ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีชื่นชมร่างกฎหมายควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ชี้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญของสุขภาพและพัฒนาการเด็ก เร่งเดินหน้า พ.ร.บ.Milk code หลังผ่านการพิจารณาวาระแรกจาก สนช.แล้ว

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า Dr.Magaret Chan ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) ได้มีหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านคณะผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส แสดงความชื่นชมที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก โดยเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นการปกป้องการให้นมแม่และเป็นส่วนสำคัญที่จะส่งผลในแง่บวกต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของแม่และเด็กในประเทศไทย

โดยประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำระดับโลกในการพัฒนาและปรับใช้นโยบายด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็งเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของประชาชนภายในประเทศ ซึ่งการออกพระราชบัญญัติฉบับนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมในการใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่มีในปัจจุบัน และการรับรองจากสมัชชาอนามัยโลก (World Health Assembly – WHA) เป็นส่วนช่วยสนับสนุน

ดังนั้น การมีนโยบายที่เข็มแข็งและการออกกฎหมายที่ปกป้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญของสุขภาพและพัฒนาการเด็ก และเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับประเทศ โดยหวังว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้จะช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกในประเทศไทยให้ได้ถึงอย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี 2568 ร่วมกับมาตรการอื่นๆ ตามที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นไว้ในฐานะสมาชิกขององค์การอนามัยโลก (WHO) และพร้อมให้การสนับสนุน ซึ่งหวังว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติข้างต้น

“ทั้งนี้ในเบื้องต้นพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ....หรือ พ.ร.บ.Milk code ผ่านการพิจารณาวาระแรกจาก สนช.แล้ว ซึ่งสาระสำคัญเพื่อควบคุมการส่งเสริมการตลาดของนมผสมสำหรับทารกและเด็กเล็กของบริษัท คือห้ามโฆษณา และการส่งเสริมการตลาดทุกรูปแบบ แต่ไม่ได้ห้ามการซื้อขาย สำหรับในกรณีเด็กที่จำเป็นต้องใช้นมผง ก็ยังหาซื้อได้ตามปกติ และไม่ได้ห้ามบุคลากรทางการแพทย์ให้คำแนะนำกับผู้เลี้ยงดูเกี่ยวกับนมผง และในความจริงบุคลากรมีหน้าที่ต้องให้ข้อมูลและคำแนะนำแก่แม่และผู้ปกครองไม่ว่าจะเรื่องนมผงหรือนมแม่เพื่อช่วยปกป้องแม่และครอบครัวให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อให้ตัดสินใจเกี่ยวกับการเลือกอาหารได้อย่างเหมาะสม โดยไม่มีอิทธิพลของการส่งเสริมการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งกรมอนามัยและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนจะร่วมกันเดินหน้าเพื่อปกป้องสิทธิแม่รับข้อมูลที่เป็นจริง เพิ่มโอกาสลูกได้รับนมแม่มากขึ้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว