ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัจจุบันพบว่าคนในสังคมประสบปัญหาสุขภาพจากการใช้ Smartphone เพิ่มมากขึ้น จากงานวิจัยศึกษาอาการปวดและการทำงานของกล้ามเนื้อ คอ ไหล่ แผ่นหลังส่วนบน และแขนส่วนบน ขณะใช้งาน Smartphone ในผู้หญิงอายุ 18-25 ปี โดย ภัทริยา อินทร์โท่โล่ และคณะ พบว่าหลังการใช้งาน Smartphone ต่อเนื่องกันนาน 20 นาที พบอาการปวดที่บริเวณคอ ไหล่ แผ่นหลังส่วนบน และแขนส่วนบนอย่างมีนัยสำคัญ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งพบอาการปวดคอมากที่สุด

ขอบคุณภาพจาก healthbeat.spectrumhealth.org

ทั้งนี้ ในประเทศไทยมีการใช้งาน Smartphone เฉลี่ยสูงถึงวันละ 7.2 ชั่วโมงหรือเป็นระยะเวลาประมาณ 1ใน 3 ของวันเพื่อเล่นอินเตอร์เน็ต และส่วนใหญ่จะใช้งานอินเตอร์เน็ตจากเครื่อง Smartphone มากที่สุดถึงร้อยละ 77 ที่น่าสนใจคือประมาณร้อยละ 60 ของผู้ใช้งานมีการติดตามข้อมูลบนหน้าจอ Smartphone จำนวนหลายครั้งใน 1 ชั่วโมง ดังที่มีการเรียกกันว่าเป็น “ยุคสังคมก้มหน้า”

นอกจากนี้ งานวิจัยยังพบข้อมูลจากทั่วโลกว่าผู้หญิงใช้งาน Smartphone มากกว่าผู้ชาย เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่พบว่าผู้หญิงถึงร้อยละ 56 ที่ใช้งาน Smartphone ในขณะที่ผู้ชายใช้น้อยกว่า รวมทั้งยังพบว่ากลุ่มนักศึกษาอายุระหว่าง 18-24 ปี มีการใช้ Smartphone สูงกว่ากลุ่มที่เริ่มทำงานซึ่งอายุ 25 ปีขึ้นไป

สำหรับผลกระทบต่อสุขภาพจากการใช้ Smartphone พบว่า อาการปวดที่เกี่ยวข้องกับระบบกระดูกและกล้ามเนื้อจากการใช้งาน Smartphone ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้งานในท่าก้มคอต่อเนื่องกัน กล่าวคือ ท่าก้มของศีรษะที่มากกว่าปกติจะทำให้กระดูกสันหลังส่วนคอมีองศาการเคลื่อนไหวมากต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บของโครงสร้างร่างกายในระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ดังนั้นการใช้งาน Smartphone ในท่าเดิมต่อเนื่องเป็นเวลานานจึงเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาในระบบกระดูกและกล้ามเนื้อได้

ในงานวิจัยนี้ได้ศึกษาอาการปวดก่อนและหลังการใช้ Smartphone ต่อเนื่องนาน 20 นาทีในผู้เข้าร่วมวิจัยเพศหญิงจำนวน 24 คน อายุระหว่าง 18-25 ปี โดยประเมินตำแหน่งที่ด้วย body pain chart และประเมินระดับความรุ่นแรงของอาการปวดด้วย visual analog scale (VAS) และวัดคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อที่กล้ามเนื้อ cervical erector spinae (CES), upper trapezius (UT), middle trapezius (MT), biceps brachii (BB)

พบว่าหลังการใช้ Smartphone นาน 20 นาทีมีอาการปวดที่บริเวณคอ ไหล่ แผ่นหลังส่วนบน และแขนส่วนบน มากกว่าก่อนใช้งานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในทั้ง 3 ท่าคือ ท่าถือไว้ระดับอก ท่าวางราบบนโต๊ะ และท่าถือไว้ที่ตัก และยังพบอาการปวดคอมากที่สุด โดยปวดคอทั้งหมด 60 ครั้งจากการใช้งานทั้งหมด 72 ครั้ง โดยเฉพาะท่าใช้งานที่ตัก และพบว่ามีอาการปวดเพิ่มขึ้นทั้ง 3 ท่าทาง โดยค่าเฉลี่ยของระดับอาการปวดไม่แตกต่างกัน พบกล้ามเนื้อ CES ทำงานเพิ่มขึ้น 50% ของการหดตัวสูงสุดของกล้ามเนื้อมัดนี้แต่ไม่พบความแตกต่างทางสถิติของการทำงานกล้ามเนื้อใน 3 ท่าทาง

ดังนั้นแล้วจึงยืนยันได้ว่าการใช้งาน Smartphone ต่อเนื่องกันนาน 20 นาที ทำให้มีอาการปวดเกิดขึ้นและปวดคอมากที่สุด โดยเฉพาะท่าถือไว้ที่ตักขณะใช้งานจะทำให้กล้ามเนื้อคอทำงานหนักมาก และคณะผู้วิจัยแนะนำให้ควรหลีกเลี่ยงการใช้งาน Smartphone ในท่าวางที่ตักต่อเนื่องกันนาน 20 นาที ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดอาการปวดคอได้

เก็บความจาก

ภัทริยา อินทร์โท่โล่ และคณะ. อาการปวดและการทำงานของกล้ามเนื้อ คอ ไหล่ แผ่นหลังส่วนบน และแขนส่วนบน ขณะใช้งาน Smartphone ในผู้หญิงอายุ 18-25.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข: วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปีที่ 10 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน 2559.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง