาภิบาลเป็นเทศบาล ในปี พ.ศ. 2478 ตำแหน่งนางสงเคราะห์สุขาภิบาลเปลี่ยนเป็น "นางสงเคราะห์เทศบาล" ในปี พ.ศ. 2481 กิจการสงเคราะห์แม่และเด็ก ขยายตัวกว้างขวาง มีตำแหน่ง "นางผดุงครรภ์ ชั้น 2" เพิ่มขึ้นและตำแหน่ง "นางสงเคราะห์เทศบาล" เปลี่ยนชื่อเป็น "นางสงเคราะห์" หรือ พยาบาลอนามัย" ในปี พ.ศ. 2482 - 2485 กิจการสงเคราะห์แม่และเด็ก ได้ยกฐานะเป็น "แผนกสงเคราะห์แม่และเด็ก" ต่อมาได้ยกฐานะเป็น "กองสงเคราะห์แม่และเด็ก” ขึ้นกับกรมสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข

ในปี พ.ศ. 2482 มีการจัดตั้งโรงเรียนผดุงครรภ์แห่งแรก คือ โรงเรียนผดุงครรภ์ ชั้น 2 วชิรพยาบาล เปิดหลักสูตร 1 ปี สำหรับสตรีอายุ 19 - 30 ปี โดยกรมสาธารณสุขเป็นผู้ให้ทุน มีนักเรียนอบรมรุ่นแรก 80 คน เมื่อสำเร็จแล้วได้ออกปฏิบัติงานยังภูมิลำเนาเดิม ในส่วนภูมิภาคไปอยู่ประจำสุขศาลาหรือที่เรียกว่า “สำนักงานผดุงครรภ์” และในเวลาต่อมาเปลี่ยนชื่อโรงเรียนผดุงครรภ์ ชั้น 2 เป็น "โรงเรียนผดุงครรภ์อนามัย วชิรพยาบาล”

นับจากนั้นมีการปรับปรุงหลักสูตรเป็น 1 ปี 6 เดือน และรับผู้สมัครที่พื้นความรู้สำเร็จชั้นมัธยมปีที่ 3 และมีอายุระหว่าง 19–25 ปี ต่อมาในปีพ.ศ. 2497 ได้จัดตั้งโรงเรียนผดุงครรภ์เพิ่มขึ้นอีก 1 แห่งที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วยความร่วมมือขององค์การบริหารการร่วมมือระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา มีนักเรียนเข้ารับการอบรมรุ่นแรก จำนวน 50 คน แต่ในเวลาต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่จังหวัดลำปาง ในปีพ.ศ. 2504 จัดตั้งโรงเรียนผดุงครรภ์แห่งที่ 3 ขึ้น ที่จังหวัดขอนแก่น และมีการปรับปรุงหลักสูตรขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาดังกล่าว

ช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2485 – 2506 เกิดงานจัดตั้งหน่วยบริการเพื่อเป็นสถานให้บริการอนามัยแม่และเด็กแก่กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ แม่ ทารกและเด็กวัยก่อนเรียน สถานบริการดังกล่าวได้ก่อตั้งขึ้นตามลำดับ ได้แก่ หน่วยสงเคราะห์แม่และเด็กเคลื่อนที่ 10 หน่วย ในจำนวนนี้เป็นหน่วยที่กรมสาธารณสุขตั้งขึ้นเอง 5 หน่วย ได้รับความร่วมมือจากองค์การสงเคราะห์เด็กแห่งประเทศไทย (UNAC) อีก 5 หน่วย ในปี พ.ศ. 2522 คงเหลือปฏิบัติงานแต่เพียงหน่วยอนามัยแม่และเด็กเคลื่อนที่จังหวัดยะลา

ในปี พ.ศ. 2497 ได้จัดตั้งสถานสงเคราะห์แม่และเด็กขึ้น 2 แห่ง ด้วยความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก และองค์การกองทุนสงเคราะห์เด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ(UNICEF) แห่งแรกที่ถนนสาธร จังหวัดพระนคร และอีกแห่งหนึ่งที่ตำบลหนองหอย อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งต่อมาใช้ชื่อว่าศูนย์ฝึกและอบรมการอนามัยแม่และเด็ก กรุงเทพฯ และสถานอนามัยแม่และเด็กเชียงใหม่ หน่วยงานทั้งสองแห่งนี้ มีหน้าที่อบรมฟื้นฟูความรู้เจ้าหน้าที่อนามัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งผดุงครรภ์ และเป็นศูนย์สาธิตการให้บริการอนามัยแม่และเด็กในเขตปฏิบัติการด้วย ปัจจุบันศูนย์ฝึกฯ กรุงเทพฯ ได้ถูกยกเลิกและได้รวมภาระกิจไว้ที่ศูนย์อนามัยที่ 1 กรุงเทพฯ สำหรับสถานอนามัยแม่และเด็กเชียงใหม่ได้รวมภาระกิจไว้ที่ศูนย์อนามัยที่ 10 เชียงใหม่

นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งสถานอนามัยเด็กกลาง นนทบุรี ขึ้นที่ถนนติวานนท์ ตำบลบาง-กระสอ อำเภอปากเกร็ด ด้วยความร่วมมือขององค์การสงเคราะห์เด็กแห่งประเทศไทย (UNAC) และองค์การกองทุนสงเคราะห์เด็กระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ(UNICEF) เพื่อใช้เป็นสถานที่รับเด็กวัยก่อนศึกษาจากครอบครัวที่ป่วยด้วยโรคติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ วัณโรคและโรคเรื้อน นำมาเลี้ยงดูไว้เป็นการชั่วคราวเพื่อแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง และเพื่อที่จะช่วยให้เด็กได้เจริญเติบโตขึ้นโดยสมบูรณ์ทั้งร่างกาย และจิตใจ

ในช่วงเวลาเดียวกัน จังหวัดเชียงใหม่ได้จัดตั้งสำนักงานผดุงครรภ์ ชั้น 2 เป็นสำนักงานแห่งแรกของจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจัดตั้งขึ้นและได้รับความร่วมมือจาก กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดทั้งผู้ที่สนใจในกิจการสาธารณสุข โดยมีผดุงครรภ์ ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่นั้นอยู่ประจำปฏิบัติการ ปรากฏว่าสำนักงานผดุงครรภ์ชั้น 2 แห่งนี้ได้ทำประโยชน์ด้านอนามัยแม่และเด็กให้แก่ประชาชนเป็นอย่างมาก กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายจัดตั้งสำนักงานผดุงครรภ์ในท้องที่จังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งมีสำนักงานผดุงครรภ์อยู่ทั้งสิ้น1,356 แห่ง และมีโครงการที่จะสร้างเพิ่มเติมขึ้นอีกปีละไม่น้อยกว่า 100 แห่ง เพื่อให้ทันต่อความต้องการของประชาชน

ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเชิงรุกด้านอนามัยแม่และเด็กมากขึ้น นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2507 กองสงเคราะห์แม่และเด็ก ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กองอนามัยแม่และเด็ก" รับผิดชอบงานอนามัยแม่และเด็กและงานวางแผนครอบครัว และในปีเดียวกันนี้ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอนามัยแม่และเด็กแห่งชาติเพื่อร่วมมือกันวางนโยบายเกี่ยวกับการอนามัยแม่และเด็ก ทั้งในด้านการฝึกอบรมนักเรียนแพทย์และเจ้าหน้าที่อนามัย ตลอดจนวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อันอาจมีขึ้น

คณะกรรมการดังกล่าวประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ และหัวหน้ากองอนามัยแม่และเด็ก เป็นกรรมการและเลขานุการ มีการจัดตั้ง "โครงการอนามัยแม่และเด็ก " เพื่อลดอัตราการป่วย และการตายของแม่และเด็กให้ลงสู่ระดับต่ำสุดเท่าที่จะทำได้ และได้ดำเนินนโยบายจัดตั้งโครงการอนามัยครอบครัว โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเตรียมรับนโยบายทางด้านประชากรของรัฐบาลในอนาคต โดยการขยายการให้บริการวางแผนครอบครัว ออกไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในระยะปี 2511 - 2513 ได้จัดให้มีการอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ในเรื่องการวางแผนครอบครัวและความรู้เกี่ยวกับประชากรศาสตร์

ทั้งนี้ โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของกรมอนามัยที่อยู่ในชนบททุกคน แพทย์ และพยาบาล จากโรงพยาบาลในส่วนภูมิภาคจังหวัดละ 1 คน เป็นอย่างน้อยจะต้องเข้ารับการอบรม หลังเสร็จสิ้นการอบรมแล้วเจ้าหน้าที่เหล่านี้ได้เปิดให้บริการวางแผนครอบครัวขึ้นที่หน่วยงานซึ่งตนประจำอยู่ ได้แก่ โรงพยาบาลภูมิภาค และสถานีอนามัยชั้น 1 ที่มีแพทย์ประจำทุกแห่ง ดังนั้นการวางแผนครอบครัวจึงต้องให้มีบริการร่วมไปกับการให้บริการทางด้านอนามัยที่มีอยู่ ในระยะ 3 ปีแรก ได้ดำเนินการอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ระดับต่าง ๆ เกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว แพทย์ 330 คน พยาบาล 700 คน และผดุงครรภ์ 3,090 คน พนักงานอนามัย 1,985 คน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 กระทรวงสาธารณสุข ได้เริ่มงานวางแผนครอบครัวอย่างจริงจัง โดยเร่งรัดการอบรมเจ้าหน้าที่เผยแพร่ และให้บริการแก่ประชาชน ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคอนุญาตให้ผดุงครรภ์จ่ายยาคุมกำเนิดได้ ซึ่งมีผลให้สถานบริการยาเม็ดคุมกำเนิด ที่ไม่มีแพทย์ประจำเพิ่มขึ้น และจำนวนผู้รับบริการยาเม็ดคุมกำเนิดเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการบริการที่โรงพยาบาล และสถานีอนามัยทุกแห่ง ตลอดจนส่งหน่วยเคลื่อนที่ออกปฏิบัติการในด้านการสุขศึกษาและประชาสัมพันธ์ เริ่มใช้สื่อมวลชนและหน่วยสุขศึกษาเคลื่อนที่ออกเผยแพร่และให้ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการกำหนดเป้าหมายผู้รับบริการเป็นที่แน่นอน จนถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 งานวางแผนครอบครัว จึงได้รับการบรรจุเข้าเป็นงานหลักอีกงานหนึ่งของแผนพัฒนาการสาธารณสุข  กระทั่งในปีพ.ศ. 2516 กองอนามัยแม่และเด็ก ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “กองอนามัยครอบครัว” ซึ่งได้รวมงานอนามัยแม่และเด็ก และงานวางแผนครอบครัวเข้าด้วยกัน

โรงเรียนหญิงแพทย์ผดุงครรภ์และการพยาบาลไข้

เก็บความจาก

ประวัติคณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล และวิวัฒนาการงานอนามัยแม่และเด็ก กระทรวงสาธารณสุข

แหล่งที่มา: http://www.ns.mahidol.ac.th/english/th/about_th.html

                http://hp.anamai.moph.go.th/main.php?filename=history