ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การจํากัดการเพิ่มขึ้นของประชากรผ่านการควบคุมระบบเจริญพันธุ์ของไทยเริ่มมีขึ้นในทศวรรษ 2480  สถานการณ์การคุมกำเนิดที่เริ่มเห็นในหมู่คนเมืองได้ขยายตัวออกไปในท้องถิ่นชนบท พร้อมกับการขยายตัวของทุนนิยมหรือระบบการผลิตเพื่อตลาด ใน “ยุคแห่งการพัฒนา” และการวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรกของไทย โดยรัฐประกาศนโยบายวางแผนครอบครัวใน ปี พ.ศ. 2504 และมีนโยบายวางแผนครอบครัวแห่งชาติขึ้นในปี พ.ศ. 2513

หากจะย้อนไปถึงที่มาของแนวคิดเรื่องการคุมกําเนิด พบว่าเริ่มต้นขึ้นในวงการแพทย์ก่อนเป็นหลัก ตั้งแต่ทศวรรษ 2480 ในขณะที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยนั้นมีนโยบายส่งเสริมให้มีลูกมาก แต่ยังมีความพยายามนําความรู้เกี่ยวกับการทําหมันและการคุมกําเนิดมาสอนในโรงเรียนแพทย์และแพร่ขยายออกไปในแวดวงของห้างร้านขายยา โดยเฉพาะการคุมกําเนิดนั้นแพร่หลายในหมู่คนชั้นกลางที่มีรายได้น้อยและกรรมกรในเมืองหลวงซึ่งมีชีวิตขึ้นอยู่กับระบบเศรษฐกิจแบบการตลาดและทุนนิยม โดยการคุมกําเนิดนั้นจะช่วยประหยัดรายจ่ายในครอบครัวให้สมกับสภาพทางการเงินของพวกเขา

ต่อมาในทศวรรษ 2500 อิทธิพลจากกลุ่มข้าราชการหัวก้าวหน้าทําให้แนวคิดเรื่องการคุมกําเนิดได้ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาเป็นแนวนโยบายหลักของประเทศ ด้วยแนวคิดที่ว่าควรมีการควบคุมจํานวนประชากรไม่ให้มากเกินกว่าที่สังคมจะรองรับได้และการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของประชากรนั้นทําลายสมดุลของสังคม อีกทั้งจํานวนประชากรมีความสัมพันธ์กับการพัฒนาเศรษฐกิจ เมื่อการวางทิศทางในเรื่องการเจริญพันธ์ของคนในสังคมได้กลายเป็นประเด็นทางวิชาการ บวกเข้ากับบทบาทขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหพันธ์วางแผนครอบครัวระหว่างประเทศ (IPPF), Population Councilหรือ USOM จึงค่อยๆทําลายความชอบธรรมของแนวคิดที่ส่งเสริมการมีลูกมาก และทำให้การคุมกําเนิดกลายมาเป็นแนวคิดหลักทางประชากรของไทย นับแต่นั้นมา

นโยบายวางแผนครอบครัวแห่งชาติในปี พ.ศ.2513 เพื่อควบคุมจํานวนประชากรและจํากัดขนาดของครอบครัวนั้น มีหน่วยงานและองค์กรหลายภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุขโดยกองอนามัยครอบครัว ได้รับมอบหมายให้ดําเนินการตามโครงการวางแผนครอบครัวแห่งชาติและดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือด้วย

องค์กรภาคเอกชนที่เข้ามามีบทบาท เช่น สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมาคมทําหมันแห่งประเทศไทย สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน รวมไปถึงกลุ่มร้านขายยา คลินิก โรงพยาบาลเอกชน และบริษัทผลิตยาคุมกําเนิดภายในประเทศ

องค์กรดังกล่าวทําหน้าที่ทั้งเผยแพร่ความรู้ กระตุ้นให้ประชาชนรู้จักและตื่นตัวในเรื่องการวางแผนครอบครัวผ่านสื่อมวลชนต่างๆ รวมทั้งให้บริการวางแผนครอบครัวเสริมการบริการที่กระทําโดยภาครัฐ

ส่วนบทบาทของรัฐนั้น ได้จัดการให้การบริการวางแผนครอบครัวกระจายเข้าไปอยู่ในโครงสร้างการบริการเดิมของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลจังหวัดให้บริการคุมกําเนิดด้วยการทําหมันหญิง-ชาย การใส่ห่วงอนามัย ยาเม็ดคุมกําเนิด และถุงยางอนามัย และในภายหลังก็เพิ่มการคุมกําเนิดด้วยการใช้ยาฝังคุมกําเนิด โรงพยาบาลอําเภอให้บริการในลักษณะเดียวกันกับโรงพยาบาลจังหวัด ส่วนสถานีอนามัยระดับตําบลในปี พ.ศ. 2513 มีอยู่ราว 2,000 แห่งที่ให้บริการยาเม็ดคุมกําเนิดและถุงยางอนามัย และในอีก 20 ปีต่อมาได้ให้บริการดังกล่าวเพิ่มเป็น 8,000แห่ง และยังเพิ่มการให้บริการห่วงอนามัยและยาฉีดคุมกําเนิดอีกด้วย

ในขณะที่อาสาสมัครสาธารณสุขในระดับหมู่บ้านเองก็มีบทบาทในการให้บริการด้านการคุมกําเนิดด้วยเช่นเดียวกัน โดยเริ่มจากการให้ยาเม็ดคุมกําเนิดใน พ.ศ. 2524 ในสัดส่วนร้อยละ 8 ของพื้นที่ทั้งหมด และขยายมาเต็ม 100% ใน พ.ศ. 2528 โดยมีจํานวน อสม.ทั้งสิ้น 53,498 คน

กล่าวได้ว่าความสําเร็จของนโยบายคุมกําเนิด อาจจะสะท้อนให้เห็นจากจํานวนประชากรของประเทศไทย โดยในปี พ.ศ.2454 ประมาณว่ามีประชากรทั้งประเทศ จํานวน 8.1 ล้านคน จากนั้นใช้เวลาถึง 36 ปีจึงเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าคือ ในปี พ.ศ.2490 มีประชากรจํานวน 17.4 ล้านคน แต่หลังจากนั้นประเทศไทยใช้เวลาอีกเพียง 23 ปีจํานวนประชากรก็เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ.2513 คือ มีจํานวน 35.6 ล้านคน แต่หลังจากปี พ.ศ.2513 ซึ่งได้มีการประกาศนโยบายวางแผนครอบครัวนั้น จํานวนประชากรก็ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่เพิ่มในอัตราที่ลดลงเรื่อยๆ คือในปี พ.ศ.2523 มีประชากร 46.9 ล้านคน ปี พ.ศ.2532 มีประชากร 55.8 ล้านคน ปี พ.ศ.2543 มีประชากร 60.61 และเมื่อ พ.ศ. 2552 ไทยมีประชากร 63.4 ล้านคน

เก็บความจาก

ทวีศักดิ์ เผือกสม. นโยบายคุมกำเนิด.หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย