ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้ตรวจราชการ สธ.เผยความคืบหน้าการออกระเบียบช่วยเหลือเยียวยาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่บาดเจ็บ/เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ ย้ำยกร่างระเบียบจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ได้รับผลกระทบจากการให้บริการเสร็จแล้ว ขั้นต่อไปเสนอ ครม. ส่วนระเบียบเงินเยียวยายังอยู่ในขั้นตอนขออนุมัติหลักการ

นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ

นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 เปิดเผยความคืบหน้าการจัดทำระเบียบการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินเยียวยาแก่บุคลากรสาธารณสุขที่บาดเจ็บเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ว่า ในภาพรวมแล้วกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการผลักดันมาตรการช่วยเหลือใน 3 ส่วน คือเงินช่วยเหลือเบื้องต้น เงินเยียวยา และเงินช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงภัย

นพ.มรุต กล่าวว่า ในส่วนของเงินช่วยเหลือเบื้องต้นนั้น ปัจจุบันมีเพียงกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการให้บริการ ทั้งในส่วนของผู้รับบริการและผู้ให้บริการ โดยกรณีเสียชีวิตได้รับเงินช่วยเหลือ 400,000 บาท หรือกรณีบาดเจ็บสาหัสสูญเสียอวัยวะ ได้รับเงินช่วยเหลือ 200,000บาท เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในส่วนของกองทุนสุขภาพอื่นๆ ยังไม่มีการช่วยเหลือในลักษณะนี้ โดยในส่วนของประกันสังคมมีความพยายามผลักดันแต่ยังไม่สำเร็จ ขณะที่สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการก็ยังไม่มีหลักการออกมา ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ยกร่างระเบียบการจ่ายเงินช่วยเหลือในส่วนที่นอกเหนือจากสิทธิหลักประกันสุขภาพขึ้นมาเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

“สมมุติ พยาบาลนั่งรถ Refer แล้วเกิดอุบัติเหตุ ถ้าผู้ป่วยที่ไปส่งเป็นผู้ป่วยที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ แบบนี้ได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นจากกองทุนหลักประกันสุขภาพ แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยที่ใช้สิทธิอื่นยังไม่มีกฎหมายไหนที่ให้จ่าย เราก็กำลังทำฉบับนี้ จะได้เกิดความเสมอภาคกัน ซึ่งตอนที่เสนอร่างระเบียบฉบับนี้เข้าไป ทาง ครม.บอกว่านอกจากโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังมีโรงพยาบาลสังกัดอื่นๆ อีก เช่น ทหาร มหาวิทยาลัย กทม. ดังนั้น ครม.จึงสั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขไปคุยกับหน่วยงานเหล่านี้ให้เรียบร้อย ซึ่งเราก็ได้เชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาหารือและเห็นพ้องต้องกันหมด ขณะนี้ปรับปรุงร่างระเบียบเสร็จแล้วอ้างอิงเกณฑ์การจ่ายแบบเดียวกับของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ความคืบหน้าในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขจะพิจารณาเสนอเข้าที่ประชุม ครม.อีกครั้ง” นพ.มรุต กล่าว

นพ.มรุต กล่าวอีกว่า เพื่อให้ประกาศฉบับนี้ใช้ได้กับโรงพยาบาลในทุกสังกัด จึงน่าจะออกเป็นประกาศกระทรวงการคลัง โดยให้แต่ละหน่วยงานตั้งเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นงบประมาณประจำปีหรือเจียดจากงบประมาณปกติ เบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าในปี 2561 ไว้ 6 ล้านบาท

นพ.มรุต กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของระเบียบการจ่ายเงินเยียวยานั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเตรียมเสนอขออนุมัติหลักการจาก ครม. โดยคาดหวังว่าจะสามารถเสนอเข้า ครม.ได้พร้อมกับร่างประกาศการจ่ายเงินช่วยเหลือที่ได้กล่าวไปข้างต้น ซึ่งประกาศฉบับนี้จะมีตัวเงินเยียวยาที่มากกว่า โดยอาจจะอยู่ในหลักล้านบาท

“อยากให้เข้า ครม.พร้อมกัน เพราะเราจริงใจว่าขอเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแล้วก็ควรมีเยียวยาชดเชยให้ด้วย เพราะเจ้าหน้าที่เราก็มีความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ เงินส่วนนี้ต้องเยอะเป็นล้าน ส่วนรายละเอียดร่างประกาศก็คงไม่ยาก เพราะมีหลักเกณฑ์ของทหาร ตำรวจอยู่แล้ว เราก็มาเทียบเคียงและจ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้พอสมควร ส่วนจะเป็นกี่บาทยังตอบตอนนี้ไม่ได้” นพ.มรุต กล่าว

ขณะที่ในส่วนของเงินช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่เข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงภัยนั้น ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยโรคเมอร์ส หรือ อีโบล่า เป็นต้น ซึ่งการช่วยเหลือในลักษณะนี้มีระเบียบของกรมควบคุมโรคในส่วนของโรคเอดส์ แต่แนวคิดในการดำเนินการเรื่องนี้คือปัจจุบันมีโรคที่หลากหลายมากขึ้น จึงควรมีระเบียบที่ใช้กับโรคอะไรก็ได้ หากเกิดโรคระบาดขึ้นมา อย่างน้อยก็เป็นคำตอบว่าราชการช่วยอะไรเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานบ้าง ไม่ใช่ปล่อยให้เสี่ยงไปตามหน้าที่รับผิดชอบอย่างเดียว

“ในส่วนนี้กรมควบคุมโรคจะเป็นเจ้าภาพในการผลักดัน และคิดว่าน่าจะออกเป็นประกาศกระทรวงการคลังเพื่อให้ทุกหน่วยงานที่มีลักษณะการปฏิบัติงานคล้ายคลึงกัน เช่น โรงพยาบาลทหาร โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยสามารถใช้ระเบียบนี้ได้ด้วย” นพ.มรุต กล่าว