ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่ากรมบัญชีกลางจะเดินหน้าออก "บัตรค่ารักษาพยาบาล" เพื่อเป็นมาตรการใหม่ในการควบคุมค่าใช้จ่ายในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ให้กับข้าราชการและบุคคลในครอบครัวจำนวน 5 ล้านคน โดยให้ผู้มีสิทธิต้องใช้บัตรนี้เวลาไปรับบริการตามโรงพยาบาล ซึ่งบัตรนี้จะใช้คอนเซ็ปต์บัตรเครดิต คือตัวบัตรจะมีวงเงิน แต่ไม่ได้จ่ายเงินไปก่อน รัฐจะจ่ายให้ภายหลังที่มีการใช้บัตรและตรวจสอบสิทธิเรียบร้อยแล้ว ระบบจะมีการตรวจสอบสิทธิได้ทันที และจะมีการดูดข้อมูล ของผู้ใช้บัตรนั้นเพื่อมาตรวจสอบที่ระบบงานหลังบ้านของรัฐ

“อย่างน้อยจะเห็นว่าทำไมไปหาหมอบ่อย ทำไมมีการเบิกยาตัวนี้ผิดปกติ ทั้งนี้ "สิทธิต่างๆ ที่เคยได้รับจะคงอยู่เหมือนเดิม เคยเบิกอะไรก็ได้เหมือนเดิม" โดยคาดว่าน่าจะมีค่าใช้จ่าย 50-60 ล้านบาท เพราะจากการประเมินเบื้องต้นราคาบัตรไม่ถึง 10 บาท/ใบ สำหรับเครื่องรูดรับบัตรจะใช้เครื่องอีดีซีที่กำลังเดินหน้าติดตั้งในส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจกว่า 1.8 หมื่นเครื่อง ตามระบบ National e-Payment ซึ่งกำหนดติดตั้งแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. 2560 โดยเครื่องอีดีซีที่จะใช้กับบัตรค่ารักษาพยาบาลนี้ จะต้องมีการลงโปรแกรมให้รองรับข้อมูลการรักษาพยาบาลด้วย ซึ่งระยะแรกจะติดตั้งตามโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่มีอยู่กว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ” (ประชาชาติธุรกิจ พฤหัสบดี 13-อาทิตย์ 16 เม.ย. 2560)

พิจารณาจากข่าวเบื้องต้น ก็ต้องชื่นชมกรมบัญชีกลางที่มีความพยายามอย่างไม่ลดละในการหาวิธีการเพื่อควบคุมการบานปลายของค่าใช้จ่ายในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการลงให้ได้ ราคาบัตรที่ประเมินออกมาไม่ถึง 10 บาท/ใบ ก็นับว่า ถูกมาก แต่คำถาม คือ

(1) มาตรการ ดังกล่าวจะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่

(2) จำเป็นจะต้องใช้เงิน 50-60 ล้านบาทนี้หรือไม่

(3) ยังมีภาระและค่าใช้จ่าย อื่นๆ นอกเหนือจากนี้หรือไม่

(4) โรงพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะที่สังกัดมหาวิทยาลัยและกองทัพ ซึ่งมีอัตราการใช้สิทธิสูงมากจะยังไม่ใช้ระบบนี้ ใช่หรือไม่

และ (5) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขราวหมื่นแห่งจะยังอยู่นอกระบบใช่หรือไม่

จากคำแถลงของอธิบดีกรมบัญชีกลางในข่าวเดียวกัน มาตรการนี้มุ่งแก้ปัญหาการทุจริตในส่วนของผู้มีสิทธิที่เวียนไปรับการตรวจรักษาจากโรงพยาบาลหลายแห่ง (เพื่อนำยาไปแอบขาย) เท่าที่ทราบกรณีดังกล่าวมีอยู่จริง

แต่อย่างไรก็ดี กรณีดังกล่าวก็เกิดขึ้นน้อยมากและสามารถตรวจพบได้อยู่แล้วจากระบบข้อมูลปัจจุบัน โดยไม่ต้องทำบัตรเพิ่มขึ้นอีก 1 ใบ แต่อย่างใด

ข้อสำคัญเหตุรั่วไหลดังกล่าวมิใช่เหตุสำคัญหรือรูรั่วใหญ่ของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาล ซึ่งรูรั่วใหญ่เกิดจากเหตุอื่นที่สำคัญ ได้แก่

(1) ระบบที่เป็นการให้เบิกจ่ายค่ารักษาผู้ป่วยนอกตามการให้บริการ (Fee-For-Service) และโดยไม่มีเพดานกำกับ

(2) การยอมให้ใช้ยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ หรือการเพิ่มรายการยาใหม่ที่ส่วนใหญ่มีราคาแพงถึงแม้ในระยะหลังจะมีหนังสือจากกรมบัญชีกลางออกมากำชับการสั่งใช้จ่ายยา จ. (2) ก็ยังเปิดช่องให้โรงพยาบาลทำเรื่องขออนุมัติการสั่งใช้นอกเงื่อนไขโดยการทำความตกลงเป็นรายๆ

และ (3) การยอมให้จ่ายยาตามชื่อทางการค้า โดยยอมให้เบิกจ่ายยาเดียวกันในราคาที่แตกต่างกันมาก ซึ่งรูรั่วใหญ่เหล่านี้การใช้เงินทำบัตรเพิ่มขึ้นอีก 50-60 ล้านบาท ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

ปัญหาใหญ่ที่สำคัญจากการทำบัตร คือ ผลกระทบต่อข้าราชการและครอบครัวราว 5 ล้านคน เพราะ

(1) ต้องมีภาระในการเดินทางไปทำบัตรและรับบัตร

(2) กรณีลืมบัตรจะต้องรับภาระจ่ายเงินไปก่อน หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับไปเอาบัตร

(3) กรณีอุบัติเหตุ ฉุกเฉิน และ/หรือกรณีบัตรหายจะทำอย่างไร

ยังมีปัญหาข้อจำกัดของบัตรอีกมาก ได้แก่

(1) กรณีบัตรราคาถูกไม่ถึง 10 บาท จะบรรจุข้อมูลได้แค่ไหน ไต้หวันซึ่งเตรียมการเรื่องระบบไอทีอย่างดี มีการบันทึกข้อมูลการรักษาลงในบัตร เนื่องจากผู้มีสิทธิสามารถไปใช้บริการข้ามเขตได้ แต่เมื่อรับบริการได้แค่ 6 ครั้ง ก็ต้องเปลี่ยนบัตรใหม่ และในเยอรมนีซึ่งเดิมก็มีการเก็บข้อมูลการรักษาไว้ในบัตร ปัจจุบันก็เปลี่ยนไปใช้บัตรสมาร์ทการ์ดเพื่อประโยชน์การพิสูจน์ตัวตนเป็นหลัก

(2) ข้าราชการและครอบครัวจำนวนหนึ่ง มีการเปลี่ยนแปลงสิทธิอยู่ตลอดเวลา เช่น กรณีหย่าร้าง กรณีบุตรอายุเกิน 20 ปีก็หมดสิทธิ กรณีลาออกจากราชการ เสียชีวิต ก็ต้องยกเลิกบัตร กรณีเปลี่ยนชื่อ นามสกุลก็ต้องเปลี่ยนบัตร จึงไม่ทราบว่าจะต้องลงทุนอีกเท่าไรในการพัฒนาระบบ "หลังบ้าน" เพื่อให้ข้อมูลเป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา

อันที่จริงประเทศไทยมีการพัฒนาบัตรประจำตัวประชาชนเป็น "บัตรฉลาด" หรือสมาร์ทการ์ด (Smart Card) มาตั้งแต่ปี 2548 และมีนโยบาย "คนไทย 1 ใบก็พอ" มาตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2553 รวมทั้ง ครม.ได้มีมติให้ทุกส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐบูรณาการข้อมูลตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. 2559

บัตรประจำตัวประชาชนของเรา ในปัจจุบันมีพัฒนาการมายาวนานจนปลอมแปลงยาก มีแผ่นชิปสี่เหลี่ยมสีทองด้านหน้า มีการแบ่งพื้นที่ไว้ให้ส่วนราชการต่างๆ สามารถบันทึกและเก็บข้อมูลเข้าไปเพื่อใช้ประโยชน์และแลกเปลี่ยนกันได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดความซ้ำซ้อนในการบันทึกและจัดเก็บข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ

แทนที่จะลงทุนทำบัตรใหม่อีก 50-60 ล้าน บวกการลงทุนและเพิ่มภาระอื่นๆ อีกมากมาย ทำไมกรมบัญชีกลางไม่ใช้ประโยชน์จากบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งปัจจุบันมีการเชื่อมโยงกับระบบทะเบียนราษฎร์และระบบอื่นๆ และมีระบบตรวจสอบข้อมูลเพื่อให้เป็นปัจจุบัน ทันเหตุการณ์อยู่อย่างสม่ำเสมอ เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งดูแลประชาชน 48 ล้านคน ก็ไม่ต้องมี "บัตรทอง" ของตนเอง และมีการอัพเดท (Update) ข้อมูลกันเป็นประจำวันละ 5 รอบ ทำให้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายและตัดความซ้ำซ้อนลงได้ตลอดเวลา

บัตรสมาร์ทการ์ด (Smart Card) นั้น แปลตรงตัวว่า บัตรฉลาด ถ้าเลือกใช้ผิด หรือเลือกใช้อย่างไม่ฉลาดก็จะกลายเป็น "บัตรฉลาดน้อย" (Less-Smart Card) ดีไม่ดีก็อาจถึงขั้นกลายเป็น "บัตรโง่" (Idiot Card) ไปเลยก็ได้

ผู้เขียน : นพ.วิชัย โชควิวัฒน