ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรม ผอ.รพ.สต.ยื่นหนังสือ ปลัด สธ. เร่งแก้ปัญหาค่าตอบแทน จพ.สธ. หลัง ฉ.11 บังคับใช้ ชี้บางพื้นที่ยังจำกัดจ่ายแค่ 5 สายงาน แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และสหสาขาวิชาชีพ ทำให้มีการค้างจ่าย/ชะลอการจ่ายในสายงาน จพ. อ้างรอความชัดเจนตีความจาก สธ. เผยปลัด สธ.มอบกลุ่มกฎหมายออกหนังสือซักซ้อมความเข้าใจภายในเดือน พ.ค.นี้   

นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุขประเทศไทย (ชวส.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (สายเจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงาน) พร้อมด้วยเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ชมรมเจ้าพนักงานสาธารณสุขแห่งประเทศไทย, ชมรมเจ้าพนักงานสาธารณสุขที่มีวุฒิปริญญาตรีชายแดนใต้, ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลประเทศไทย (ชมรม ผอ.รพ.สต.) และชมรมนักวิชาการสาธารณสุขประเทศไทย (ชวส.) ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้ทบทวนการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข ฉบับที่ 11-12 

เนื่องจากขณะนี้มีหลายพื้นที่เริ่มมีปัญหาการตีความและการเบิกจ่ายค่าตอบแทนให้กับกลุ่มเจ้าพนักงาน (จพ.) สายงานต่างๆ โดยบางพื้นที่มีการตีความให้มีการเบิกจ่ายค่าตอบแทนเฉพาะ 5 สายงาน คือ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และสหสาขาวิชาชีพ (9สายงาน) ซึ่งในส่วนของเขตพื้นที่สุขภาพที่ 10 และจังหวัดศรีสะเกษ มีความชัดเจนมากสุด ได้ออกหนังสือชะลอการจ่าย 6 เดือน ในกลุ่มสายเจ้าพนักงาน (จพ.) เพื่อรอการตอบข้อหารือความชัดเจนจากกระทรวงสาธารณสุขในการจ่ายค่าตอบแทนนี้ 

ส่วนอีกหลายพื้นที่ อาทิ จ.ตรังและ จ.ปัตตานี มีปัญหาการตีความประเด็น สายงานเจ้าพนักงาน (จพ.) ที่จบวุฒิปริญญาตรีที่มีคำสั่งมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในสายงานวิชาการ ให้มีการเบิกจ่ายในเรทเจ้าพนักงาน (จพ.) และส่วนต่างค่าตอบแทนในเรทสายวิชาการให้มีการชะลอการจ่ายออกไป หรือชะลอการเบิกจ่ายสายเจ้าพนักงาน (จพ.) ทั้งหมด   จนกว่าค่าตอบแทนฉบับ 11 จะมีหนังสือชี้แจงแนวทางการจ่ายเงินค่าตอบแทนฯ แทน ว261 ของฉบับ 8 ที่ถูกยกเลิกไป ซึ่งหนังสือดังกล่าวจะขยายความชัดเจน เรื่องอำนาจของผู้บริหารในการทำคำสั่งมอบหมายให้เจ้าพนักงานที่จบปริญญาตรีปฏิบัติหน้าที่ในสายงานวิชาการ และเบิกค่าตอบแทนในสายงานวิชาการได้ 

ทั้งนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่มีการตีความไม่เป็นคุณต่อบุคลากร และไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของค่าตอบแทน ฉบับที่ 11 แต่สิ่งที่กังวลมากที่สุดคือ หลายจังหวัดมีการจัดสรรค่าตอบแทน รพ.สต.ไม่ถึงร้อยละ 100 ตามที่ผู้บริหารเคยสื่อสารไว้ โดยบางพื้นที่ งบงวดแรก 6 เดือน จัดสรรให้ รพ.สต.แค่ 2 เดือนเท่านั้น อีกทั้งบางพื้นที่ยังกำหนดให้สายเจ้าพนักงาน (จพ.)  ต้องเบิกค่าตอบแทนจากเงินบำรุงแทน หากทำเช่นนี้จะกระทบต่อ รพ.สต.ทันที เนื่องจากงบประมาณ รพ.สต.มีจำกัดอยู่แล้ว และใน รพ.สต.ทั้งหมื่นแห่ง ส่วนใหญ่ยังมีงบประมาณที่ได้รับจัดสรรไม่เพียงพอในการดำเนินงานตามนโยบายต่างๆอยู่แล้ว ยิ่งหากได้รับงบประมาณค่าตอบแทนที่จำกัด แล้วมีการตีความที่ไม่ชัดเจนกับกลุ่ม จพ.สธ. ทำให้เกิดการชะลอหรือตัดค่าตอบแทนกลุ่มนี้ซึ่งเป็นสายงานฐานล่างออกจากการเบิกจ่ายงบประมาณ ทั้งๆ ที่ได้รับค่าตอบแทนน้อยอยู่แล้ว ซึ่งส่งผลต่อขวัญกำลังใจผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่กันดารเป็นอย่างยิ่ง

“จากที่เราได้เคยเรียกร้องให้ปรับเพิ่มค่าตอบแทนสายเจ้าพนักงาน ซึ่งเป็นฐานล่างที่ได้รับค่าตอบแทนน้อยที่สุด เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่ห่างกันเป็นร้อยเท่า จนได้ค่าตอบแทนฉบับที่ 11 นี้ ซึ่งดีกว่าฉบับที่ 8 มาก แต่กลับพบว่าหลายพื้นที่ชะลอการจ่าย และจำกัดให้เฉพาะ 5 สายงานเท่านั้น บุคลากรสายเจ้าพนักงานจึงเรียกร้องให้เข้ายื่นหนังสือต่อปลัด สธ. ซึ่งท่านได้มอบให้กลุ่มกฎหมายรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น” เลขาธิการ ชวส.กล่าว

นายริซกี กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาการตีความเรื่องการนับระยะเวลาบุคลากรที่ย้ายจาก รพ.สต.ไปยังโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) หรือจาก รพช.ไป รพ.สต เนื่องจากมีปัญหาการตีความว่ามีระดับพื้นที่กันดารคนละระดับกับ รพ.สต. ทำให้ผู้ที่ย้ายต้องเสียสิทธิค่าตอบแทนจากการเริ่มนับอายุงานใหม่ ทั้งที่ค่าตอบแทนฉบับที่ 11 ระบุให้ รพ.สต.และ รพช.ที่อยู่ในระดับพื้นที่กันดารระดับเดียวกัน สามารถนับระยะเวลาต่อเนื่องได้

สำหรับการยื่นหนังสือต่อปลัด สธ.ครั้งนี้ ชมรม ผอ.รพ.สต.(สายจพ.ชำนาญงาน) และเครือข่าย ได้ขอให้พิจารณาการดำเนินการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหา 3 เรื่อง คือ 

1.ขอให้มีหนังสือซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการจ่ายค่าตอบแทนที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยปลัด สธ.ได้สั่งการให้กลุ่มกฎหมายเร่งดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้ 

2.ขอให้มีหนังสือมอบหมายให้เจ้าพนักงานที่จบปริญญาตรีไปปฏิบัติหน้าที่ในสายงานวิชาการ ออกมาแทน ว 261 และ 

3.ขอให้มีหนังสือที่ระบุการจ่ายให้ รพ.สต.ร้อยละ 100 ตามที่ผู้บริหารเคยสื่อสารไว้

ทั้งนี้หากไม่มีความคืบหน้า ชมรม ผอ.รพ.สต และเครือข่ายคงได้มีการหารือเพื่อเคลื่อนไหวต่อไป

ต่อข้อซักถามว่า ขณะนี้งบประมาณที่ได้รับมีจำกัด ทำให้เกิดปัญหาค่าตอบแทนตรงนี้จะทำอย่างไร นายริซกี กล่าวว่า เรื่องนี้แก้ไขปัญหาไม่ได้ เพราะค่าตอบแทนในส่วนของฐานบนไม่ให้แตะหรือปรับลดลง ทั้งที่งบประมาณยังมีเท่าเดิม จึงมีปัญหาในการจัดค่าตอบแทนสำหรับฐานล่างอย่างเหมาะสม ทำให้ต้องจัดหางบประมาณส่วนอื่นมาสนับสนุนเพิ่มเติม ซึ่งใน รพ.ส่วนใหญ่ที่ไม่ขาดดุล หรือมีรายรับหรือเงินบำรุงจากหมวดอื่นมากมาย ก็สามารถนำมาสมทบสนับสนุนได้ ส่วน รพ.ที่ขาดดุลเพียงไม่กี่แห่ง ก็ควรมีการควบคุมงบประมาณที่ฟุ่มเฟือย หรือใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์ เพื่อนำมาเพิ่มเติมส่วนขาดค่าตอบแทนซึ่งเป็นขวัญกำลังใจบุคลากรได้ และในอนาคตหากงบประมาณยังมีจำกัดเช่นนี้ ก็คงต้องเฉลี่ยให้เหมาะสม  โดยที่ไม่ควรกระทบฐานล่างซึ่งได้รับน้อยอยู่แล้ว

นายริซกี กล่าวว่า ในการเข้าพบปลัด สธ.ครั้งนี้ยังได้สอบถามความคืบหน้าทั้งเรื่องโครงสร้างอัตรากำลัง รพ.สต. สาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) และ รพช. โดยอยู่ระหว่างการรอเข้าวาระประชุม อ.ก.พ.สธ. ครั้งหน้านี้ รวมถึงหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนปฐมภูมิชายแดนใต้ และการบริหารงานบุคคลชายแดนใต้ (ว.16) รอบที่สอง ที่ผู้เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อพิจารณาเช่นกัน