ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายสหวิชาชีพสาธารณสุขชายขอบฯ เผย รองปลัด สธ.รับปากตั้งคณะกรรมการร่วมพิจารณาเรื่องการบรรจุเข้ารับราชการ แต่ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน คาดเดือนหน้าติดตามผลอีกครั้ง หากไม่คืบหน้าจะไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล

นายภาณุพงศ์ ปิ่นแก้ว ประธานเครือข่ายสหวิชาชีพสาธารณสุขชายขอบต้องการบรรจุแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องขอบรรจุราชการที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2560 ที่ผ่านมา ซึ่งมี พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวง เป็นผู้รับมอบหนังสือ ทาง พญ.ประนอม ได้กล่าวภายหลังจากที่รับหนังสือไปแล้วว่าจะรับเรื่องไว้พิจารณา โดยจะหาคณะกรรมการในแต่ละสายงานมาทำงานร่วมกันและยืนยันว่าไม่ทอดทิ้งสหวิชาชีพ

อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมแล้วก็ยังไม่มีความชัดเจน เช่น ไม่มีกำหนดเวลาเรื่องการตั้งคณะกรรมการ หรือไม่มีรายละเอียดอื่นใด ดังนั้นคาดว่าอาจต้องมีการรวมตัวอีกครั้ง โดยในเดือนหน้าจะมาติดตามผลการดำเนินการ ซึ่งหากยังไม่มีความคืบหน้าก็จะไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลต่อไป

“เรายื่นข้อเสนอประมาณ 8 ข้อ ซึ่งข้อ 3 ขอให้เร่งดำเนินการบรรจุในปีงบประมาณนี้ ทาง พญ.ประนอมก็ไม่ได้ให้คำตอบว่าอย่างไร เราก็เกรงว่าจะไม่ได้บรรจุเพราะเขาจะเน้นวิชาชีพหลัก คือแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ซึ่งได้รับการบรรจุ 90-100% แต่สหวิชาชีพได้รับการบรรจุไม่ถึง 75% บางสายงานก็ถูกลืมไปเลย เช่น นักสังคมสงเคราะห์ ตอนนี้สหวิชาชีพที่ได้รับผลกระทบมีแนวโน้มไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการมีเกือบ 5,000 คน” นายภานุพงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องทั้ง 8 ข้อประกอบด้วย

1. ขอให้มีการจัดสรรตำแหน่งว่าง หรือกำหนดตำแหน่งใหม่ให้กับเครือข่ายสหวิชาชีพฯ ด้วยความเป็นธรรม

2. ขอให้มีการเพิ่มการบรรจุบุคลากรที่เป็นพนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข ลูกจ้างชั่วคราว และลูกจ้างทุกประเภท 100% ในทุกวิชาชีพเหมือนกับสายหลัก

3. ขอให้ชี้แจงตำแหน่งที่จะบรรจุในปี พ.ศ. 2560 ของสหวิชาชีพฯ ให้ชัดเจน

4. ขอให้มีการเพิ่มอัตรากำลังการบรรจุนักวิชาชีพสาธารณสุขในส่วนภูมิภาค ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

5. พิจารณาค่าตอบแทนทุกฉบับให้เหมาะสมแก่ลูกจ้างทุกประเภทที่ยังไม่ได้รับการบรรจุ

6. ขอให้ยกเลิกหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2544 (ฉบับที่ 10 ) พ.ศ. 2559 เนื่องจากซับซ้อนกับเงินเสี่ยงภัยของข้าราชการของกระทรวงในจังหวัดชายแดนภาคใต้

7. ขอให้ข้าราชการพลเรือนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมกับทุกวิชาชีพ

8.ขอให้ข้าราชการพลเรือนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับปรุงตำแหน่งในสายงานที่มีการปรับหลักสูตรจากอนุปริญญาเป็นปริญญาตรี เช่น เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข เป็นนักวิชาการทันตสาธารณสุข, เจ้าพนักงานเภสัชกร เป็นนักวิชาการเภสัชกรรมชุมชน เป็นต้น