ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขร่วมมือจากคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี พัฒนาหลักสูตรแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวพร้อมส่งฝึกประสบการณ์จริงในคลินิกหมอครอบครัว เพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพภาครัฐตามนโยบายของรัฐบาลลดความเหลื่อมล้ำ ดูแลสุขภาพประชาชนครอบคลุมทุกครอบครัว 6,500 ทีม ในปี 2569 ร่วมทีมสหวิชาชีพ “บริการทุกคน ทุกอย่าง ทุกที่ ทุกเวลาด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม”

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะเดินทางเยี่ยมชมการเรียนการสอน ของภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ฯ พร้อมด้วยคณาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว ให้การต้อนรับ

นพ.โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขและคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดลได้ร่วมกันขับเคลื่อนการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ให้มีคุณภาพที่จะทำให้การดูแลประชาชนมีประสิทธิภาพ ในระดับปฐมภูมิ ที่ผ่านมาทางคณะแพทยศาสตร์ ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัวโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวประมาณ 100 กว่าคน ด้วยทีมอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวที่มีคุณภาพ ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนงานคลินิกหมอครอบครัวของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีเป้าหมายจะผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวได้ครบ 6,500 ทีม อีก 10 ปีข้างหน้า เพื่อดูแลคนไทย 65 ล้านคน โดยกำหนด 1 ทีมดูแลประชาชน 10,000 คน ที่จะทำให้คนไทยทุกคนมีทีมหมอครอบครัวเป็นหมอประจำบ้าน ให้คำแนะนำดูแลสุขภาพ ไม่ใช่แค่รักษาโรคเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการรักษาทุกมิติของคนในครอบครัว

ซึ่งเป็นที่น่ายินดี ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี รับเป็นคู่ความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ยินดีให้การสนับสนุนการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ทั้งเป็นแหล่งฝึกงาน เป็นที่ปรึกษาทางวิชาการ พัฒนาทักษะความเป็นครูพี่เลี้ยงให้ผู้เข้ารับการอบรม การเรียนการสอนในสถาบันสมทบ เป็นต้น ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข จะได้นำข้อมูลจากดูงานครั้งนี้ไปปรับปรุงระบบการทำงาน การเรียนการสอนของแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ทำให้ประชาชนได้รับรู้และรู้จักแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมากขึ้น และทางคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีจะเป็นศูนย์ความร่วมมือที่จะช่วยให้การพัฒนางานปฐมภูมิคลินิกหมอครอบครัวของกระทรวงสาธารณสุขได้มาก

ในเบื้องต้นจะสนับสนุนคลินิกหมอครอบครัว (PCC) ในเขตสุขภาพที่ 3 ประกอบด้วย จังหวัดนครสวรรค์ กำแพงเพชร ชัยนาท และอุทัยธานี และจะได้ขยายความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ในเขตสุขภาพอื่นต่อไป รวมทั้งการพัฒนาฐานข้อมูลด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ทั้งการผลิต การศึกษาต่อเนื่อง กำลังคนและการกระจายตัว

ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข มีคลินิกหมอครอบครัว 48 ทีม ใน 16 จังหวัด โดยเน้นในพื้นที่ที่มีความพร้อมเพื่อให้มีคลินิกหมอครอบครัวที่มีคุณภาพมากกว่าปริมาณ อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขยังได้ต่ออายุราชการให้กับแพทย์เกษียณอายุราชการ ในปีงบประมาณ 2560 ที่สมัครใจรับราชการต่อ โดยให้อบรมระยะสั้น เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัวตามหลักสูตรมาตรฐาน เพื่อประจำคลินิกหมอครอบครัว (PCC) และกลับไปทำงานในคลินิกหมอครอบครัวในแต่ละพื้นที่