ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ปัจจุบัน การควบคุมการบริโภคยาสูบในประเทศไทยมีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ มีการเฝ้าระวังเพื่อควบคุมการบริโภคยาสูบ ใน 5 มิติ ได้แก่ ปัจจัยต้นเหตุ พฤติกรรมเสี่ยง การควบคุมผ่านมาตรการต่างๆ (ด้านภาษีและราคาบุหรี่ การบังคับใช้กฎหมาย การเฝ้าระวัง สำรวจร้านค้าบุหรี่ ร้านอาหาร ตลาด สถานที่สาธารณะ ระบบบริการเลิกบุหรี่ ภาพคำเตืนบนซองบุหรี่) การเฝ้าระวังการป่วย/ตายด้วยโรคที่สัมพันธ์กับยาสูบ และการตรวจจับความผิดปกติ โดยมีสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ (สคส.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการเชื่อมประสานหน่วยงานและภาคีภาคส่วนต่างๆ

หากย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของการควบคุมการบริโภคยาสูบในประเทศไทย นับว่ามีการดำเนินการมาไม่น้อยกว่า 5 ทศวรรษ นับตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ.2529 จุดเริ่มต้นมาจากความตั้งใจของบุคคล และองค์กรไม่ว่าจะเป็น แพทย์ พระสงฆ์ หรือหน่วยงาน อาทิเช่น กทม.ร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศอย่างองค์การอนามัยโลก (WHO) การดำเนินงานในช่วงแรกนั้นเป็นลักษณะต่างคนต่างทำขาดความต่อเนื่อง ขาดการรวมกลุ่ม การประสานงานและสร้างเครือข่าย

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2529 เป็นต้นมา จึงได้เกิดการรวมกลุ่มเป็นองค์กรและมีการประสานงานเป็นเครือข่ายภายใต้ชื่อ “โครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่” ขึ้น มีการกำหนดยุทธศาสตร์ กระบวนการและวิธีการทำงานร่วมกับหน่วยงานและองค์กรอื่นๆ อย่างน่าสนใจ ต่อมาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ และมีสำนักงานควบคุมการบริโภคยาสูบซึ่งนำไปสู่การประสานงานระหว่างหน่วยงาน องค์กรและภาคีต่างๆ มากขึ้น  

หากพิจารณาถึงเหตุปัจจัยในการก่อตัวของกลุ่ม เครือข่ายด้านการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่นั้น พบว่าเกิดจากปัจจัยสำคัญ 4 ประการ ดังนี้

ประการแรก การรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกจำนวนมากทั้งจากองค์กรระหว่างประเทศอย่างองค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์กรหน่วยงานภายในประเทศ

ประการที่สอง สถิติของผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยมีอัตราที่สูงมากในทุกกลุ่มอายุและมีแนวโน้มที่น่าเป็นห่วง

ประการที่สาม โครงการวิ่งรณรงค์ของแพทย์ชนบทในปี พ.ศ. 2530 ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรหน่วยงานมากมายทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันวิชาการ ก่อให้เกิดจิตสำนึกอย่างกว้างขวางในทั่วประเทศ และอาจกล่าวได้ว่าเหตุการณ์นี้มีส่วนสำคัญต่อการสร้าง “คุณค่า” เรื่องสิทธิของผู้ไม่สูบบุหรี่ขึ้นในสังคมไทย

ประการที่สี่ แรงกดดันจากสหรัฐอเมริกาให้เปิดตลาดบุหรี่ต่างประเทศช่วงปี พ.ศ. 2532-2534 ก่อให้เกิดกระแสจิตสำนึกของความรักชาติ เกิดความรู้สึกต่อต้านประเทศมหาอำนาจที่ยัดเยียดสินค้าแห่งความตายให้คนไทย กล่าวคือ ตลอดระยะเวลา 2 ปีได้มีการนำเสนอข่าวสารจากสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับสถานการณ์การสูบบุหรี่ที่ส่งผลต่อสุขภาพของคนไทย จนนำไปสู่ประเด็นทางเศรษฐกิจและกลายเป็นประเด็นทางการเมืองในที่สุด

จากความเคลื่อนไหวต่างๆ ดังที่กล่าวมานั้น ได้ทำให้เกิดผลกระทบที่ตามมา โดยเฉพาะการสร้างคุณค่าของการไม่สูบบุหรี่ในที่สาธารณะของคนไทย ต่อมา พ.ศ. 2535 มีการออกกฎหมายคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ ทำให้มีการขยายเขตปลอดบุหรี่ออกไปทั่วประเทศและมีบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน ซึ่งทำให้สิทธิของผู้ไม่สูบบุหรี่ได้รับการคุ้มครองมากขึ้น และยังส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2539 พบอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยลดลงในทุกกลุ่มอายุ โดยเฉลี่ยเหลือร้อยละ 23.4 จาก 30.1

กล่าวโดยสรุปว่า จุดเริ่มต้นของการควบคุมการบริโภคยาสูบในประเทศไทยมาจากการสร้างค่านิยมทางสังคม ทั้งการร่วมแรงร่วมใจกันในการรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้คนไทยตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ และสร้างค่านิยมในการสูบบุหรี่ตลอดจนการเคารพสิทธิของผู้ไม่สูบบุหรี่ จนนำไปสู่การออกเป็นกฎหมายบังคับตามมา

เก็บความจาก

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์. วิวัฒนาการของการควบคุมการบริโภคยาสูบในประเทศไทย. ใน เอกสารเผยแพร่ข้อมูลทางการแพทย์และสาธารณสุข สถานการณ์ ฉบับที่ 24 พฤศจิกายน 2541.นนทบุรี: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข. 2541.