ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองประธานชุมชนใต้สะพาน เขตสายไหม เผยชีวิตคนไทยไม่มีบัตรประชาชน เข้าไม่ถึงสิทธิรักษาพยาบาล ตายไปแล้วยังจะโดนเขียนใบมรณะบัตรว่าเป็นต่างด้าว วอน “สปสช.-พม.” ดูแลให้เหมือนคนไทยทั่วไป

น.ส.วิมล ถวิลพงษ์

น.ส.วิมล ถวิลพงษ์ รองประธานชุมชนใต้สะพาน (ชุมชนพูนทรัพย์) เขตสายไหม เปิดเผยว่า วันที่ 12 มิ.ย.2560 ที่ผ่านมา ได้มีชายในชุมชนคนหนึ่ง อายุ 46 ปี ป่วยหนักและเสียชีวิตขณะนำส่งโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในย่านนี้ โดยชายคนนี้เป็นคนไทยแต่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลได้ ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่าหากผู้ป่วยมีสิทธิเข้าถึงการรักษาเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป คงไม่เสียชีวิตเร็วเช่นนี้

น.ส.วิมล กล่าวว่า สาเหตุที่ชายคนนี้ไม่มีบัตรประชาชน เนื่องจากบิดามารดาไม่ได้พาไปทำบัตรประจำตัวประชาชนตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็ก ทำให้ที่ผ่านมาไม่สามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพได้ อีกทั้งมีรายได้น้อยไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา ดังนั้นเวลาป่วยก็ซื้อยากินเอง แม้ป่วยหนักก็ไม่ยอมไปโรงพยาบาล ต้องป่วยหนักจริงๆ ถึงจะยอมไป และทุกครั้งที่ไป โรงพยาบาลก็ไม่ค่อยอยากจะรักษาให้ ต้องทำเรื่องเป็นคนไข้อนาถาทุกครั้ง

“รอบล่าสุดก็เข้าโรงพยาบาลไปครั้งหนึ่ง ต้องนอนโรงพยาบาลหลายวัน ค่าใช้จ่ายก็หลายหมื่นบาท ตอนกลับมาพักที่บ้าน โรงพยาบาลก็ไม่ได้ให้ยากลับมากินสักเม็ด ปล่อยให้คนไข้นอนแหง็กที่บ้าน จนสุดท้ายเขาไม่ไหวแล้ว เลยโทรหาดิฉันประมาณ 16.00-17.00 น.วันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา เราก็บอกว่าต้องพาไปโรงพยาบาลแล้ว จะรักษาหรือไม่รักษาก็ขึ้นอยู่กับหมอ แต่พอพาไปถึงโรงพยาบาล ผู้ป่วยก็เสียชีวิตแล้ว” น.ส.วิมล กล่าว

น.ส.วิมล กล่าวอีกว่า แม้คนไข้จะเสียชีวิตแล้วแต่ก็ยังมีความยุ่งยากในการนำศพออก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายประมาณ 27,000 บาท และทางญาติผู้เสียชีวิตก็ไม่มีเงินขนาดนั้น เลยต้องทำเรื่องขอสงเคราะห์และให้คำรับรองในฐานะรองประธานชุมชนว่าครอบครัวนี้ไม่มีเงินจริงๆ

นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลยังจะเขียนในใบมรณะบัตรว่าเป็นคนต่างด้าว ทางตนจึงโต้แย้งกลับไปว่าเป็นคนไทยเพียงแต่พ่อแม่ไม่ได้พาไปทำบัตรประชาชน สุดท้ายโรงพยาบาลจึงใส่คำว่าเป็นผู้ไม่มีเอกสารแสดงตัวแทน และยอมให้นำศพกลับมาทำพิธีทางศาสนาได้

“ทีแรกโรงพยาบาลจะออกใบมรณะบัตรว่าเป็นคนต่างด้าว เราก็เถียงว่าไหนๆ เขาก็ตายไปแล้ว ให้เขามีสถานะเป็นคนไทยเถอะ ขนาดตายแล้วยังจะให้เป็นคนต่างด้าวอีก เราก็ยืนยันนะว่าอยู่ในชุมชนด้วยกันมาตั้งแต่เล็ก เพียงแค่ไม่มีบัตรประชาชน รัฐบาลเลยไม่ยอมรับว่าเขาเป็นคนไทย ไม่มีใครยอมรับ พอเขาเสียชีวิตก็ยังจะให้เป็นคนต่างชาติอีก” น.ส.วิมล กล่าว

น.ส.วิมล กล่าวอีกว่า กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดว่าการทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในเรื่องการรักษาพยาบาลเป็นเรื่องยากมาก รัฐหรือหน่วยงานของรัฐมองว่าต้องมีเลขประจำตัว 13 หลักเท่านั้นหรือถึงจะเป็นคนไทยและได้มีสิทธิได้รับการรักษา ดังนั้นอยากจะเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แพทย์ โรงพยาบาล หรือแม้แต่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) น่าจะยื่นมือมาช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ให้ได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลเหมือนคนไทยทั่วไป เพราะถึงอย่างไรก็เป็นคนไทยคนหนึ่งเพียงแต่ไม่มีเลข 13 หลักเท่านั้น