ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“บางสะพาน” อำเภอต้นแบบแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นครบวงจร จุดเด่นกลไกการทำงานที่เชื่อมต่อระหว่าง “สาธารณสุข-ท้องถิ่น-โรงเรียน- ชุมชน” ส่งผลจำนวนแม่วัยรุ่นลดฮวบ หลังพบประจวบฯ ท้องในวัยเรียนติดอันดับ 4 ของประเทศ

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงพยาบาลบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การดำเนินงาน “ระบบแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นครบวงจร” ในโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จ.ประจวบคีรีขันธ์

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 2 สสส. กล่าวว่า การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นถือเป็นปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพที่ สสส.ให้ความสำคัญเพราะมีผลกระทบระยะยาวต่อทั้งตัววัยรุ่นที่ประสบปัญหาและทารก ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สสส.จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ นักวิชาการและภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ระดับนโยบายและลงลึกในทางปฏิบัติระดับพื้นที่ ใน 20 จังหวัด รวมถึง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งพบว่าในปี 2558 เป็นจังหวัดอันดับ 4 ของประเทศที่มีอัตราการคลอดในแม่วัยรุ่นอายุ 15-19 ปีมากที่สุด ซึ่งจำนวนแม่วัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ในปี 2558 มีสูงถึง 1,137 คน คิดเป็นอัตรา 65.1 ต่อวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี1,000 คน ขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศอยู่ที่ 43 ต่อวัยรุ่นหญิงพันคน

ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น สสส.ได้ศึกษาบทเรียนจากหลายประเทศ และพบจุดเน้นหนัก คือต้องสนับสนุนให้เกิดกลไกการทำงานร่วมกันในพื้นที่ ระหว่างสถานศึกษา ท้องถิ่น ชุมชน ภาคประชาสังคม และหน่วยบริการทางสุขภาพ ซึ่งบทเรียนการทำงานที่ผ่านมาพบว่า ปัจจัยความสำเร็จ คือการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบของทีมงานหลักในพื้นที่ใน 9 ภารกิจ คือ

1.การมีกลไกประสานการทำงานในทุกระดับที่เข้มแข็ง

2.การพัฒนาทักษะผู้ปกครองในการคุยเรื่องเพศกับลูก

3.มีกลไกสนับสนุนให้สถานศึกษาสอนเรื่องทักษะชีวิตและเพศวิถีศึกษารอบด้าน

4.การทำงานป้องกันเชิงรุกในกลุ่มเปราะบาง

5.รณรงค์สื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักและทราบแหล่งให้ความช่วยเหลือเมื่อประสบปัญหา

6.การมีหน่วยบริการสุขภาพที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น

7.ระบบดูแลช่วยเหลือที่เชื่อมโยงระหว่างสุขภาพ การศึกษาและสวัสดิการสังคม

8. มีพื้นที่ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ สำหรับเด็กเยาวชน โดยท้องถิ่นร่วมสนับสนุน

และ 9. มีระบบติดตามประเมินเพื่อพัฒนาการทำงานอย่างต่อเนื่อง

“กลไกการทำงานที่เข้มแข็งในพื้นที่ จะช่วยให้เจตนารมณ์และเป้าหมายตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 มีโอกาสบรรลุผลลัพธ์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการเชื่อมโยงจากกลไกเชิงนโยบายของ 5 กระทรวงหลักสู่กลไกปฏิบัติการในพื้นที่ ทั้งระบบที่เชื่อมโยงระหว่างโรงเรียน สถานบริการสุขภาพ ระบบสวัสดิการครอบครัว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานประกอบการ ซึ่ง อ.บางสะพาน มีทีมทำงานทั้งระดับอำเภอและตำบล ขับเคลื่อนทั้ง 9 ภารกิจอย่างเข้มแข็งและเกิดผลที่ดีเยี่ยม จึงถือเป็นอำเภอต้นแบบของจังหวัด โดยมีจำนวนแม่วัยรุ่นลดลงอย่างชัดเจน จากปี 2557 ที่อัตรา 58.9 ลดลงเหลือ 39.2 ต่อวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี 1,000 คน ในปี 2559” ทพ.ศิริเกียรติ กล่าว

นายเจริญ เจริญลักษณ์ สาธารณสุขอำเภอบางสะพาน กล่าวว่า จุดเด่นของการทำงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นคือการทำงานเป็นเครือข่ายระหว่างสาธารณสุข อบต. โรงเรียน อสม. และผู้ปกครองที่ร่วมมือกันอย่างเป็นมิตร ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ช่วยกันคิดช่วยกันทำ โดยเริ่มต้นจากร่วมกันจัดทำแผนการทำงาน การอบรมวิทยากรกระบวนการเพื่อให้ความรู้กับพ่อแม่ในการสื่อสารเชิงบวกกับลูกเรื่องเพศ การจัดค่ายเยาวชนกลุ่มเสี่ยงพร้อมกับมีกระบวนการติดตามอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังได้พัฒนาคลินิกวัยรุ่นให้เข้าถึงเด็กและเยาวชนมากยิ่งขึ้น โดยตั้งแฟนเพจ love care บางสะพาน รวมทั้งประชาสัมพันธ์สายด่วน 1663 (สายให้คำปรึกษาปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมทางโทรศัพท์) เพื่อเป็นช่องทางเชื่อมต่อกับกลุ่มเป้าหมาย โดยจะประชาสัมพันธ์ช่องทางดังกล่าวทุกครั้งในการจัดอบรมนักเรียน พร้อมกับอบรมครูในโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่เพื่อตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาในโรงเรียน และมีระบบการส่งต่อนักเรียนที่ประสบปัญหาไปยังคลินิกวัยรุ่นเพื่อแก้ปัญหาแต่แรกเริ่ม ทั้งนี้การป้องกันและแก้ปัญหาในวัยรุ่นจำเป็นต้องทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคือการสร้างทีมทำงานร่วมกันในพื้นที่อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นการป้องกันและแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

นายบุญยฤทธิ์ แดงรักษา ปลัด อบต.ร่อนทอง กล่าวว่า หลังจากที่สาธารณสุขอำเภอประสานมายัง อบต.ร่อนทอง ว่ามีวัยรุ่นตั้งท้องจำนวนมาก ผู้ประสานงานระดับอำเภอจึงชวนทาง อบต.มาหารือเพื่อร่วมกันหาแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ซึ่งนายก อบต.ร่อนทองได้ให้ความสำคัญโดยร่วมสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งกลุ่มเป้าหมายในการทำงานคือเยาวชนในสถานศึกษาและผู้ปกครอง จึงเริ่มที่โรงเรียนในสังกัดท้องถิ่น 3 แห่ง ประกอบด้วยโรงเรียนขยายโอกาส 1 แห่ง และโรงเรียนประถม 2 แห่ง โดยเริ่มให้ความรู้ตั้งแต่ชั้น ป.5 เพราะมองว่าการให้ความรู้เรื่องเพศยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี จึงแยกเป็นหลักสูตรพ่อแม่และเด็ก พร้อมกับจัดกิจกรรมให้พ่อ แม่ และลูกได้มีโอกาสเปิดใจคุยกัน ในช่วงแรกก็มีเสียงต่อว่าจากผู้ ปกครองบางส่วนที่ไม่เข้าใจ มองว่าเป็นการชี้โพรงให้กระรอก แต่เดินหน้าทำต่อ จนปัจจุบันจำนวนเด็กตั้งท้องลดลงและผู้ ปกครองก็ร่วมสนับสนุน

นอกจากนี้ทาง อบต.ร่อนทองได้จัดประกวดหนังสั้นเรื่อง safe sex ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เยาวชนได้ริเริ่มและทำขึ้นเอง จึงเป็นที่สนใจของวัยรุ่น พร้อมกับเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ ทั้งกีฬาและการแสดงทางวัฒนธรรม ทั้งนี้ตนมองว่าท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดและมีหน้าที่ดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงควรทำหน้าที่ประสานหน่วยงานอื่นๆ เข้าร่วม ซึ่งความสำเร็จของบางสะพานก็เกิดจากความร่วมมือของสาธารณสุข โรงเรียน ชุมชน และท้องถิ่นจับมือกันทำงานอย่างต่อเนื่อง