ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.สนับสนุนนโยบายทีมหมอครอบครัวของกระทรวงสาธารณสุข ช่วยลดค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลทั้งระบบ เสริมความยั่งยืนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่จังหวัดขอนแก่น นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น บรรยายพิเศษเรื่อง “ทิศทางการพัฒนาเวชศาสตร์ครอบครัวในประเทศไทยในมุมมองของ สปสช.” ในการประชุมวิชาการงานเวชศาสตร์ครอบครัว กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ที่เป็นศิษย์เก่าของหน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลขอนแก่น และแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่ทำงานในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จบจากสถาบันอื่นๆ และแพทย์ที่ได้รับอนุมัติบัตร สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว รวมทั้งแกนนำทีมงานหมอครอบครัว จำนวนประมาณ 100 คน 

นพ.ปรีดา กล่าวว่า ตามร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2559 ฉบับลงประชามติ มาตรา 258 ระบุไว้ว่าให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม ดังนั้นตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (ด้านสาธารณสุข) และการดำเนินงานปี 2560 จึงมีแผนการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ให้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวทุกอำเภอเมือง และในปี 2565 จะต้องมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวทุกเขตเทศบาล โดยมีนโยบายพัฒนาทีมหมอครอบครัว ให้ 1 ทีมดูแลประชาชน 10,000 คน เพื่อร่วมสร้างเสริมสุขภาพถึงครัวเรือน ทั้งทางด้านรักษา ฟื้นฟูสภาพ ป้องกันและควบคุมโรค ทำให้เกิดการเชื่อมโยงระบบบริการสุขภาพจากชุมชนสู่คลินิกหมอครอบครัว และโรงพยาบาลแม่ข่าย 

นพ.ปรีดา กล่าวว่า จากสถิติแพทย์เฉพาะทางประเทศไทย สะสมมาตั้งแต่ พ.ศ. 2507-2559 พบว่ามีแพทย์ทั่วไป และแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว รวมเพียง 7,082 คน ในขณะที่มีแพทย์เฉพาะทางถึง 30,238 คน ทั้งที่สัดส่วนแพทย์พาะทางและแพทย์เวชศาสตร์ครบครัว ควรเป็น 50 : 50 ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแพทย์เวชศาสตร์ชุมชนนั้นไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงควรมีการจัดระบบบริการปฐมภูมิให้ครอบคลุม โดยประกอบด้วย ทีมหมอครอบครัว เครือข่ายปฐมภูมิในเขตเมือง ความร่วมมือของภาคี องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต./เทศบาล) โรงพยาบาลทุกสังกัด และสิ่งที่สำคัญคือการมีสุขภาพดีเป็นหน้าที่ของทุกคน และเมื่อเจ็บป่วยประชาชนต้องมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นได้โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ โดยไม่ล้มละลายจากการเจ็บป่วย  

นพ.ปรีดา กล่าวว่า ระบบบริการสุขภาพที่พึงประสงค์คือ การที่ทุกคนดูแลสุขภาพของตนเอง ได้รับการดูแลด้านสุขภาพเบื้องต้นจากอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ เมื่อเจ็บป่วยมากเกินกำลังก็มีการส่งต่อตามระบบ คือ ส่งต่อจาก รพ.สต. ไปโรงพยาบาลชุมชนประจำอำเภอ และส่งต่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ประจำจังหวัด หรือหากอาการเจ็บป่วยนั้นทางโรงพยาบาลไม่สามารถรักษาได้ ก็ส่งต่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยมีบุคลากรทางแพทย์จากโรงพยาบาลทุกสังกัดเป็นผู้ให้การรักษา และ สปสช.เป็นผู้ดูแลค่าใช้จ่ายในการรักษา 

นพ.ปรีดา กล่าวว่า หากมีทีมหมอครอบครัวครอบคลุมทุกพื้นที่นั้น กระทรวงสาธารณสุขประเมินว่าจะทำให้ลดการใช้บริการที่ห้องฉุกเฉินแบบไม่เหมาะสม ลดผู้ป่วยติดเตียงภายหลังจากการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง ลดจำนวนผู้ป่วยในและจำนวนวันนอนของผู้ป่วยจากโรคเรื้อรัง ลดการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็น รวมทั้งเพิ่มการให้บริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการไปเข้ารับการรักษาของผู้ป่วย เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าที่พัก ได้ถึง 1,655.37 บาทต่อคน ซึ่งจะส่งผลให้ลดค่าใช้จ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วย

นพ.ปรีดา กล่าวว่า ความท้าทายที่สำคัญในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ การควบคุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เพื่อความยั่งยืนของระบบ ด้วยการบูรณาการ ลดความเหลื่อมล้ำของการให้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของกองทุนรักษาพยาบาลทุกกองทุน ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม และ กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ พร้อมทั้งต้องมีการจัดการที่เหมาะสมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ทางสุขภาพที่เปลี่ยนไป เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของไทย และการที่ประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ทั้งนี้การจัดการประชุมวิชาการครั้งนี้เกิดขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนความรูทางด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ทำให้สามารถนำความรู้ไปพัฒนาในการทำงานในโรงพยาบาลเพื่อดูแลผู้ป่วย และส่งเสริมให้แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวสามารถพัฒนาความรู้ความสามารถซึ่งนำไปสู่การต่อยอดองค์ความรู้เพื่อผลิตผลงานวิจัยต่อไปได้นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างเครือข่ายแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนและนโยบายของประเทศ.