ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พาดหัวข่าววันรุ่งขึ้น ณ ดาวเอนเซลาดัส บริวารดาวเสาร์ ที่ได้รับการค้นพบว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตซ่อนอยู่ลับๆ โดยยานอวกาศจากโลกมนุษย์ที่แสนวุ่นวาย

ชี้ปลัดและทีมงานต้องทำงานดูแลสวัสดิภาพของบุคลากรทางการแพทย์อย่างจริงจัง ไม่ใช่เอาแต่เดินสายออกข่าวโปรโมทนโยบาย

ในขณะที่มีข่าวอาชญากรรมทำร้ายบุคลากรทางการแพทย์ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เผยแพร่ออกมาทางสื่อสาธารณะ สร้างความหดหู่ใจ และกำลังใจที่ถดถอยในหมู่คนทำงานทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

หมอโดนเตะก้านคอ...เจ้าหน้าที่ฉุกเฉินโดนตบหัว...ล่าสุดเจ้าหน้าที่อนามัยโดนทำร้ายหมายจะข่มขืน...

จะรออีกกี่เคสครับ เหล่าผู้บริหารหน่วยงานต้นสังกัดและรัฐบาลจึงจะออกมาจัดการให้เด็ดขาด?

ธรรมาภิบาล หรือการบริหารที่ดีนั้น องค์ประกอบข้อหนึ่งที่สำคัญมากคือเรื่องการตอบสนองต่อปัญหา หรือเราเรียกว่า Responsiveness

“คนบริหารแบบเอาหน้า” นั้น ต่างกับ ”คนที่ใส่ใจชีวิตคน” วัดกันที่รูปธรรมที่เห็น และท่าทีการตอบสนองต่อปัญหา

สำนักข่าวเอนเซลาดัส ณ ดาวเสาร์ เปิดเผยอีกว่า ประเทศต่างๆ ในดาวโลกนั้นต่างประสบกับสถานการณ์นี้เช่นเดียวกันกับประเทศสารขันธ์ แต่มีการตอบสนองต่างกันราวฟ้ากับเหว

ตัวอย่างเช่นเมืองลุงแซม ที่มีระบบการติดตามสถิติการเกิดเหตุทำร้ายบุคลากรทางการแพทย์อย่างใกล้ชิด และมีการผลักดันให้เกิดมาตรการต่างๆ เพื่อเฝ้าระวัง และจัดการปัญหา โดยมีความเข้มข้นที่แตกต่างกันไปตามแต่ละมลรัฐ

ทั้งนี้ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา มีกว่า 30 มลรัฐ ที่ออกกฎหมายและมาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ อาทิเช่น การเอาผิดผู้ประทุษร้ายบุคลากรทางการแพทย์อย่างหนักทั้งอาญาและแพ่ง การออกมาตรการให้สถานพยาบาลเสริมความปลอดภัยโดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานทั้งปริมาณและคุณภาพ การติดตั้งกล้องวงจรปิดที่มีประสิทธิภาพ การมีปุ่มรายงานเหตุฉุกเฉิน รวมถึงระบบการป้องกันการบุกรุกสถานพยาบาล และเครื่องมือตรวจจับอาวุธและโลหะก่อนเข้าในเขตพื้นที่สถานพยาบาล

นอกจากนี้ มาตรการเสริมทักษะของบุคลากรทางการแพทย์ในเรื่องการจัดการความขัดแย้ง การสื่อสาร และกระบวนการจัดการตอบโต้ เวลาเกิดปัญหาประทุษร้าย ก็ถือเป็นเรื่องที่ได้รับการนำเสนอไปวางแผนปฏิบัติอย่างจริงจัง

งานวิจัยในปี ค.ศ.2013 โดยศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเซาธ์ฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการสำรวจพยาบาลจำนวน 150,000 คนจากโรงพยาบาลกว่า 160 แห่งทั่วดาวโลก พบว่า 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดนั้นเคยถูกทำร้ายร่างกายในขณะปฏิบัติงาน ในขณะที่อีก 2 ใน 3 นั้นเคยถูกทำร้ายทางวาจาและจิตใจ

ทั้งนี้มีการวิเคราะห์สถิติการเกิดเหตุร้ายในรูปแบบต่างๆ ต่อบุคลากรทางการแพทย์แล้ว พบว่า การทำร้ายร่างกายและประทุษร้ายทางเพศนั้นมักเกิดมากในกลุ่มประเทศแถบแองโกล ได้แก่ ออสเตรเลีย อังกฤษ ไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา นิวซีแลนด์ และสก็อตแลนด์ ในขณะที่การดูถูกเหยียดหยาม ประทุษร้ายทางวาจา พบได้บ่อยในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ในขณะที่การล้อเลียนและการประทุษร้ายทางเพศจะอยู่ในอัตราต่ำในประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป

ในขณะที่องค์การอนามัยโลก ก็เคยทำการสำรวจบุคลากรทางการแพทย์กว่า 6,000 คนใน 7 ประเทศ พบว่าอัตราการเกิดเหตุประทุษร้ายอยู่ในระดับสูงจนน่าเป็นห่วงเช่นกัน ทั้งนี้บุคลากรทางการแพทย์ร้อยละ 76 ในประเทศบัลแกเรีย ร้อยละ 67 ในออสเตรเลีย ร้อยละ 60 ในโปรตุเกส ร้อยละ 54 ในประเทศไทย และร้อยละ 47 ในประเทศบราซิล รายงานว่าเคยประสบเหตุประทุษร้ายทางร่างกาย หรือจิตใจระหว่างการปฏิบัติงาน

จากผลการวิจัยต่างๆ ดังกล่าว เชื่อกันว่าเหตุการณ์จริงมีมากกว่านี้มาก แต่บุคลากรทางการแพทย์จำนวนไม่น้อย ที่ไม่กล้ารายงานต่อผู้บังคับบัญชา เพราะแทนที่จะได้รับการปกป้อง กลับจะโดนตำหนิติเตียน เนื่องจากผู้บริหารสถานพยาบาลในยุคปัจจุบันถูกบ่มเพาะให้เติบโตขึ้นมาโดยมองผู้ประทุษร้ายเหล่านั้นเป็นลูกค้า และกลัวผลกระทบด้านภาพพจน์ชื่อเสียงหากทำการฟ้องร้องดำเนินคดี

มองเค้าแล้วมามองเรา...ประเทศสารขันธ์กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ

ท่ามกลางความคาดหวังของประชาชนต่อระบบสุขภาพภาครัฐ บุคลากรทางการแพทย์ในระบบได้ยืนหยัดทำงานอย่างหนัก เพื่อดูแลประชาชน ภายใต้ความกดดันหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรไม่เพียงพอ ภาระงาน ปัญหาคุณภาพชีวิต สวัสดิภาพ และสมดุลชีวิต ทั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเป็นเพราะความมุ่งมั่นศรัทธาในวิชาชีพ ใจจึงยังสู้ ยืนหยัดกันอยู่ได้

แต่แน่นอนว่า ใจจะสู้เพียงใด ย่อมพ่ายแพ้ได้ หากอาชญากรรมที่เกิดขึ้นนั้นรุนแรงขึ้น บ่อยขึ้น จนทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข

ถามว่าทางเลือกที่บุคลากรทางการแพทย์จะทำได้คืออะไรบ้าง?

การออกจากระบบรัฐไปอยู่ที่ที่ปลอดภัยและมีความสุขมากกว่าคงเป็นทางเลือกแรก

แต่แน่นอนว่าคงออกไปกันได้แค่ระดับหนึ่ง เพราะจำนวนตำแหน่งงานหรือสถานที่รองรับอาจไม่มากพอ ทางเลือกถัดไปที่น่ากลัวกว่าหากเกิดขึ้นจริงคือ การที่ทนอยู่ในระบบ แต่ลดทอนความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น  และมีความระแวงประชาชน จนทำให้ความสัมพันธ์ห่างเหิน ทำงานไปโดยลด “ใจ” ลง

คนที่ได้รับผลกระทบคือประชาชน ซึ่งไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ในขณะที่กลุ่มที่ลอยตัวเหนือปัญหา และไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ย่อมเป็นกลุ่มนักบริหาร ที่กว่าจะถึงป่านนั้นก็เปิดตูดหนีไปหากินตามที่ต่างๆ ตามระเบียบ ตราบจนกระทั่งกลุ่มนักบริหารเหล่านั้นแก่หง่อม และมาชดใช้กรรมตอนเจ็บป่วยมาที่โรงพยาบาลนั่นเอง

เรื่องการประทุษร้ายบุคลากรทางการแพทย์นี้เป็นเรื่องสำคัญมาก และต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน หากมัวแต่ลอยไปลอยมา ทุกคนมองว่าไม่ใช่ธุระ กว่าจะสำนึก ภัยก็จะมาถึงตัวเองหรือถึงตัวพ่อแม่ลูกหลานญาติพี่น้อง

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่ประชาชนพ่อแม่พี่น้องชาวสารขันธ์ ควรมาร่วมกันแสดงความรักและห่วงใยบุคลากรทางการแพทย์ ผ่านการเรียกร้องให้กลุ่มนักบริหารทั้งหลายแสดงความรับผิดชอบที่ควรกระทำเสียที

หากไม่สามารถสร้างนโยบายปกป้องบุคลากรทางการแพทย์จากผู้ประทุษร้ายได้อย่างเป็นรูปธรรม ทางเลือกที่พวกท่านมีคือ การลาออกแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์วิกฤติซ้ำซากที่เกิดขึ้น ไม่ใช่รอเกษียณแบบสบายๆ เสวยสุขตามนิทานปรัมปราที่เล่าสืบต่อกันมา

“ทำร้ายบุคลากรทางการแพทย์...อาชญากรรมพิสูจน์ใจนักบริหาร”

ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เอกสารอ้างอิง

Jacobson R. Epidemic of Violence against Health Care Workers Plagues Hospitals. Scientific American 31 December 2014.

Nelson R. Tackling violence against health-care workers. Lancet 2014;383:1373-4.