ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาคีเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินยื่น 5 ข้อเสนอพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินไทย เสนอติดตั้งระบบ GPS ในรถฉุกเฉินทุกระดับเพื่อคุ้มครองทุกชีวิตไปถึงที่หมายอย่างปลอดภัยและทันท่วงที จัดกรอบอัตรากำลังกลุ่มงานการแพทย์ฉุกเฉินและสาธารณภัยใน สสจ. จัดอัตรากำลังของนักปฏิบัติฉุกเฉินการแพทย์ให้เป็นตำแหน่งที่มั่นคงใน สธ.และ อปท.

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560 ที่ศูนย์ประชุมอิมแพ็คฟอรั่มเมืองทองธานี สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานพิธีปิดการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติครั้งที่ 11 ภายใต้หัวข้อ “สืบสานพระราชปณิธาน รวมใจเพื่อคุณภาพการแพทย์ฉุกเฉินไทยสู่เวทีโลก” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29-31 มีนาคม 2560 พร้อมร่วมมอบเข็มเชิดชูเกียรติประเภทกิตติมศักดิ์ ประเภทสมนาคุณ และประเภทสรรเสริญ ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานฉุกเฉินที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 581 คนอีกด้วย

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ ได้มุ่งมั่นที่จะดูแลประชาชนให้ได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีไม่ว่าจะเป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรือการเจ็บป่วยในสภาวะปกติ โดยเฉพาะงานบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน  ซึ่งเป็นงานที่ก่อกำเนิดมาจากการมีจิตอาสาของประชาชน ในรูปแบบมูลนิธิต่างๆ ด้วยการสนับสนุนของภาครัฐ 

ปัจจุบันมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ โดยมี สพฉ.เป็นแกนหลัก บริหารจัดการในรูปแบบคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน  โดยภาครัฐ เอกชน ประชาชน มูลนิธิ ภาคีเครือข่ายต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการ ทำให้งานด้านนี้มีการพัฒนาก้าวหน้าไปมาก

ปัจจุบัน มีชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทั้งหมด 8,669 ชุด ประกอบด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 5,605 ชุด ภาครัฐ 1,947 ชุด เอกชน มูลนิธิ/สมาคม 846  ชุด เอกชน 227 ชุด และอื่น ๆ 44 ชุด  มีผู้ปฏิบัติงาน 86,105 คน และในปี 2559 มีผู้ใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉิน  จำนวนมากถึง 1.4 ล้านครั้ง

นอกจากนี้ภายในงาน ภาคีเครือข่ายการแพทย์ฉุกเฉินได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการ พัฒนาคุณภาพการแพทย์ฉุกเฉินไทยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีด้วยกัน 5 ข้อดังนี้

1. ขอให้สร้างการมีส่วนร่วมและตระหนักรู้ด้านการแพทย์ฉุกเฉินของประชาชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมและใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อให้ได้รับบริการที่เป็นธรรมใน “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่”

2. ขอให้สนับสนุนให้หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับได้รับการพัฒนาขีดความสามารถสู่มาตรฐานและมีคุณภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน และกำหนดให้มีการติดตั้งระบบ GPS ในรถปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับเพื่อคุ้มครองทุกชีวิตไปถึงที่หมายอย่างปอลดภัยและทันท่วงที

3. ขอให้กำหนดโครงสร้างอัตรากำลังของนักปฏิบัติฉุกเฉินการแพทย์ให้เป็นตำแหน่งที่มั่นคงในระบบกระทรวงสาธารณสุขและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงส่งเสริมให้ตั้งสมาพันธ์ผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับเพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิในระหว่างปฏิบัติการในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน

4. ขอให้พัฒนาระบบบริการในห้องฉุกเฉินทุกมิติเพื่อเพิ่มคุณภาพการให้บริการ ลดความรุนแรงของอาการ ลดการสูญเสียชีวิตของผู้ป่วยและคำนึงถึงสวัสดิภาพความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ

5. ขอให้มีการจัดตั้งกรอบโครงสร้างอัตรากำลังกลุ่มงานการแพทย์ฉุกเฉินและสาธารณภัยในสำนักสาธารณสุขจังหวัด เพื่อตอบสนองนโยบายและควบคุมกำกับติดตามงานการแพทย์ฉุกเฉินและสาธารณภัย

สำหรับการประชุมวิชาการครั้งนี้มีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานเกี่ยวกับการแพทย์ฉุกเฉิน การจัดแสดงอุปกรณ์ เครื่องมือ ผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการทางการแพทย์และมีการจัดประกวดผลงานวิชาการและนวัตกรรมทางด้านการแพทย์ฉุกเฉิน

รางวัลผลงานวิชาการด้านการแพทย์ฉุกเฉินดีเด่น ประเภทนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ ได้แก่ เจลประคบเย็นลดปวดจากยางมะกอกป่าจากโรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค จ.เชียงรา

รางวัลผลงานวิชาการด้านการแพทย์ฉุกเฉินระดับชมเชย ประเภทนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ ได้แก่

1.การพัฒนาหุ่นช่วยฝึกปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (Model CPR Never Die) ของนักเรียนจ่าอัชฌา ดาษพันธ์ โรงเรียนนาวิกเวชกิจ ศูนย์วิทยาการ กรมแพทย์ทหารเรือ 

2.รถยกถังออกซิเจน (Easy Oxy-Transfer) นางมยุรี เหมือนเดช โรงพยาบาลสมุทรปราการ

3.เครื่องดูดเสมหะขนาดพกพา (Handy Suction) นักเรียนจ่าจิรวัฒน์ ชมภู โรงเรียนนาวิกเวชกิจ ศูนย์วิทยาการ กรมแพทย์ทหารเรือ