ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.ชลบุรี สุดเจ๋ง คิดค้นนวัตกรรมประเมินแผลไฟไหม้แม่นยำ เปิดให้โหลดฟรีผ่านแอพพลิเคชั่น “3D Burn Resuscitation” หลังพบแนวโน้มประเมินพื้นที่ผิวที่ได้รับความเสียหายจากไฟไหม้ผิดพลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลต่อการรักษา เหตุเครื่องมือที่ใช้ประเมินเป็นวิธีที่ใช้มาตั้งแต่ 70 ปีที่แล้ว

นพ.ธนะสิทธิ์ ก้างกอน หัวหน้ากลุ่มงานผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลชลบุรี กล่าวถึงการพัฒนานวัตกรรมประเมินแผลไฟไหม้ผ่านระบบ 3 มิติ ว่า ส่วนตัวเป็นแพทย์ศัลยกรรมตกแต่งและแต่ละปีต้องรักษาผู้ป่วยแผลไฟไหม้เฉลี่ย 70-100 ราย ปัญหาที่พบโดยทั่วไปก็คือการประเมินพื้นที่ผิวที่ได้รับความเสียหายจากไฟไหม้ผิดพลาด เช่น แผลไฟไหม้ประมาณ 40% แต่ผลการประเมินกลับมากถึง 60% เนื่องจากเครื่องมือที่ใช้ประเมินเป็นวิธีที่ใช้มาตั้งแต่ 70 ปีที่แล้ว โดยแนวโน้มของความผิดพลาดเช่นนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่าการประเมินผิดพลาดเช่นนี้ย่อมมีผลต่อการรักษาโดยตรง เนื่องจากแพทย์ต้องเอาปริมาณพื้นที่ผิวที่ถูกแผลไฟไหม้ไปคำนวณการให้น้ำเกลือ การให้อาหาร และแนวทางการรักษา หากประเมินผิดตั้งแต่ต้นการรักษาก็จะมีปัญหา จึงกลับมาคิดว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร

นพ.ธนะสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า เมื่อประมาณ 6 ปีที่ผ่านมา มีโอกาสได้เจอกับโครงการของ NECTEC ซึ่งมีเทคโนโลยีเครื่องสแกนคนได้ทั้งตัวเพื่อจัดทำเสื้อผ้าขนาดต่างๆ ให้เหมาะสมกับแต่ละคน จึงได้ติดต่อขอความร่วมมือและได้หาอาสาสมัครคนไทยที่มีรูปร่างแตกต่างกัน เช่น อ้วน ผอม หรือปกติ ไปเข้าเครื่องสแกน จากนั้นเมื่อได้ข้อมูลออกมาก็ได้ไปติดต่อกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากอาจารย์ที่เป็นโปรแกรมเมอร์ในการนำข้อมูลนี้แปลงออกมาเป็นภาพ 3 มิติ หมุนได้รอบทิศทาง เมื่อพบผู้ป่วยไฟไหม้ที่แขนก็กดระบายสีที่แขน โปรแกรมก็จะคำนวณพื้นที่ผิวความเสียหายออกมาได้อย่างแม่นยำ รวมทั้งคำนวณปริมาณน้ำเกลือให้ด้วย

“จริงๆ โปรแกรมนี้เสร็จมาตั้งแต่เมื่อ 6 ปีที่แล้ว แต่จำเป็นต้องใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่สเปคค่อนข้างสูง นั่นทำให้นำโปรแกรมไปใช้ที่อื่นไม่ค่อยได้ หรือจะเอาเครื่องไปดูแลคนไข้ข้างเตียงก็ลำบากเพราะน้ำหนักมาก ขณะนั้นจึงยังไม่ค่อยแพร่หลาย แต่เมื่อผ่านไป 6 ปี ในยุคสมาร์ทโฟนแพร่หลายและสเปคแรงกว่าคอมพิวเตอร์ในอดีต ผมจึงไปคุยกับโปรแกรมเมอร์คนเดิม และร่วมกันพัฒนาโปรแกรมเป็นแอพพลิเคชั่นอีกรูปแบบหนึ่ง” นพ.ธนะสิทธิ์ กล่าว

นพ.ธนะสิทธิ์ กล่าวอีกว่า โปรแกรมในรูปแบบสมาร์ทโฟนแอพพลิเคชั่นเพิ่งพัฒนาสำเร็จเมื่อปลายปี 2559 ขณะนี้เปิดให้ดาวน์โหลดฟรีผ่านทางกูเกิลเพลย์-แอพสโตร์ ในชื่อ “3D Burn Resuscitation” ซึ่งขณะนี้มียอดผู้ใช้งานกว่า1,000 คนแล้ว โดยแอพพลิเคชั่นนี้จะช่วยให้ทั้งผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญสามารถประเมินแผนได้อย่างแม่นยำ

“ที่ผ่านมาผู้ประเมินแผลต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ ส่วนหมอจบใหม่หรือพยาบาลที่ไม่มีประสบการณ์ก็จะประเมินแผลได้ผิดพลาดเยอะมาก แต่ถ้ามีแอพพลิเคชั่นตัวนี้มาช่วย หมอจบใหม่ทุกคนที่มีสมาร์ทโฟนก็จะสามารถประเมินผลได้ถูกต้องแม่นยำเช่นเดียวกับผู้เชี่ยวชาญ คือผลการประเมินจะใกล้เคียงกันมาก” นพ.ธนะสิทธิ์ กล่าว

สำหรับวิธีการใช้งานแอพพลิเคชั่นดังกล่าว เริ่มจากการใส่น้ำหนักส่วนสูงและข้อมูลคนไข้ลงไป จากนั้นโปรแกรมก็จะคำนวณดัชนีมวลกายออกมาอย่างแม่นยำ เมื่อทราบว่าดัชนีมวลกายอยู่ในช่วงใด โปรแกรมก็จะไปเลือกสัดส่วนรูปร่างที่ใกล้เคียงออกมา นั่นเพราะพื้นที่ผิวของคนอ้วนย่อมไม่เหมือนคนผอม พื้นที่ผิวผู้ชายย่อมไม่เหมือนผู้หญิง เมื่อโปรแกรมเลือกให้แล้วก็จะปรากฏภาพหุ่น 3 มิติ ขึ้นมาในจอสมาร์ทโฟน แพทย์ก็จะระบายพื้นที่ผิวที่ได้รับความเสียหายลงไป แล้วโปรแกรมก็จะคำนวณให้ทั้งหมด

นพ.ธนะสิทธิ์ กล่าวว่า มีแนวคิดพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพิ่มเติมต่อไป โดยจะต้องหาหุ่นที่เป็นเด็กช่วงอายุ 2-10 ปี ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้งบประมาณและต้องการการสนับสนุน อีกด้านหนึ่งก็คือการสร้างเครือข่ายเพื่อให้แอพพลิเคชั่นถูกนำไปใช้มากยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลในเครือข่ายก็ได้นำไปใช้แล้ว

“ในส่วนของการประเมินผลนั้น แอพพลิเคชั่นเพิ่งเริ่มใช้เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ขณะนี้จึงอยู่ในขั้นตอนของการเก็บข้อมูลและประเมินผล แต่จากการใช้จริงพบว่าการประเมินผลแม่นยำขึ้นอย่างมาก เมื่อประเมินถูกก็สามารถช่วยให้ออกแบบการรักษาได้ถูกต้อง เช่น หากประเมินแล้วพื้นที่ความเสียหายไม่เยอะ โรงพยาบาลต้นทางก็ไม่จำเป็นต้องส่งตัวผู้ป่วยต่อมาให้เรารักษา เขาก็สามารถรักษาเองได้ ตรงนี้ก็จะช่วยลดปัญหาการแออัดด้วย” นพ.ธนะสิทธิ์ กล่าว