ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช.รับทราบความคืบหน้าจัดทำร่างแก้ไขกฎหมายบัตรทอง ตั้ง 4 คณะอนุกรรมการเดินหน้า กำหนดจัดทำร่างแก้ไขแล้วเสร็จ 17 พ.ค. นี้ พร้อมเตรียมประชาพิจารณ์ความเห็นรอบด้าน 2-4 มิ.ย.60 พร้อมเผย 14 ประเด็นเตรียมแก้ไขกฎหมายบัตรทอง

ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2560 ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช.เป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 นำเสนอโดย นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช.

นพ.ประจักษวิช กล่าวว่า ความคืบหน้าในการจัดทำร่างข้อเสนอเพื่อแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ได้มีการรวบรวมความเห็นจากคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ พร้อมรวบรวมความเห็นจากคณะกรรมการประสานงานกองทุนภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพที่มี ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูประบบสาธารณสุขด้านการคลังและระบบหลักประกันสุขภาพ มี ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล เป็นประธาน

พร้อมกันนี้ยังได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ 4 คณะดำเนินการ โดยแบ่งเป็นคณะอนุกรรมการพิจารณาประเด็นประกอบการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ 2 คณะ ซึ่งมี นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข และ นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นประธาน คณะอนุกรรมการพิจารณาจัดทำร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มี นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นประธาน

นพ.ประจักษวิช กล่าวว่า สำหรับประเด็นพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมทั้งในส่วนคณะอนุกรรมการพิจารณาประเด็นประกอบการแก้ไขฯ ของทั้ง 2 คณะ มีดังนี้

1.การจ่ายเงินให้กับหน่วยงาน/องค์กรที่ไม่มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย

2.กรอบการใช้เงินกองทุนฯ ทั้งในด้านความครอบคลุมของค่าใช้จ่ายเพื่อรับบริการสาธารณสุข ค่าสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

3.การจ่ายเงินโดยตรงแก่บุคคล ไม่จ่ายผ่านหน่วยบริการตามกฎหมายกำหนด

4.เงินเหมาจ่ายรายหัวและเงินที่ได้จากผลงานบริการให้รับเข้าเป็นรายได้ของหน่วยบริการเป็ฯค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นใช้ตามระเบียบเงินบำรุงได้

5.นิยามบริการสาธารณสุข

6.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการครอบคลุมทุกสิทธิ

7.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการครอบคลุมทุกสิทธิและยกเลิกการไล่เบี้ย

8.การจัดระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย

9.การร่วมจ่ายค่าบริการ

10.การสนับสนุนยาหรือเวชภัณฑ์หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์

11.คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ

12.คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสาธารณสุข

13.การยกเลิกมาตรา 46 (2) ค่าใช้จ่ายรวม....เงินเดือนและค่าตอบแทน

14.ข้อเสนอแก้ไขในส่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งเงินงบประมาณและรายได้ของสำนักงาน และคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามเลขาธิการ สปสช.  

นพ.ประจักษวิช กล่าวต่อว่า หลังจากได้ข้อสรุปในข้อเสนอแก้ไขกฎหมายแล้ว จะส่งต่อให้กับคณะอนุกรรมการพิจารณาจัดทำร่างกฎหมาย ซึ่งกำหนดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ เพื่อมอบให้คณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายต่อไป เบื้องต้นกำหนดการทำประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ เพื่อรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 2-4 มิถุนายน นี้ โดยดำเนินการร่วมการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระดับประเทศ ในปี 2560 นี้ โดยจะนำเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อ รมว.สาธารณสุข เดือนกรกฎาคมต่อไป  

ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในการแก้ไขฉบับนี้ได้เทียบเคียงกับมาตรา 77 รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ การดำเนินการเพียงแค่ 2-3 ขั้นตอน รวมถึงการเปิดรับฟังความเห็นอาจน้อยเกินไป เพราะเป็นกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในภาพรวม ดังนั้นเห็นว่าควรมีการทำประชาพิจารณ์ความเห็นที่มากกว่านี้

ขณะที่ นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้และผู้รับบริการ สปสช. กล่าวว่า การรับฟังความเห็นต่อข้อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ เพียง 3 วันคงไม่เพียงพอ แต่จากการรับฟังความเห็นทั่วไปในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2559 นอกจาก 7 ประเด็นแล้ว ยังเพิ่มเติมรับฟังความเห็นปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่และข้อเสนอปรับปรุงและแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ และในปีนี้ก็ได้มีการเปิดรับฟังความเห็นอย่างกว้างขวางใน 13 เขตทั่วประเทศ ดังนั้นหากรวบรวมความเห็นทั้งหมดมาร่วมด้วยจะทำให้มีน้ำหนักมากขึ้น