ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอธีระ” ชี้ทางออก กม.บัตรทอง ชะลอแก้ประเด็นที่ยังขัดแย้งกันมาก เพื่อถกหาทางออกร่วมกัน คงเดินหน้าแก้ปลดล็อคเฉพาะส่วนที่อุปสรรคและปัญหาดำเนินระบบ เช่นประเด็นตามคำสั่งมาตรา 44 พร้อมแนะรัฐบาลฟันธงสวัสดิการรักษาพยาบาลชัดเจน “เฉพาะคนจน” หรือ “ถ้วนหน้า” หลังสัญญาณนโยบายลงทะเบียนคนจน หวั่นจำกัดสิทธิเข้าถึงการรักษา ให้โอกาส ปชช.วางแผนด้านค่าใช้จ่ายสุขภาพอนาคต

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ที่อยู่ระหว่างการประชาพิจารณ์ขณะนี้ว่า แม้ว่ารัฐบาลรวมถึงผู้แก้ไขกฎหมายจะชี้แจงยืนยันว่า การแก้ไขไม่ได้มีการตัดสิทธิการรักษาของประชาชน และไม่ได้ทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกลายเป็นระบบดูแลเฉพาะผู้อนาถาแต่อย่างใด แต่เมื่อดูสถานการณ์ที่รัฐบาลพยายามจัดระบบสังคมโดยแจ้งประชาชนว่าขณะนี้ประเทศมีทรัพยากรจำกัด การจัดสวัสดิการจึงต้องเน้นกลุ่มคนที่ลำบากและยากจนก่อน พร้อมเปิดให้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย โดยมีผู้ลงทะเบียนราว 14 ล้านคนที่เป็นการตีตรา จึงทำให้ประชาชนเกิดความกังวลและหวาดระแวงว่า การจำกัดสวัสดิการสังคมนี้จะรวมถึงด้านการรักษาพยาบาลที่อยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายด้วยหรือไม่

ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า จากสถานการณ์ข้างต้นนี้ ประกอบกับที่ผ่านมาในการปรับแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยคณะกรรมการระดับชาติ ในกระบวนการแก้ไขกฎหมาย ยังไม่เปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงตั้งแต่แรกเริ่ม ทั้งที่เป็นโอกาสในการชี้แจงทำความเข้าใจถึงเหตุผลและความจำเป็นการแก้ไขในประเด็นต่างๆ ที่นำมาสู่การถกเถียงหารือจนเป็นที่ยอมรับ ขณะเดียวการประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายยังดำเนินการเร่งรัด จำกัดเวลาในเดือนเดียว มีการจัดเวทีประชาพิจารณ์เพียงภาคละ 1 ครั้ง การเปิดรับฟังความเห็นทางออนไลน์ที่คนหาเช้ากินค่ำและคนไม่ใช้ไอทีเข้าไม่ถึง จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นกระบวนการที่จำกัดการแสดงความเห็น ทั้งที่เป็นกฎหมายสำคัญกระทบคน 48 ล้านคน เพื่อให้การแก้ไขเป็นไปในประเด็นที่ได้มีการตั้งธงไว้ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบ

“สถานการณ์ความคลุมเครือที่เกิดขึ้น จำเป็นที่รัฐบาลต้องออกมาชี้แจงให้ชัดเจนว่า ในด้านสวัสดิการด้านรักษาพยาบาลรัฐบาลจะดูแลอย่างไร จะครอบคลุมทุกคนในแผ่นดินไทยอย่างถ้วนทั่วและเท่าเทียมกันหรือไม่ หรือด้วยงบประมาณประเทศที่จำกัดจึงขอจำกัดสิทธิเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อยก่อนเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนกับประชาชนในการเตรียมพร้อมวานแผนรับต่อสถานการณ์สุขภาพในอนาคต โดยไม่ปล่อยให้คิดไปต่างๆ จนเกิดความขัดแย้งขึ้นในขณะนี้” ผศ.นพ.ธีระ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามในการจำกัดการเข้าถึงสวัสดิการเฉพาะผู้มีรายได้น้อย มีประเด็นฝากไปยังรัฐบาลว่า ด้วยระบบเศรษฐกิจปัจจุบันที่ผูกติดอยู่กับตลาดทุน อาจทำให้คนรวยจนได้ในวันเดียว ในกรณีที่เกิดเจ็บป่วยกระทันหันและไม่ได้อยู่ในทะเบียนผู้มีรายได้น้อยอาจทำให้เกิดการเข้าไม่ถึงการรักษาได้ ดังนั้นส่วนตัวจึงมองว่าการตีตราขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้น้อย จึงเป็นตัวชี้วัดการเข้าถึงสวัสดิการที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในด้านการรักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและชีวิต

ผศ.นพ.ธีระ กล่าวต่อว่า ในการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เกิดความไม่ลงรอยกันขณะนี้ ในฐานะคนทำงานด้านสุขภาพ ทั้งศึกษาวิจัยและดูแลคนไข้ คิดว่าเข้าใจทั้งกลุ่มคนที่ตั้งต้นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและกลุ่มที่คิดว่าระบบต้องปรับใหญ่ ซึ่งทุกคนต่างมีเจตนาที่ดี เพียงแต่ด้วยจุดเริ่มต้นที่ต่างกัน รวมทั้งระบบสุขภาพเองที่มีความซับซ้อนจึงเกิดความขัดแย้งขึ้น ดังนั้นวันนี้ต่างฝ่ายจึงควรเปิดรับข้อมูลโดยหันหน้าเข้าหากันเพื่อหาจุดร่วมการแก้ไขกฎหมายที่ยอมรับได้ทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งนี้เพื่อสมานฉันท์และพัฒนาระบบให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศสูงสุด

“ทางออกการแก้ไขกฎหมายขณะนี้ เห็นว่าประเด็นที่มีความขัดแย้งมากและยังหาข้อสรุปร่วมกันไม่ได้ ควรให้ชะลอการแก้ไขออกไปก่อนเพื่อหาทางออกที่ยอมรับร่วมกัน ส่วนประเด็นไหนที่เป็นการปลดล็อกการดำเนินงานที่เป็นปัญหาอุปสรรคให้รีบแก้ไขก่อน เช่น ประเด็นที่ต้องใช้มาตรา 44 ปลดล็อก ทั้งนี้เพื่อให้การแก้ไขกฎหมายเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ซึ่งต่างต้องช่วยกันเพราะไม่มีใครดีที่สุด”

ต่อข้อซักถามว่า ในกรณีที่ยังคงเดินหน้าการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใน 14 ประเด็นต่อไป จะเกิดผลกระทบอย่างไร ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า การปักธงและแก้ไขกฎหมายแบบนี้จะทำให้เกิดปัญหาระยะยาวตามมาได้ แม้ว่าคนแก้ไขกฎหมายและผู้ผลักดันจะมีเจตนาที่ดีก็ตาม อีกทั้งความเข้าใจต่อนโยบายสาธารณะก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน เพราะเป็นสัญญาประชาคมที่รัฐได้ให้สัญญาไว้กับประชาชน และเมื่อประชาชนยังไม่เข้าใจ ทำไม่จึงไม่ทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกันก่อน