ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.สำนักยาและเวชภัณฑ์ สปสช. เปิดข้อมูลปัญหาการใช้ยา พบผู้ป่วยกว่า 40% ใช้ยาไม่ถูกต้อง-เหลือใช้อื้อ ระบุแต่ละปีประเทศต้องสูญงบฟรีทะลุ 2,300 ล้านบาท

ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการยาและเวชภัณฑ์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะคณะกรรมการจัดงานการประชุมเภสัชกรรมปฐมภูมิ : เภสัชกรกับการพัฒนาระบบยาในการแพทย์ปฐมภูมิ กล่าวรายงานในพิธีเปิดการประชุมฯ เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2560 ตอนหนึ่งว่า มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าผู้ป่วยกว่า 40% มีปัญหาจากการใช้ยาที่บ้าน อาทิ ใช้ยาไม่ถูกต้องตามแพทย์สั่ง ได้รับยาขนาดที่ต่ำหรือสูงเกินไป มีการบริหารยาฉีดและยาพ่นไม่ถูกต้อง

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วยได้ครอบครองยาเกินความจำเป็น ส่งผลให้เกิดปัญหายาเหลือใช้ ยาเสื่อมสภาพ และยาหมดอายุ ซึ่งจากการประมาณการในระดับประเทศพบว่าผู้ป่วย 19.2 ล้านคน ครอบครองยาเกินความจำเป็น โดยคิดเป็นมูลค่าความสูญเสียทางการคลังถึง 2,349 ล้านบาท หรือ 1.7% ของอัตราการบริโภคยาทั้งหมดของประเทศ

ภก.คณิตศักดิ์ กล่าวว่า กลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายจากการใช้ยา จากการศึกษาพบว่ามีผู้สูงอายุเข้านอนโรงพยาบาลจากปัญหาการใช้ยาจำนวนมาก โดยพบถึง 93% ที่เกิดปัญหาในระดับรุนแรงปานกลาง 5% ที่เกิดปัญหาระดับรุนแรงมาก และมีถึง 2% ที่เสียชีวิตจากการใช้ยา ขณะที่ผู้ที่ป้องกันได้มี 27%

ทั้งนี้ กลุ่มยาที่เป็นสาเหตุให้ผู้สูงอายุต้องเข้านอนในโรงพยาบาล ได้แก่ กลุ่มยาในระบบต่อมไร้ท่อ อาทิ ยารักษาโรคเบาหวาน กลุ่มยาในระบบหัวใจและหลอดเลือด กลุ่มยาในระบบประสาท และกลุ่มยาในระบบทางเดินหายใจ ขณะเดียวกันมีการสำรวจปัญหายาในระดับชุมชน พบว่ามียาอันตรายกระจายอยู่ในชุมชนเป็นจำนวนมาก เช่น กลุ่มยาแก้ท้องเสียหรือยาหยุดถ่าย ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs ยาปฏิชีวนะ

“นอกจากรายการยาอันตรายแล้ว ยังพบปัญหาการเข้าถึงยาซึ่งเสี่ยงต่อปัญหาการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผล การใช้ยาเกินจำเป็น การใช้อย่างไม่ถูกวิธีและไม่ถูกขนาด หรือการนิยมใช้ยาตามโฆษณาวิทยุในผู้ป่วยสูงอายุ การใช้ยาชุดโดยไม่มีความรู้ ซึ่งทั้งหมดนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพรุนแรง เช่น การดื้อยา การแพ้ยาอย่างรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต” ภก.คณิตศักดิ์ กล่าว

พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานในพิธีเปิดการประชุม กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เห็นบทบาทของเภสัชกรในการเข้าร่วมการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ และได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมหมอครอบครัวในการร่วมดูแลผู้ป่วย ในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน