ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

26 พ.ค.นี้ ชมรม 7 วิชาชีพทางการแพทย์กว่า 400 คน บุก สธ.ขอความชัดเจนผู้บริหาร สธ. กรณีบรรจุ ขรก. หลังอดทนรอ 5 ปี ไม่คืบ พร้อมร้อง สนช. ศูนย์ดำรงธรรมต่อ ขอความเป็นธรรม ช่วยลดเหลื่อมล้ำ เหตุรุ่นน้องวิชาชีพอื่นแซงหน้าบรรจุ กระทบขวัญกำลังใจ ความก้าวหน้าวิชาชีพ เผยวิชาชีพกายภาพบำบัด มีบรรจุ ขรก.แค่ 1,600 คน นอกนั้นเป็นลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างรายวัน ไม่มีความมั่นคง

นายสมคิด เพื่อนรัมย์ แกนนำชมรม 7 วิชาชีพทางการแพทย์ และประธานชมรมนักกายภาพบำบัดชุมชน กล่าวว่า ในวันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม นี้ ตัวแทน 7 วิชาชีพทางการแพทย์ ประกอบด้วย นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักรังสีการแพทย์ นักเวชศาสตร์สื่อความหมาย นักกิจกรรมบำบัด นักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก และนักจิตวิทยาคลินิก คาดว่าประมาณ 400 คน จะขอเข้าพบ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้บังคับบัญชาเพื่อขอความเป็นธรรมและความชัดเจนการบรรจุข้าราชการในส่วนของ 7 วิชาชีพ จากนั้นจะเข้ายื่นเรื่องต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และศูนย์ดำรงธรรม หลังจากก่อนหน้านี้ชมรม 7 วิชาชีพทางการแพทย์ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมาเพื่อสอบถามเรื่องนี้ แต่ไม่ได้รับคำตอบใด

นายสมคิด กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนบรรจุอัตรากำลังคน มีการกำหนดสัดส่วนอัตราบรรจุพยาบาลที่ร้อยละ 95 ขณะที่วิชาชีพอื่นๆ อยู่ที่ร้อยละ 75 แต่หลังจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องของพยาบาล นอกจากพยาบาลจะได้บรรจุทั้งหมดแล้วยังมีความชัดเจนบรรจุภายใน 3 ปี ขณะที่วิชาชีพอื่นๆ ไม่มีการกล่าวถึงเลยทำให้รู้สึกไม่เป็นธรรมในฐานะที่เป็นกลุ่มทำงานระบบสุขภาพด้วยกัน นอกจากสัดส่วนตำแหน่งบรรจุที่ได้รับน้อยแล้วยังไม่มีความชัดเจนว่าจะได้รับการบรรจุตามสัดส่วนร้อยละ 75 เมื่อไหร่ สร้างความทุกข์ให้กับผู้ปฏิบัติงานอย่างมาก โดยเฉพาะน้องที่ทำงานมาก่อน แต่พบว่าขณะนี้น้องๆ วิชาชีพอื่นๆ ที่เริ่มทำงานทีหลังกลับได้รับการบรรจุข้าราชการแซงหน้ากันไปแล้ว

“ทุกข์ที่เกิดขึ้นคือมีน้องๆ ที่เริ่มทำงานตั้งแต่ในปี 2554 แต่ปรากฎว่าน้องๆ วิชาชีพอื่นที่เริ่มทำงานในปี 2555-2557 กลับได้รับบรรจุเป็นข้าราชการไปแล้ว เรื่องนี้ทางกระทรวงเคยมีการคุยและจัดทำแผน แต่เราอดทนมา 5 ปีแล้ว จึงควรที่จะมาคุยกันว่าจะทำอย่างไร จะปฏิรูปอย่างไร เพราะแม้แต่ในแผนยุทธศาสตร์ปฏิรูประบบสาธารณสุขก็ไม่ได้มีการพูดถึงวิชาชีพอื่น ดังนั้นเราจึงต้องไปถามกับผู้บังคับบัญชาว่า เป็นยังไงบ้างครับ แผนจัดสรรตำแหน่งไปถึงไหน แล้วมีแผนที่จะบรรจุให้กับวิชาชีพอื่นอย่างไร ที่ผ่านมาเราไม่เคยเรียกร้องผ่านสื่อเลย อดทนและยื่นเรื่องทำตามระบบมาตลอด กระทรวงบอกให้รอเราก็รอ ไม่ทราบว่าท่านเห็นความทุกข์ตรงนี้หรือไม่ หรือเป็นเพราะเราคนน้อยจึงมองไม่เห็น” แกนนำชมรม 7 วิชาชีพทางการแพทย์ กล่าวและว่า ยืนยันว่าเราไม่ได้ไปประท้วงอะไร และคงไม่ขู่ประกาศลาออก เพราะนอกจากจะกระทบต่อผู้ป่วย ทั้งเราต่างยังมีภาระครอบครัวที่ต้องดูแลกันอยู่ แต่เพียงอยากที่จะไปทวงถาม เพราะวันนี้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในระบบจริงๆ

นายสมคิด กล่าวต่อว่า ในฐานะประธานชมรมนักกายภาพบำบัดชุมชน มีน้องๆ ทำงานในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 700 แห่งทั่วประเทศ แต่ที่น่าตกใจคือทั้งระบบมีนักกายภาพ 2,800 คน ในจำนวนนี้ได้รับบรรจุเป็นข้าราชการเพียง 1,600 คนเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นลูกจ้างชั่วคราวและลูกจ้างรายได้ ได้รับค่าจ้างเพียงวันละ 500 บาท ป่วยไข้ก็ไม่ได้เพราะจะไม่ได้เงิน ไม่มีความมั่นคงใดๆ สิทธิในการลา หรือเรียนต่อก็ไม่มี ที่ผ่านมาจึงเกิดปัญหาสมองไหลต่อเนื่อง โดยนักกายภาพที่อยู่ในระบบวันนี้ต้องภาระดูแลประชากรทั้งประเทศ 68 ล้านคน ทั้งที่กระทรวงสาธารณสุขเคยทำตัวเลขสำรวจภาระงานต่อคนไข้ ซึ่งระบบต้องมีนักกายภาพ 5,000 คนตรงนี้คงไม่ต้องพูดถึง ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับวิชาชีพกายภาพบำบัดนี้ ในวิชาชีพอื่นๆ ก็ไม่แตกต่างกัน

“วันนี้เรามีนักกายภาพที่บรรจุเป็นข้าราชการเพียงแค่ 1,600 คนเท่านั้น ที่เหลือไม่รู้ว่าจะได้รับบรรจุเมื่อไหร่ โดยในช่วงที่มีการจัดสรรตำแหน่งบรรจุ ปี 2552-2553 เราได้รับเพียงปีละ 2-3 ตำแหน่งเท่านั้น ขณะที่ในปี 2560 เราได้รับ 35 ตำแหน่ง โดยในส่วนของเขต 7 มี 4 จังหวัด ได้รับตำแหน่งบรรจุจังหวัดละ 1 ตำแหน่ง คือที่ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และขอนแก่น ส่วนมหาสารคามนั้นไม่ได้รับ” ประธานชมรมนักกายภาพบำบัดชุมชน กล่าว

นายสมคิด กล่าวต่อว่า อยากฝากว่าการรักษาคนไข้ ไม่สามารถอาศัยวิชาชีพใดเพียงวิชาชีพหนึ่งได้ แต่ทุกวิชาชีพต้องเป็นฟันเฟืองร่วมกันในการดูแลคนไข้ เช่น คนไข้หนึ่งคน หากไม่มีการเอกซเรย์ ไม่ตรวจแลปแล้วจะวินิจฉัยโรคได้อย่างไร เวลาคนไข้ผ่าตัดแล้วมีปัญหาข้อติดก็ต้องกายภาพบำบัดฟื้นฟู เป็นต้น ซึ่งทุกวิชาชีพต้องทำงานต่อเนื่องกัน ดังนั้นจึงอยากให้ผู้บริหารดูแลไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ จนทำให้ผู้ปฏิบัติงานในวิชาชีพขาดขวัญและกำลังใจเช่นที่เป็นอยู่นี้